"ชลน่าน" เผยรับฟังร่าง กม.กัญชาเสร้จแล้ว เตรียมวิเคราะห์ข้อเสนอแนะก่อนปรับร่างใหม่ ชงเข้า ครม.ได้ใน ก.พ.นี้ ลุ้น 2 ปี ปิดสุญญากาศไร้ กม.ควบคุม กรมแพทย์แผนไทย ยันร่างปรับได้ตลอด แม้เข้าครม.แล้ว แนะยื่นเรื่องผ่าน ส.ส.
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงความคืบหน้าการยกร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. ... ว่า ขณะนี้การรับฟังความเห็นต่อร่าง พ.ร.บ.กัญชง กัญชา พ.ศ. ... เสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างประมวลผลข้อเสนอแนะต่างๆ เพื่อปรับปรุงร่างกฎหมาย ซึ่งยังพร้อมรับฟังทุกฝ่าย คาดว่า จะสามารถส่งร่างปรับปรุงเข้าสู่การพิจารณาในที่ประชุม ครม.ได้ภายใน ก.พ.นี้ หากเห็นชอบก็จะเข้าสู่การพิจารณาของสภา และเข้าสู่การตรวจสอบของคณะกรรมการกฤษฎีกาต่อไป ซึ่งเป็นไปตามขั้นตอนการยกร่างกฎหมาย
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า นับตั้งแต่มีประกาศปลดล็อกกัญชาไม่จัดเป็นยาเสพติดประเภท 5 แล้ว ตั้งแต่ปี 2565 ยกเว้นสารสกัด THC เกิน 0.2% ที่ยังคงจัดเป็นยาเสพติดอยู่ โดยหลังจากนั้นให้ สธ.ออกกฎหมายระดับ พ.ร.บ.ขึ้นมาดูแล แต่จนถึงปัจจุบันเป็นเวลาเกือบ 2 ปี ก็ยังไม่มี พ.ร.บ.กัญชง กัญชา ออกมาบังคับใช้ โดยก่อนหน้านี้สมัยนายอนุทิน ชาญวีรกูล เป็น รมว.สธ.เคยมีการผลักดันร่างกฎหมายเข้าสู่สภาไปแล้ว แต่ไม่ผ่าน จึงต้องจับตาว่าร่าง พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบันนี้จะผ่านการพิจารณาและออกมาบังคับใช้ได้หรือไม่
ด้าน นพ.เทวัญ ธานีรัตน์ รองอธิบดีกรมการแพทย์แผนไทยและการแพทย์ทางเลือก กล่าวว่า ตั้งแต่วันที่ 9 – 23 ม.ค.2567 สธ.ได้เปิดรับฟังความเห็นต่อร่างพ.ร.บ.กัญชาฯ ผ่านระบบออนไลน์ ขณะนี้อยู่ระหว่างนำข้อมูลความเห็นมาจำแนกและวิเคราะห์ถึงข้อเสนอแนะต่างๆ ยืนยันว่า รับฟังทุกความเห็นแน่นอน ส่วนข้อกังวลว่า หากปิดรับฟังความเห็นแล้ว สธ.จะเสนอร่างเข้าสู่ ครม.โดยไม่เปิดร่างให้ประชาชนดูก่อนนั้น ขอชี้แจงว่า การเสนอร่าง พ.ร.บ.ใดๆ เมื่อเปิดรับฟังความเห็นแล้ว ก็จะมีคณะกรรมการที่จะมาปรับปรุงร่าง จากนั้นจะเสนอเข้าสู่ ครม. ซึ่งตอนนั้นประชาชนสามารถดูเนื้อหาในร่างพ.ร.บ. ได้ หากต้องการจะเสนอแนะส่วนใด ก็สามารถใช้อำนาจตามกฎหมายโดยผ่านสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) ที่อยู่ใน ครม. เป็นกระบอกเสียงแทน ฉะนั้น จะต้องไปหารือกับ ส.ส. ที่ได้เลือกมา เสนอแนะสิ่งต่างๆ เพื่อให้ ส.ส. นำความเห็นนั้นไปใช้ในการพิจารณารับหลักการของร่างพ.ร.บ.
“ร่าง พ.ร.บ. มีการปรับเปลี่ยนได้ตลอด แม้กระทั่งเข้าสู่ที่ประชุม ครม. แล้ว หากมี ส.ส. ท่านใดเห็นว่าไม่เหมาะสม ก็ต้องมีการอภิปรายรายละเอียด และหาทางปรับแก้เนื้อหา จนกว่าจะมีการเห็นชอบให้ร่างพ.ร.บ.นั้นผ่าน ครม. นำไปสู่การพิจารณาของรัฐสภาต่อไป ดังนั้น ไม่ต้องกังวลว่า เมื่อปิดรับฟังความเห็นจากภาคประชาชนแล้ว จะไม่สามารถปรับเปลี่ยนเนื้อหาอะไรได้อีก เพราะยังมีด่าน ส.ส. ที่คอยเป็นกระบอกเสียงให้พวกท่าน” นพ.เทวัญกล่าว