"ชลน่าน" นำทีม สธ. แถลงรับมือฝุ่น PM 2.5 หลังแนวโน้มสูงขึ้น พบปี 66 ไทยจมฝุ่น 58 จังหวัด กระทบ 56 ล้านคน แจงดูแลแค่ปลายทาง เน้นแจ้งเตือน ป้องกัน รักษา ลดอาการกำเริบ ตั้ง Clean Room แล้ว 30 จังหวัด 2 พันห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยง 3.3 หมื่นคน ตั้งคลินิกมลพิษ-ออนไลน์ช่วยรักษา หนุนท้องถิ่นออกกฎคุมต้นกำเนิดฝุ่น ใช้ พ.ร.บ.สาธารณสุขเอาผิด แจงปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่น ช่วยดูแลกลุ่มเสี่ยงได้มากขึ้น ส่วน WHO ขอให้ปรับลงอีกยังต้องหารือ
เมื่อวันที่ 25 ม.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) พร้อมด้วย นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัด สธ. พญ.อัจฉรา นิธิอภิญญาสกุล อธิบดีกรมอนามัย นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค และ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ แถลงข่าวนโยบายและการดำเนินงานแก้ไขปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 ด้านการแพทย์และสาธารณสุข ปี 2567
นพ.ชลน่านกล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ส่งผลต่อสุขภาพ ทั้งระยะสั้นและระยะยาว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว เช่น หอบหืด ภูมิแพ้ หัวใจและหลอดเลือด จะมีอาการที่เกี่ยวข้องกับการรับสัมผัสเร็วกว่าประชาชนทั่วไป อาจมีอาการกำเริบได้ โดยปี 2566 พื้นที่ในไทยที่มีค่าฝุ่นเกินมาตรฐาน 37.5 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) ถึง 58 จังหวัด ประชากรในพื้นที่สัมผัสฝุ่นมากกว่า 56 ล้านคน นายกฯ ให้ความสำคัญกับการแก้ไขปัญหาและดูแลสุขภาพประชาชนจากฝุ่น PM2.5 อย่างมาก ได้สั่งการให้ทุกภาคส่วนทำงานร่วมกัน ซึ่ง สธ.เป็นปลายทาง เราให้ความสำคัญทั้งการป้องกัน ส่งเสริม รักษาพยาบาล และมีการสื่อสารให้คำแนะนำ จัดทำห้องปลอดฝุ่น (Clean Room) มีเป้าหมายทุกอำเภอให้บริการประชาชน และการรักษาพยาบาลมีคลินิกมลพิษกระจายทั่วประเทศ ให้คำแนะนำและรักษาพยาบาลผู้ป่วย และมีการจัดหน่วยแพทย์เคลื่อนที่ให้การดูแลเชิงรุก มีระบบ telemedicine หรือ สายด่วนให้คำปรึกษาแนะนำ รวมทั้งเปิดศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉินด้านการแพทย์และสาธารณสุข เมื่อปริมาณฝุ่นเกินค่ามาตรฐาน โดยปี 2567 สธ.สั่งการทุกหน่วยงานเตรียมพร้อมคลีนรูม บุคลากร อุปกรณ์ป้องกันฝุ่น ยาและเวชภัณฑ์ เพื่อช่วยเหลือประชาชน
นพ.โอภาสกล่าวว่า สธ.ตั้งศูนย์ปฏิบัติการฉุกเฉิน (EOC) มาตั้งแต่ปลายปี 2566 หลังคาดว่าสถานการณ์ฝุ่นจะเพิ่มขึ้น พร้อมสั่งให้ รพ.ในสังกัดสำนักงานปลัด สธ.จัดตั้งห้องปลอดฝุ่น รองรับกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยใน รพ. เพื่อลดโอกาสสัมผัสฝุ่น PM 2.5 ขณะนี้จัดตั้งแล้วใน รพ.ของเขตสุขภาพที่ 1, 2, 3, 8 และปริมณฑล ซึ่งเป็นพื้นที่เสี่ยงสูงรวม 30 จังหวัด คือ เชียงใหม่ เชียงราย ลำพูน ลำปาง แพร่ น่าน พะเยา แม่ฮ่องสอน พิษณุโลก อุตรดิตถ์ ตาก สุโขทัย เพชรบูรณ์ ชัยนาท กำแพงเพชร พิจิตร นครสวรรค์ อุทัยธานี บึงกาฬ เลย หนองคาย หนองบัวลำภู อุดรธานี นครพนม สกลนคร นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ สมุทรสาคร และนครปฐม รวม 2,053 ห้อง รองรับกลุ่มเสี่ยง 33,000 คน ประกอบด้วย รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไป 42 แห่ง 661 ห้อง รพ.ชุมชน 283 แห่ง 1,392 ห้อง อยู่ระหว่างดำเนินการอีก 2 แห่งจะแล้วเสร็จใน ม.ค.นี้ นอกจากนี้ ยังมีห้องปลอดฝุ่นของ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ กรมอนามัย และกรมสุขภาพจิต 509 ห้อง รองรับ 12,000 คน
พญ.อัจฉรากล่าวว่า สถานการณ์ฝุ่น PM2.5 มีแนวโน้มสูงกว่าปีที่ผ่านมาแทบทุกพื้นที่ และอาจจะรุนแรงกว่า จากปรากฎการณ์เอลนิญโญที่ทำให้ฝนน้อยลง ความแห้งแล้งเพิ่มขึ้น ทำให้ไฟป่าเพิ่มขึ้น จากการเฝ้าระวัง ก.ย. 2566 - ปัจจุบัน พบค่า PM2.5 เกินมาตรฐานหรือสีส้มถึง 44 จังหวัด และระดับสีแดงมีผลกระทบต่อสุขภาพ 10 จังหวัด ได้แก่ สมุทรสาคร หนองคาย อ่างทอง สุโขทัย พิษณุโลก กาญจนบุรี ชัยนาท สมุทรปราการ กรุงเทพมหานคร และสมุทรสงคราม ซึ่งเป็นจังหวัดที่พบค่า PM2.5 สูงสุด โดย กทม.และปริมณฑลค่าฝุ่นเกินมาตรฐานติดต่อกันมาเดือนกว่าแล้ว สำหรับมาตรการด้านการแพทย์และสาธารณสุขรองรับมี 4 มาตรการ ได้แก่ 1.ส่งเสริมการลดมลพิษ/สื่อสารสร้างความรอบรู้ โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยงและผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง 2.ลดและป้องกันผลกระทบต่อสุขภาพ โดยมีการเฝ้าระวังแจ้งเตือนความเสี่ยง เฝ้าระวังสุขภาพผ่าน 4Health พบ 59% มีอาการเกี่ยวกับการสัมผัสฝุ่น PM2.5 มากสุดคืออาการทางเดินหายใจ 39.4% เช่น คัดจมูก น้ำมูก ไอ ตามด้วยระบบตา 23.6% เช่น แสบตา คันตา เป็นต้น , หูคอจมูก 20.5% เช่น แสบจมูก แสบคอ เป็นต้น , ผิวหนัง 9.8% และระบบหัวใจหลอดเลือด 6.7% เช่น หัวใจเต้นเร็ว
3.จัดบริการด้านการแพทย์และสาธารณสุข นอกจากห้องปลอดฝุ่น คลินิกมลพิษ ยังมีการสนับสนุนอุปกรณ์ป้องกันส่วนบุคคลแก่กลุ่มเสี่ยง สำรองหน้ากากอนามัย 50 ล้านชิ้น และหน้ากาก N95 2.1 ล้านชิ้น และ 4.เพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการในระบบบัญชาการเหตุการณ์ และส่งเสริมและขับเคลื่อนการบังคับใช้กฎหมาย สนับสนุนองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นใช้ พ.ร.บ.การสาธารณสุข เป็นเครื่องมือลดฝุ่นจากแหล่งกำเนิดในพื้นที่ และจัดการเหตุรำคาญจากฝุ่น แต่สำคัญคือ เทศบาล องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น จะต้องมีการออกข้อบัญญัติท้องถิ่นที่เขียนเรื่องนี้ไว้ หากไม่มีในเทศบัญญัติก็ไม่สามารถคุ้มครองประชาชนได้ เช่น เรื่องการเผา จุดไฟ การก่อมลพิษก่อเหตุรำคาญ เป็นต้น จะใช้กฎหมายฉบับนี้ได้ ต้องออกข้อบัญญัติรองรับก่อน
นพ.ธงชัยกล่าวว่า จากฐานข้อมูล Health Data Center พบ 5 กลุ่มโรคสำคัญที่ต้องเฝ้าระวังจากฝุ่น แบ่งเป็น กลุ่มที่มีโรคประจำตัว อาการอาจกำเริบ คือ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง 279,474 ราย โรคหืดเฉียบพลัน 20,052 ราย และโรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 5,265 ราย ส่วนกลุ่มประชาชนทั่วไปที่สัมผัสฝุ่น คือ โรคตาอักเสบ และโรคผิวหนังอักเสบ มาตรการสื่อสารคือ “หลีก ปิด ใช้ เลี่ยง ลด” คือ 1.หลีกเลี่ยงการสัมผัสฝุ่น โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบางให้เช็กค่าฝุ่น กรณีค่าฝุ่นสูงให้งดออกจากบ้าน 2.ปิดประตู ปิดหน้าต่าง ทำความสะอาดบ้าน 3.ใช้หน้ากากป้องกันฝุ่นที่เหมาะสม หากต้องไปที่ค่าฝุ่นสูงควรใช้หน้ากาก N95 4.เลี่ยงการออกกำลังกายหรือทำงานกลางแจ้งเป็นเวลานาน และ 5.ลดการก่อฝุ่น PM2.5 อาทิ ลดการใช้รถยนต์ส่วนบุคคล หมั่นเช็กสภาพรถยนต์ ใช้บริการรถสาธารณะ ไม่เผาป่า หรือเผาขยะในครัวเรือน ลดการจุดธูป เทียน
ด้าน พญ.อัมพรกล่าวว่า กรมการแพทย์เปิดคลินิกมลพิษแห่งแรก ที่ รพ.นพรัตนราชธานี เป็นคลินิกเฉพาะทางดูแลผู้ได้รับผลกระทบจากปัญหามลพิษสิ่งแวดล้อม เฝ้าระวังผู้ป่วยที่สัมผัสฝุ่น ให้คำแนะนำป้องกันการเกิดอาการซ้ำ ดูแลรักษาทั้งระบบออนไซต์และ Telemedicine สร้างเครือข่ายคลินิกมลพิษแล้ว 90 แห่งทั่วประเทศ พัฒนาคลินิกมลพิษออนไลน์ผ่าน Line ที่จะแจ้งเตือนค่าฝุ่น ให้ข้อมูลความรู้การป้องกัน ประเมินผลกระทบสุขภาพ แนะนำการดูแลบรรเทาอาการเบื้องต้น หากมีอาการรุนแรงสามารถลงทะเบียนพบแพทย์ออนไลน์ ผลการดำเนินงานช่วงปี 2565-2566 มีผู้ได้รับการประเมินว่าเจ็บป่วยจากการสัมผัส PM2.5 จำนวน 1,764 ราย ส่วนใหญ่มีอาการระบบทางเดินหายใจ ระบบตาและระบบผิวหนัง ไม่พบผู้ป่วยมีอาการรุนแรงจนต้องนอนโรงพยาบาล แต่ข้อสังเกต คือ อาการไม่ได้มาเดี่ยวๆ แต่มีอาการร่วมกันหลายระบบ หลายคนบอกแสบตา คันตา หายใจลำบากขึ้น และมีอาการทางผิวหนัง
ถามว่าการปรับค่ามาตรฐานฝุ่น PM 2.5 เหลือ 37.5 มคก./ลบ.ม. ทำให้พบผู้ป่วยมากขึ้นหรือไม่ และองค์การอนามัยโลก (WHO) เสนอให้ปรับลดค่ามาตรฐานฝุ่นลงอีก จะมีการปรับเพิ่มเติมอีกหรือไม่ พญ.อัจฉรากล่าวว่า การที่ปรับลดค่าฝุ่นลง ทำให้เราสามารถตรวจพบหรือเฝ้าระวังกลุ่มเสี่ยงและผู้ป่วยเรื้อรังที่อาจอาการกำเริบได้มากขึ้น ก็ทำให้กลุ่มนี้เข้ามารับบริการเพิ่มและได้รับการดูแลมากขึ้น ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี ส่วนการปรับลดค่าฝุ่นลงอีกนั้น จะต้องมีการหารือต่อไปทั้งกรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย และหน่วยงานต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง