xs
xsm
sm
md
lg

เปิดตัวมาสคอต "น้องภูมิใจ" แมง 4 หู 5 ตา งาน World Expo 2025 Osaka Kansai

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เปิดตัวมาสคอต "น้องภูมิใจ" ใช้คอนเซ็ปต์แมง 4 หู 5 ตา เป็นตัวแทนประเทศไทยประจำอาคารนิทรรศการไทย ในงาน World Expo 2025 Osaka Kansai สบส.มอบรางวัลหลังผ่านประกวดชนะเลิศ ร่วมกับชุดแต่งกายเจ้าหน้าที่ประจำนิทรรศการ พร้อมส่องอัตลักษณ์อาคาร "ภูมิพิมาน" Thai Pavilion



เมื่อวันที่ 24 ม.ค. นพ.สุระ วิเศษศักดิ์ อธิบดีกรมสนับสนุนบริการสุขภาพ (สบส.) เป็นประธานพิธีมอบรางวัลประกวดออกแบบมาสคอตและเครื่องแต่งกายเจ้าหน้าที่ประจำอาคารนิทรรศการไทย "Thailand Pavilion Expo 2025 Mascot and Costume Design Contest" โดยกล่าวภายหลังมอบรางวัลว่า สบส.ได้รับมอบหมายให้เป็นหน่วยงานหลักในการดำเนินงานอาคารนิทรรศการไทยในงาน World Expo 2025 Osaka Kansai ประเทศญี่ปุ่น วันที่ 13 เม.ย. - 13 ต.ค. 2568 ซึ่งคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมงานจาประเทศสมาชิกและองค์กรระหว่างประเทศประมาณ 28.2 ล้านคน ถือเป็นโอกาสที่ไทยจะได้แสดงศักยภาพด้านการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและ Soft Power รวมถึงความพร้อมในการเป็นหมุดหมายด้านสุขภาพโลก ที่จะสร้างรายได้เข้าสู่ประเทศไทย ดังนั้น เพื่อให้เกิดอัตลักษณ์ การรับรู้ จดจำถึงภาพลักษณ์ที่ดีของไทยในการร่วมงาน ออกไปสู่สายตาชาวโลก สบส.จึงจัดประกวดออกแบบมาสคอตและเครื่องแต่งกายเจ้าหน้าที่ประจำอาคารนิทรรศการไทย ชิงเงินรางวัลรวม 1 แสนบาท มีผลงานเข้าร่วมกว่า 200 ผลงาน ประกาศตัดสินเมื่อวันที่ 12 ม.ค. 2567


ทั้งนี้ ผู้ชนะเลิศการประกวดออกแบบสัญลักษณ์นำโชคหรือมาสคอต ได้แก่ นายพิริยะ กาญจนคงคา รองคณบดีคณะสารสนเทศและการสื่อสาร ม.แม่โจ้ จากผลงาน "น้องภูมิใจ" ซึ่งมีการออกแบบที่ดูทันสมัยแต่ยังแฝงคติความเชื่อและเอกลักษณ์แบบไทย และผู้ชนะเลิศการประกวดออกแบบเครื่องแต่งกายเจ้าหน้าที่ ได้แก่ น.ส.นิธิกานต์ จึงถาวรอนันต์ จากผลงานเอกลักษณ์สยาม ใช้เอกลักษณ์ของชุดไทยมาสร้างภาพลักษณ์ ความงดงาม แสดงอัตลักษณ์ไทยสู่สายตาชาวโลก ในการรับแขกบ้านแขกเมือง โดยทั้ง 2 รางวัลจะได้เงินรางวัลละ 5 หมื่นบาท เชื่อว่าผลงานนี้จะสามารถสร้างความประทับใจ สร้างการรับรู้ถึงเรื่องของภูมิวิถี ภูมิปัญญหาไทย และสร้างภาพลักษณ์ที่สง่าและงดงามให้กับประเทศ



เปิดคอนเซ็ปต์มาสคอต แมงสี่หูห้าตา

นายพิริยะกล่าวว่า คอนเซ็ปต์ในการออกแบบมาสคอต "น้องภูมิใจ" ใช้แนวคิดแมงสี่หูห้าตา ตำนานความเชื่อโบราณของภาคเหนือ แฝงคติเรื่อง "พรหมวิหาร 4" และเชื่อมโยงกับงานด้านสาธารณสุข คือ เมตตา ความรักใคร่ ปรารถนาดีอยากให้เขามีความสุข , กรุณา ใฝ่ใจปลดเปลื้องบำบัดความทุกข์ การปกป้องชีวิตของผู้คน , มุทิตา ความยินดร เมื่อผู้อื่นอยู่ดีมีสุข สุขภาพดี การพัฒนาคุณภาพชีวิต และอุเบกขา มีจิตเที่ยงธรรม มาตรฐานด้านสาธารณสุข รวมถึงตามแนวคิด "ภูมิ" ประเทศแห่งการกินดี อยู่ดี มีภูมิคุ้มกัน มาสคอตมีรอยยิ้มสยามตามแนวคิดรอยยิ้มแห่งความประทับใจ นอกจากนี้ มาสคอตยังพ้องกับมาสคอตโอซาก้า World Expo 2025 ที่มี 5 ตาพอดีเช่นกัน ที่ชื่อ MYAKU - MYAKU จึงออกแบบให้มี 5 ตาเช่นกัน โดยในแววตาของมาสคอตน้องภูมิใจ จะสอดแทรกความเป็นไทยด้วยการใส่ลายประจำยาม


สำหรับสีของมาสคอต ตัวจะเป็นสีขาวงาช้าง ใช้สีน้ำเงิน เขียว และส้ม ซึ่งเป็นสีประจำงาน โดยมีแพทเทิร์นต่างๆ จะล้อมากับแพทเทิร์นของ "เฉวง" อัตลักษณ์ในงาน Thai Pavilion หรือศาลาไทย ซึ่งจะประดับอยู่บนหัวมาสคอต รวมถึงลายจักสานมาเป็นลายแพทเทิร์นบริเวณขาของมาสคอต นอกจกานี้ เรายังออกแบบให้น่ารักคล้ายกับเด็กไทยที่จะมีแกละหรือจุก ซึ่งเราไม่ได้ออกแบบให้ออกมาไทยจ๋า ซึง่จะไม่ตอบโจทย์ในปัจจุบัน แต่ออกแบบให้เรียบง่าย สามารถนำไปใช้ทำม็อกอัปตัวตุ๊กตา หรืออาร์ตทอย หรือตัวกาชาปองในอนาคต รวมถึงง่ายในการไปทำชุดมาสคอตสวมใส่

"ส่วนที่ตั้งชื่อว่าน้องภูมิใจ เพราะสอดคล้องกับชื่อศาลาไทย "ภูมิพิมาน" ซึ่งมีทุกภูมิ เรามีคอนเซ็ปต์เรื่องของสุขภาพ อาหาร และวัฒนธรรมต่างๆ รวมทั้งหมดคือความภูมิใจในความเป็นไทย ทำให้มีความเข้ากันกับตัวอาคารนิทรรศการศาลาไทย เชื่อว่าจะมีพลานุภาพในการสื่อสารออกไปเหมือนกับมาสคอตทางญี่ปุ่น ถ้าออกแบบแล้วยังคงเอกลักษณ์ อาจจะตอบโจทย์ระดับสากล" นายพิริยะกล่าว


ชุดเจ้าหน้าที่ประยุกต์จากชุดสมัย ร.5

สำหรับชุดเอกลักษณ์ชาวสยามของ น.ส.นิธิกานต์คอนเซ็ปต์ในการออกแบบจะเป็นชุดสมัยรัชกาลที่ 5 นำความเป็นไทยผสมผสานกับความเจริญก้าวหน้าของโลกเป็นครั้งแรกๆ ชุดของผู้ชายออกแบบเสื้อโดยประยุกต์มาจากชุดราชปะแตน ทำจากผ้าโทเร TC สีขาวนวลเพื่อให้ระบายอากาศได้ดี ผ้าคาดเอวจะมี 2 สี คือ เขียวและน้ำเงิน ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์และอนาคต จะมีลายเฉลวแบบตัดทอนเป็นลายประดับ ทำจากเนื้อผ้าฝ้าย ส่วนท่อนล่างออกแบบให้เป้นกางเกงผ้าฝ้ายทรงโจงกระเบน เพื่อให้ความเป็นเอกลักษณ์ แต่ทะมัดทะแมงในการทำกิจกรรมต่างๆ พร้อมสวมถุงเท้าขาวยาว กับรองเท้าหุ้มข้อ


ส่วนชุดผู้หญิงมาจากชุดสมัยรัชกาลที่ 5 เช่นกัน จะเป็นเสื้อคอสูงแขนพอง ทำจากผ้าโทเร TC แต่เสื้อจะเย็บติดกับผ้าฝ้ายสีเขียวลายเฉลวคล้ายสไบ ส่วนผ้าคาดเอวทำมาจากผ้าฝ้าย แต่จะปล่อยชายให้เอียงไปทางด้านขวามือ เพื่อให้ดูต่อจากสไบบนเสื้อ และกระโปรงมีลักษณะคล้ายผ้าถุง ด้วยทรงและลวดลายด้านข้างที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาคารนิทรรศการ Pavilion ส่วนถุงเท้าสามารถใส่ได้ทั้งถุงเท้าขาวยาวหรือถุงน่องยาวก็ได้ พร้อมรองเท้าหุ้มข้อสีเข้ม



ส่องแนวคิด "วิมานไทย" แสดงนิทรรศการโลก

ด้าน นพ.สามารถ ถิระศักดิ์ รองอธิบดี สบส. กล่าวว่า World Expo เป็นงานแสดงนิทรรศการระดับโลก จัดขึ้นทุก 5 ปี ภายใต้การกำกับดูแลขององค์การระหว่างประเทศว่าด้วยงานมหกรรมโลก (BIE) สำหรับ World Expo 2025 Osaka Kansai กำหนดแนวคิดการนำเสนอ "Designing Future Society For Our Live" เพื่อเป้าหมายชีวิตที่มีความสุขและสุขภาพดี สบส.จึงร่วมออกแบบและจัดสร้างอาคารนิทรรศการไทย ภายใต้แนวคิด "วิมานไทย" (VIMANA THAI) มีดีที่ "ภูมิ" สื่อถึงประเทศแห่งการกินดี อยู่ดี มีภูมิคุ้มกัน แสดงเรื่องราวเกี่ยวกับประเทศไทย เน้นความเป็นไทยร่วมสมัย เชื่อมต่อคนทั้งโลกให้เข้าถึงภูมิแบบไทยตั้งแต่ ภูมิจากธรรมชาติ ภูมิจากวิถี วัฒนธรรม นวัตกรรม จนถึงภูมิคุ้มกันจากศักยภาพและความพร้อมด้านสาธารณสุข รวมทั้งแบ่งปันวิธีการรับมือวิกฤตสุขภาพ และโรคระบาดที่ผ่านมาของประเทศไทย


องค์ประกอบอัตลักษณ์อาคารนิทรรศการไทย สะท้อน 2 อัตลักษณ์สำคัญประจำภูมิพิมาน ได้แก่ "ช้าง" ตัวแทนความอุดมสมบูรณ์ อายุยืนยาว ตั้งอยู่หน้าอาคารเป็นสัญลักษณ์แห่งการต้อนรับนักท่องเที่ยวด้วยมิตรไมตรีจิต และ "ไม้" ตัวแทนแห่งการประยุกต์ใช้ทรัพยากรในประเทศด้วยภูมิปัญญา สะท้อนผ่านศาลาไทยและประติมากรรมเฉลว ตัวแทนด้านการดูแลใส่ใจสุขภาพ สำหรับภูมิสัญลักษณ์เฉลว คือภูมิอัตลักษณ์แห่งสุขภาวะ สัญลักษณ์ที่แสดงถึงการดูแลเอาใจใส่ในชีวิตและสุขภาพ จากเฉลวปักหม้อสู่การเป็นเฉลวปักหมุด สร้างภูมิสัญลักษณ์ประเทศไทยเป็น 1 หมุดหมายด้านสุขภาพโลก


จัดแสดงนิทรรศการเชื่อมโยงแนวคิด SMILE

ขณะที่การจัดแสดงนิทรรศการของไทย เชื่อมโยงเข้ากับแนวคิด SMILE ในการเล่าเรื่อง แบ่งโซนจัดแสดง 3 ส่วน ประกอบด้วย 1.ภูมิวิถี เปิดอรรถรสแห่งการเดินเข้าสู่ภูมิพิมาน ดินแดนที่รุ่มรวยไปด้วยทรัพยากรธรรมชาติและวัฒนธรรม ซึ่งเชื่อมโยงกับแนวคิด SMILE ในหัวข้อ S (SMILE) และ E (ENCHANTING THAILAND) 2.ภูมิคุ้มกัน ไฮไลท์สำคัญในการจัดแสดง ถ่ายทอดเรื่องราวจากภูมิวิถีแบบไทย พัฒนาสู่นวัตกรรมทางการแพทย์และสาธารณสุขที่ทำให้ไทยกลายเป็นหมุดหมายใหม่ด้านการแพทย์และสุขภาพโลก เชื่อมโยงกับหัวข้อ M (MEDICAL AND WELLNESS HUB WORLD DESTINATION) และ I (INSPIRATION TOWARDS WELLNESS COMMUNITY) และ 3.ภูมิสยาม เข้าถึงภูมิสยาม ผ่านห้องทดลองวิถีไทย เชื่อมโยงกับหัวข้อ L (LIVING LAB) อีกทั้งยังสร้างการรับรู้และความน่าจดจำผ่านตัวเลข 1-1,000,000 พร้อมปักหมุดประเทศไทยสู่หมุดหมายด้านสุขภาพของโลก ได้แก่

1 หมุดหมายสุขภาพโลก 10 มนต์เสน่ห์ของประเทศไทย 100 ศักยภาพสาธารณสุขไทย 1,000 สถานบริการทางการแพทย์ 10,000 เมนูอาหารเพื่อสุขภาพ 100,000 ผลิตภัณฑ์สร้างภูมิคุ้มกัน และ 1,000,000 รอยยิ้มแห่งความประทับใจ






กำลังโหลดความคิดเห็น