xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิต-กทม. คิกออฟจัดระบบดูแลสุขภาพจิต "เด็ก-วัยรุ่น" ทั้งคัดกรอง รักษา ส่งต่อ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิต จับมือ กทม. คิกออฟจัดระบบดูแลสุขภาพจิตและจิตเวช "เด็ก-วัยรุ่น" หลังพบเด็กไทยมีพัฒนาการล่าช้า 2.5 พันคน หวังคัดกรอง รักษา ส่งต่อ ตั้งเป้าขยายผลให้ครอบคลุม กทม. ลดปัญหาความรุนแรงจิตเวชเด็กและวัยรุ่น

เมื่อวันที่ 23 ม.ค. นพ.จุมภฏ พรมสีดา รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดงานคิกออฟ จัดระบบบริการสุขภาพจิตเพื่อตรวจคัดกรองภาวะสุขภาพจิตเด็ก ระหว่างกรมสุขภาพจิตและกรุงเทพมหานคร (กทม.) ว่า จากข้อมูล HDC กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) วันที่ 29 ก.ย. 2566 ถึงรายงานสถานการณ์เด็กปฐมวัยทุกช่วงอายุที่ได้รับการคัดกรองแล้ว พบว่า มีพัฒนาการล่าช้า จำนวน 2,529 คน การจัดบริการสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น พบว่า ผู้ป่วยโรคออทิสติก จำนวน 1,090 คน เข้าถึงบริการ จำนวน 324 คน ร้อยละ 30 ผู้ป่วยสมาธิสั้น จำนวน 30,490 คน เข้าถึงบริการ จำนวน 3,400 คน ร้อยละ 11 และผู้ป่วยภาวะบกพร่องทางสติปัญญา จำนวน 13,639 คน เข้าถึงบริการ จำนวน 1,301 คน ร้อยละ 9 ซึ่งการดำเนินการดังกล่าวยังมีเป้าหมายที่ต้องการขับเคลื่อนให้ครอบคลุมเพิ่มขึ้น ซึ่งความร่วมมือนี้ ก็เพื่อร่วมดำเนินการจัดระบบการดูแลสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น ภายในพื้นที่โรงเรียน ชุมชน และสถานพยาบาลใน กทม. และกระบวนการดำเนินการคัดกรอง รักษา ส่งต่อ และดูแลต่อเนื่อง


"กรมสุขภาพจิต มีนโยบายส่งเสริมป้องกันปัญหาสุขภาพจิตเด็กและเยาวชน ร่วมกับภาคีเครือข่ายทุกภาคส่วน ได้แก่ คัดกรองพัฒนาการ ส่งเสริมกระตุ้นพัฒนาการเด็กปฐมวัยทั้งเชิงรับเชิงรุก คัดกรองเด็กและวัยรุ่นกลุ่มเสี่ยงให้การดูแลช่วยเหลือ คัดกรอง ส่งต่อผ่านนวัตกรรมสุขภาพจิตดิจิทัล พัฒนาระบบเฝ้าระวังโรคและปัญหาด้านสุขภาพจิตและจิตเวชเด็กและวัยรุ่น พัฒนาองค์ความรู้ เทคโนโลยี และถ่ายทอดให้กับเครือข่าย จัดบริการรองรับการส่งต่อที่มีปัญหารุนแรง ยุ่งยากและซับซ้อน พัฒนาระบบส่งต่อกับเครือข่ายในพื้นที่ตามระบบโซนนิ่ง" นพ.จุมภฏกล่าว

นพ.จุมภฏ กล่าวว่า สถาบันราชานุกูลและสถาบันสุขภาพจิตเด็กและวันรุ่นราชนครินทร์ มีเป้าหมายเพื่อค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงอย่างทันท่วงที มีระบบบริการมาตรฐานเฉพาะทางแบบไร้รอยต่อ เพื่อให้การเข้าถึงระบบบริการสาธารณสุขเป็นไปได้ง่ายและทั่วถึง ค้นหาและช่วยเหลือเด็กกลุ่มเสี่ยงด้วยเครื่องมือ DSPM/DAIM, TEDA4I และระบบสุขภาพจิตโรงเรียนวิถีใหม่ School Health Hero ร.ร.สังกัดสพฐ. ระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน ร.ร.สังกัดสำนักการศึกษา กทม. เพื่อป้องกันปัญหาการล้อเลียนรังแกกันในโรงเรียน (Bullying) ด้วยการพัฒนาและยกระดับศักยภาพครู (ครูแคร์ใจ) เพื่อการส่งเสริมสุขภาพจิตเด็กและวัยรุ่น และประสานงานกับร.ร.สังกัด สำนักบริหารงานการศึกษาพิเศษ สพฐ. สถานสงเคราะห์/สถานพัฒนาและฟื้นฟูเด็ก สังกัดกระทรวงพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) ในการดูแลกลุ่มเด็กเปราะบางทางสังคม รวมถึงการช่วยเหลือเยียวยาจิตใจผู้ประสบภาวะวิกฤต ทำงานร่วมกับสำนักอนามัย กรุงเทพมหานคร ตลอดจนบูรณาการชุดข้อมูลทุกหน่วยบริการเข้าด้วยกัน ให้ประชาชนทราบสถานการณ์สุขภาพของคนกทม.อย่างแท้จริง

"หากมีการพัฒนาระบบบริการแบบครบวงจรหรือเชื่อมต่อระหว่างหน่วยงานต่างๆ เด็กและวัยรุ่นใน กทม. จะได้รับการคัดกรองอย่างทันท่วงที และได้รับการดูแลช่วยเหลืออย่างเหมาะสม โดยลดปัญหาความรุนแรงและจำนวนผู้ป่วยจิตเวชเด็กและวัยรุ่น" นพ.จุมภฏกล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น