xs
xsm
sm
md
lg

“ขยะอาหาร” เรื่องเล็ก ๆ ในจานข้าวที่ไม่ควรมองข้าม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



คุณเคยนับหรือเปล่าว่า…ในแต่ละมื้อเราสร้างขยะอาหารกันมากแค่ไหน?


ดูเผิน ๆ ขยะอาหารอาจถูกมองเป็นเรื่องปกติทั่วไป แต่รู้หรือไม่ว่า 1 ใน 3 ของอาหารที่ผลิตได้ทั่วโลก หรือคิดเป็นตัวเลขราว ๆ 1,300 ล้านตันต้องกลายเป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งไปอย่างสูญเปล่า ขณะที่ในประเทศไทยมีปริมาณขยะอาหารเกิดขึ้นกว่า 9.7 ล้านตัน หรือประมาณ 146 กิโลกรัม/คน/ปี

ในขณะเดียวกัน ก็ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมไม่น้อยไปกว่าขยะประเภทอื่น เพราะเมื่อเกิดการหมักหมมก็เป็นตัวเพาะเชื้อโรคอย่างดี หรือแม้แต่การย่อยสลายก็จะกลายเป็นแก๊สมีเทน หนึ่งในตัวการของภาวะโลกร้อน ซึ่งเป็นแก๊สที่ทำให้โลกร้อนสูงกว่าแก๊สคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 25 เท่า

อย่างไรก็ดี การลดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน เป็นหนึ่งในเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ขององค์การสหประชาชาติ (UN) ที่ตั้งเป้าไว้ว่า ร่วมกันลดปริมาณขยะอาหารของโลกลงครึ่งหนึ่งภายในปี 2573

(ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.)
“ขยะอาหารและอาหารส่วนเกินเป็นปัญหาสำคัญ โดยเฉพาะในเมืองใหญ่ มีขยะอาหารและอาหารส่วนเกินถูกทิ้งจากหลายแหล่ง ทั้งบ้านเรือน ตลาด ซูเปอร์มาร์เก็ต โรงแรม ร้านอาหาร ศูนย์อาหาร แล้วถูกส่งไปกำจัดด้วยการนำไปเทกองกลางแจ้ง หรือเผากลางแจ้ง ส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย และสร้างความเดือดร้อนรำคาญแก่ประชาชน เช่น เกิดกลิ่นเหม็น น้ำเสียจากน้ำขยะปนเปื้อนสู่แหล่งน้ำผิวดินและแหล่งน้ำใต้ดิน เป็นแหล่งเพาะพันธุ์เชื้อโรค เกิดมลพิษทางอากาศ”

ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส. กล่าวในการสัมมนา “การจัดการขยะอาหารจากแหล่งกำเนิด” ซึ่งเป็นหนึ่งกิจกรรมสำคัญภายใต้โครงการส่งเสริมการป้องกัน ลด จัดการขยะอาหารจากแหล่งกำเนิด กรณีศูนย์อาหาร โดยความร่วมมือในครั้งนี้ มุ่งเป้าไปที่การป้องกัน ลด กำจัด และใช้ประโยชน์จากขยะอาหารที่มีแนวโน้มสูงขึ้น พร้อมหาทางออกเรื่องอาหารส่วนเกิน ซึ่งจะครอบคุลมไปถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงด้วย

โดยเป็นการรวมพลังกับ สถาบันสิ่งแวดล้อมไทย (TEI) กรมควบคุมมลพิษ กรมการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและสิ่งแวดล้อม กรุงเทพมหานคร กรมส่งเสริมการปกครองท้องถิ่น และกรมอนามัย ซึ่งจะเริ่มนำร่องในศูนย์อาหารของรัฐและเอกชน 14 แห่งทั่วประเทศ

(ดร.ชาติวุฒิ วังวล ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการควบคุมปัจจัยเสี่ยงทางสุขภาพ สสส.)
“วันนี้เป็นการรวมตัวของผู้แทนหน่วยงานรัฐที่เกี่ยวข้องทั้งในการกำหนดนโยบาย จัดทำแผน เพื่อให้เกิดการจัดการด้านขยะอาหาร ผมคิดว่า ทุกหน่วยงานมีส่วนสำคัญที่จะช่วยให้นโยบาย มาตรการ เทศบัญญัติ ระบบชุมชนหรือแม้แต่เอกชนก็สามารถที่จะบริหารการจัดการขยะอาหารได้ สิ่งที่เราทำมีนโยบายประเทศรองรับ เป็นกระบวนการขับเคลื่อนที่ไม่ใช่แค่เราทำ ซึ่งเป็นโอกาสที่ดีทั้งงานปฏิบัติการระดับพื้นที่ รณรงค์การสื่อสารที่จะสร้างความเข้าใจ ซึ่ง สสส. จะเข้ามามีส่วนร่วมในการจัดการเชิงต้นทาง” ดร.ชาติวุฒิ อธิบายต่อ

สำหรับการร่วมมือในครั้งนี้ สสส. ไม่ได้มองเพียงประเด็นเรื่องสุขภาวะเป็นหลัก แต่มองถึงการแก้ปัญหาต้นทาง ซึ่งเป็นหัวใจสำคัญในการบรรลุเป้าหมายในการใช้ชีวิตอย่างมีสุขภาวะที่ดี แต่ทั้งนี้ผู้บริโภคเองก็จะต้องเข้ามามีส่วนร่วม ซึ่งเพื่อการแก้ปัญหาขยะอาหารอย่างยั่งยืน ดร.ชาติวุฒิ ย้ำ 3 คีย์เวิร์ดสำคัญคือต้องพอเหมาะ พอควร และพอดี

“สุดท้ายสิ่งสำคัญคือหากสามารถบริโภคอย่างพอเหมาะ พอควร และพอดี วางแผนการซื้ออาหารต่าง ๆ ให้สามารถเกิดประโยชน์ได้อย่างสูงสุด นอกจากจะไม่มลพิษทางอาหาร ยังช่วยลดภาระกระเป๋า ประหยัดค่าใช้จ่ายได้ด้วย เพราะฉะนั้นเริ่มต้นที่พวกเราตั้งแต่วางแผนการซื้อ การใช้ การกิน เพื่อให้เราสามารถที่จะดูแลโลกนี้ร่วมกันได้”

ไม่เพียงเท่านั้น นอกจากการร่วมมือในวันนี้ ที่ผ่านมา สสส. ยังได้ร่วมงานกับมูลนิธิกระจกเงาและมูลนิธิ SOS เพื่อนำอาหารส่วนเกินที่ยังปลอดภัยและบริโภคได้ ซึ่งมีมากกว่า 30% จาก Modern Trade หรือศูนย์อาหารต่าง ๆ นำไปสู่กลุ่มคนเปราะบางที่ต้องการอาหาร ทั้งนี้ก็พร้อมมองหาความร่วมมือใหม่ ๆ มากขึ้น เพื่อร่วมแก้ปัญหาขยะอาหารอย่างจริงจัง ไปพร้อมกับการลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

(น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ)
ด้าน น.ส.ปรีญาพร สุวรรณเกษ อธิบดีกรมควบคุมมลพิษ กล่าวถึงประเด็นสำคัญของงานไว้ว่า จากปัญหาดังกล่าว เพื่อเป็นกรอบและทิศทางดำเนินการป้องกันและแก้ไขปัญหาการจัดการขยะอาหารของประเทศ กรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนที่นำทางการจัดการขยะอาหาร (พ.ศ. 2566 - 2573) ซึ่งจะมีทั้งการสร้างความรู้ ความเข้าใจ และผลักดันให้เกิดระบบคัดแยกและเก็บขยะแบบแยกประเภท สร้างเครือข่ายการจัดการและใช้ประโยชน์ขยะอาหาร สร้างระบบ Food Waste Knowledge Hub เพิ่มเครือข่ายการนำอาหารส่วนเกินไปใช้ประโยชน์

รวมทั้งจะมีการขับเคลื่อนโดยใช้แผนปฏิบัติด้านการจัดการขยะอาหาร ระยะที่ 1 (พ.ศ. 2566 – 2570) มุ่งเน้นปรับเปลี่ยนพฤติกรรมป้องกันและลดขยะอาหาร แบ่งเป็น 4 ข้อหลัก คือการป้องกัน ป้องกันไม่ให้เกิดขยะอาหารตั้งแต่ต้นทางการลด ลดขยะอาหารที่แหล่งกำเนิดการนำขยะอาหารไปใช้ประโยชน์อย่างคุ้มค่า อาทิ การเลี้ยงสัตว์ แปรรูป เพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรม การทำปุ๋ย และการกำจัด ควรเหลือขยะอาหารไปกำจัดน้อยที่สุด ไม่ว่าจะด้วยการฝังกลบ หรือเผา

“แหล่งกำเนิดที่มีการทิ้งของขยะอาหารสูงสุดคือ ตลาดสด รองลงมาคือ ห้างสรรพสินค้าและร้านสะดวกซื้อ และอาคารสำนักงาน ซึ่งส่วนใหญ่มักมีศูนย์อาหารอยู่ด้วย ซึ่งจากข้อมูลองค์ประกอบขยะมูลฝอย พบว่า ร้อยละ 38 เป็นขยะอาหารที่ถูกทิ้งรวมกับขยะทั่วไป”

“ซึ่งในการบริการจัดการขยะอาหารเพื่อการป้องกัน ลด และจัดการขยะอาหารอย่างเหมาะสมตั้งแต่ต้นทาง กรมควบคุมมลพิษจึงได้ร่วมกับ สสส. และสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ร่วมกันจัดทำ เสนอวิธีการหรือแนวทางในการจัดการขยะอาหารที่เหมาะสมกับศูนย์อาหารและพร้อมให้คำแนะนำแก่ผู้ประกอบการ ซึ่งจะมีผู้เกี่ยวข้องตั้งแต่ผู้บริหารศูนย์อาหาร เจ้าของร้านอาหาร รวมทั้งผู้บริโภคที่ซื้ออาหารด้วย”

(ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย)
สำหรับ ดร.วิจารย์ สิมาฉายา ผู้อำนวยการสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย ชี้ว่าการที่จะแก้ไขปัญหาขยะอาหารอย่างยั่งยืน ต้องมีความร่วมมือสำคัญ 5 ด้าน ได้แก่ 1. สนับสนุนให้ศูนย์อาหารและหน่วยงานต่าง ๆ มีข้อมูลและกำหนดเป้าหมายลดปริมาณขยะอาหารและอาหารส่วนเกินด้วยระบบคัดแยกและรวบรวมให้เอื้อต่อการนำไปใช้ประโยชน์และกำจัดอย่างเหมาะสม 2. ส่งเสริมให้ผู้บริโภคมีพฤติกรรมป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน 3. ส่งเสริมองค์ความรู้และแนวปฏิบัติที่ดี สำหรับผู้ประกอบอาหารและผู้จำหน่ายอาหารในการป้องกัน ลด คัดแยก และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน 4. พัฒนาและขยายผลรูปแบบที่เหมาะสมและแนวปฏิบัติที่ดีในการป้องกันและลดการเกิดขยะอาหารและอาหารส่วนเกินจากศูนย์อาหาร และจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกินที่แหล่งกำเนิด และ 5. ขับเคลื่อนนโยบายและแผนจัดการขยะอาหารและอาหารส่วนเกิน ด้วยกลไกข้อมูล กฎระเบียบ และการสื่อสาร เพื่อให้เกิดการปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรมและกว้างขวาง

“นับว่าเป็นโชคดีที่เรามีแผนต่าง ๆ แต่อย่างไรก็ตามถ้าแผนนี้ไม่เกิดการปฏิบัติ มันก็จะเป็นเพียงแค่แผน แต่ถ้าเราสามารถที่ทำประเด็นเหล่านี้ได้ก็จะตอบโจทย์อีกหลาย ๆ โจทย์ได้ด้วย ทั้งทรัพยากร มลภาวะ รวมทั้งสุขภาวะ ซึ่งมีความเกี่ยวเนื่องกันทั้งสิ้น เราก็หวังว่า จุดเริ่มต้นนี้จะเป็นเหมือนบทเรียนที่นำไปขยายผลเพื่อขับเคลื่อนเชิงนโนบายและขยายผลในกิจกรรมอื่น ๆ ต่อไป”

ในขณะที่ Bangkok Rooftop Farming อีกหนึ่งองค์กรที่เริ่มต้นจากความตั้งใจเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะอาหาร ได้หยิบยกเอาบทเรียนการแก้ปัญหาตามแบบฉบับของฟาร์มผักคนรุ่นใหม่มาเล่าสู่กันฟัง โดยนายธนกร เจียรกมลชื่น ผู้จัดการบริษัท บางกอก รูฟท็อปฯ เริ่มต้นแนะนำตัว Bangkok Rooftop Farming ว่า เกิดจากการรวมตัวของคนเพียงหยิบมือที่มีความถนัดต่างกัน แต่มีหัวใจสีเขียว


โดยเป็นนำเอาขยะอาหารที่คัดแยกจากศูนย์อาหารโดยตรง แปลงเป็นมูลค่าเพิ่มผ่านนวัตกรรมต่าง ๆ ทำให้กลายเป็นปุ๋ยหมักหรือดิน เพื่อนำกลับใช้ในการปลูกผัก ส่งอาหารปลอดสารพิษคืนสู่สังคมด้วยกลไกลของเศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy) ที่เพียงไม่กี่ปีก็สามารถสร้างรายได้ต่อเดือนได้มากกว่า 60,000 บาท โดย 50% แบ่งเป็นรายได้จากขายผักในฟาร์ม ส่วน 20% เป็นยอดขายของดินและปุ๋ยจากขยะอาหาร

“เราพยายามจะสร้างโมเดลตรงนี้ขึ้นมา เพื่อที่ทำจะให้เกิดเกษตรกรในเมือง สร้างงาน สร้างรายได้ ยิ่งกว่านั้นมันเป็นการลดขยะอาหาร ซึ่งแต่ละฟาร์มสามารถลดขยะอาหารได้มากถึง 35-40 ตัน/ฟาร์ม/ปี”

“เป้าหมายจริง ๆ เราอยากจะแก้ปัญหาขยะอาหารให้ได้สัก 30% ภายใน 5 ปี ซึ่งจะลดขยะอาหารได้มากถึง 7,000 ตัน เพราะว่าฟาร์มแต่ละที่ในกรุงเทพฯ มีพื้นที่ค่อนข้างหลากหลาย ซึ่งสามารถลดขยะอาหารได้ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว รวมถึงเป้าหมายการปลูกผักมากขึ้น เพราะว่าผักส่วนใหญ่ที่นำเข้ามามีความเสี่ยงค่อนข้างเยอะ แถมยังมีปัญหาเน่าง่าย แต่กระบวนการของเราสามารถตัดและส่งให้ลูกค้าได้เลย มั่นใจได้ถึงความปลอดภัย ความสดใหม่และรวดเร็ว สามารถเก็บไว้ได้นาน ลูกค้าบางท่านสามารถเก็บได้มากถึง 1 ดือน ซึ่งถือเป็นอีกหนึ่งวิธีในการลดขยะอาหาร” นายธนกร เล่าต่อ


ปัจจุบัน Bangkok Rooftop Farming ตั้งอยู่ที่ดาดฟ้าศูนย์การค้าเซ็นเตอร์วัน อนุเสาวรีย์ชัยสมรภูมิ พร้อมเปิดพื้นที่ให้ผู้ที่สนใจหรือหน่วยงานต่าง ๆ เข้ามาดูโมเดลการจัดการขยะอาหารและทำฟาร์มผัก

ท้ายที่สุดแล้ว การแก้ปัญหาขยะอาหารนั้น อาจไม่จำเป็นต้องรอเวลาให้ใครแก้ไขให้ แต่สามารถเริ่มได้ที่จานเล็ก ๆ ในมื้ออาหารของเรา เพราะอย่างที่ ดร.ชาติวุฒิ ได้กล่าวทิ้งท้ายไว้นั้นคือปัญหาขยะอาหารเป็นเรื่องซับซ้อนกว่าใครสักคนหนึ่งหรือหน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่งจะทำเพียงลำพัง แต่ต้องเป็นการขับเคลื่อนร่วมกันเพื่อสร้างพลังในการเปลี่ยนแปลง


กำลังโหลดความคิดเห็น