พบคนไร้บ้าน 19% ป่วยจิตเวช 5 หน่วยงาน MOU ร่วมกันค้นหาผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อน ประสานนำส่งรักษา ฟื้นฟู ติดตามกลับไปอยู่กับครอบครัว เชื่อมข้อมูลค้นหาคนหายมูลนิธิกระจกเงา รพ.จิตเวช สถานสงเคราะห์ ห่วงผู้ป่วยจิตเวชตกค้างสถานสงเคราะห์เพียบ เน้นทำความเข้าใจครอบครัว ลดต้นตอหลุดหายจากบ้าน
เมื่อวันที่ 22 ม.ค. นพ.ศิริศักดิ์ ธิติดิลกรัตน์ รองอธิบดีกรมสุขภาพจิต พร้อมด้วย น.ส.สุชาดา หมื่นกล้า รองอธิบดีกรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ นายพิสิฐ พูลพิพัฒน์ รองอธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และนายสิทธิพล ชูประจง หัวหน้าโครงการผู้ป่วยข้างถนน มูลนิธิกระจกเงา ลงนามความร่วมมือ (MOU) การพัฒนาระบบเฝ้าระวังและดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่ง ระหว่างกรมสุขภาพจิต กรมพัฒนาสังคมและสวัสดิการ (พส.) กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ (พก.) สสส. และมูลนิธิกระจกเงา เพื่อเชื่อมโยงข้อมูลคนไร้ที่พึ่ง คนไร้บ้าน และผู้รับบริการในสถานพยาบาล และข้อมูลคนหาย ผู้ป่วยข้างถนน เพื่อติดตามสืบค้นประวัติ ครอบครัว และภูมิลำเนาเดิม ต่อยอดสู่การบูรณาการเพื่อป้องกันการเข้าสู่ภาวะไร้บ้านของผู้ป่วยทางจิต
นพ.ศิริศักดิ์กล่าวว่า จากผลการดำเนินงานและวิจัยพบว่า มีผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนไร้ที่พึ่งจำนวนหนึ่ง ขาดโอกาสเข้าถึงการบริการสาธารณสุข การลงนามในครั้งนี้ หน่วยงานทั้งรัฐและเอกชนจะพัฒนาระบบและจัดให้ผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มนี้ ให้สามารถระบุตัวตนผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนได้ และนำเข้าสู่กระบวนการบำบัดรักษา และติดตามญาติเพื่อส่งกลับเข้าสู่บ้าน หากทุกหน่วยงานช่วยกันประสานงานให้การดำเนินงานมีความคล่องตัว แลกเปลี่ยนข้อมูลแบบไร้รอยต่อ ออกแบบระบบเฝ้าระวังดูแลผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งที่มีประสิทธิภาพ ก็จะเป็นประโยชน์ต่อผู้ปฏิบัติงานและผู้ป่วยจิตเวช
คนไร้บ้านป่วยจิตเวช 19%
นายพิสิฐกล่าวว่า ข้อมูลคนไร้บ้าน ปี 2566 กรมพัฒนาสังคมฯ ร่วมกับเครือข่าย 5 หน่วยงาน ลงไปนับคนไร้บ้านช่วงกลางปี 2566 พบ 2,499 คน อยู่ใน กทม. 1,271 คน ที่เหลืออยู่ต่างจังหวัด ส่วนใหญ่จะเป็นจังหวัดท่องเที่ยวหรือจังหวัดใหญ่ที่มีรอยต่อระบบเศรษฐกิจ อย่างชลบุรีพบ 106 คน โดยคนไร้บ้านเราพบสัดส่วนว่าป่วยจิตเวช 19% โดยทุกวันนี้ผู้ป่วยจิตเวชถูกผลักออกมาจากครอบครัว ไม่ใช่ครอบครัวไม่รัก ไม่ดูแล แต่หวาดกลัวในการอยู่ร่วมกันว่า จะถูกทำร้ายหรือไม่ เพราะมีข่าวออกมาว่าผู้ป่วยจิตเวชทำร้ายคนปกติ หรือลูกทำร้ายพ่อแม่ การลงนามครั้งนี้เป็นการทำงานร่วมกันว่า เมื่อพ้นออกมาจากบ้านแล้ว ต้องดูแลให้กลับไปเหมือนคนปกติ และต้องทำให้อยู่กับครอบครัวและชุมชนได้
นพ.พงศ์เทพกล่าวว่า ผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่ง อาจเพราะไร้บ้านหรือญาติไม่ได้ดูแล บทบาทของสังคมจึงต้องเป็นที่พึ่งให้ ซึ่ง สสส.จะทำหน้าที่สานพลังให้ทุกภาคส่วนมาร่วมแก้ไขปัญหา เช่น มูลนิธิกระจกเงาจะเข้ามามีส่วนร่วม หรือประสานนักวิชาการ เครือข่ายต่างๆ ในพื้นที่ ว่าผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งไร้บ้านได้อย่างไร ซึ่งเราพบว่า คนไร้บ้านเป็นผู้ป่วยจิตเวชถึง 19% การไร้บ้านเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่ง โดยอาการจิตเวชอาจเป็นผลจากสังคมหรือความกดดัน เป็นเหยื่อของสังคมที่เรามีระบบทุนนิยมต่างๆ ที่บีบคั้นกดดันให้ทุกคนต้องเอาชีวิตให้รอด แล้วคนไม่รอดจะเป็นอย่างไร ตนคิดว่าสังคมที่มีมนุษยธรรมในการมาร่วมดูแลมีความสำคัญ โดยเฉพาะต้องมีระบบฐานข้อมูลดูว่า คนไร้บ้าน คนหายไป คนที่ป่วยจิตเวช จะดูแลอย่างไรให้ครบวงจร ซึ่งผู้ป่วยจิตเวชที่รับการดูแล หากไม่กินยาก็จะเป็นปัญหาของสังคม ตอนหลังเรามียาฉีด มีพยาบาลเยี่ยมบ้าน ก็ทำให้กลับมาเป็นคนปกติ เราก็จะได้ทุนของสังคมแทนที่จะเป็นคนที่เป็นภาระและปัญหาของสังคม
นายสิทธิพลกล่าวว่า มูลนิธิฯ ทำงาน 2 เรื่องเกี่ยวกับผู้ป่วยจิตเวช คือ ติดตามคนหาย และช่วยเหลือผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนข้างถนน ทั้งสองเรื่องคิดว่ามีปัญหาหนักและเกี่ยวกัน เช่น คนป่วยจิตเวชแล้วหายจากบ้าน ส่วนใหญ่พบคนเร่ร่อนทุกวันนี้คือคนหาย มีส่วนน้อยมากแปรสภาพจากคนเร่ร่อนไร้บ้าน เราพบหลายเคส เช่น หายจากสมุทรปราการ ไปโผล่อีกทีตรงเขตกาญจนบุรี การให้ความช่วยเหลือออกจากข้างถนนเพื่อเข้าระบบการรักษาอย่างรวดเร็วมีประสิทธิภาพ สิ่งที่จะตัดวงจรปัญหา คือ ทำให้เขามีโอกาสกลับคืนสู่บ้านมากขึ้น ยิ่งให้ความช่วยเหลือรวดเร็วมาก ระบบยิ่งมีกลไกช่วยให้เข้าสู่การรักษาได้รวดเร็ว คิดว่ามีโอกาสจะกลับคืนสู่ครอบครัวเร็วมากเท่านั้น การร่วมมือครั้งนี้เป็นเรื่องสำคัญจะทำให้โอกาสการกลับคืนสู่บ้านของคนที่หายด้วยอาการจิตเวชคืนสู่บ้านเร็วขึ้น ทำให้มนุษย์คนหนึ่งในฐานะผู้ป่วยเข้ารับการรักษารวดเร็ว ตรงตามสถานะที่เป็นหรือควรได้รับ
"ที่คาดหวังมากกว่าที่ลงนามร่วมมือ ว่าระบบที่เกี่ยวเนื่องกันจะต้องมีความแข็งแรง เพื่อเป็นโซ่ที่นำตัวผู้ป่วยเข้าสู่การรักษาและฟื้นฟูหลังการรักษา เราพบว่าผู้ป่วยหลายรายแม้มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น ตัดตัวเองจากเงื่อนไขไปสู่วงจรการป่วยซ้ำ สิ่งที่ยังเป็นปญหาคือยังไม่มีพื้นที่ให้ใช้ชีวิตอย่างมีคุณภาพในฐานะมนุษย์ที่ให้ยืนด้วยศักดิ์ศรี ตรงนี้ยังขาดอย่างมาก MOU นี้เป็นจุดเริ่มต้นที่จะนำไปสู่สิ่งนี้ได้" นายสิทธิพลกล่าว
เปิดขั้นตอนดูแลจิตเวชไร้บ้าน
นพ.ศิริศักดิ์กล่าวว่า ถ้ามีผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่ง เรามี พ.ร.บ.สุขภาพจิต หากพบผู้ป่วยจิตเวชที่เข้าข่ายตามมาตรา 22 คือ มีอาการรุนแรง มีภาวะอันตราย หรือมีความจำเป็นต้องรับการรักษา สามารถแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจ ฝ่ายปกครอง และพนักงานตามกฎหมาย ส่งต่อไปยังสถานพยาบาลที่ใกล้ที่สุด เมื่อเข้าสู่สถานพยาบาล แพทย์จะตรวจเบื้องต้น หากเกินศักยภาพจะส่งสถานบำบัดรักษาต่อไป ซึ่งกฎหมายจะเขียนว่า รพ.จิตเวช หรือ รพ.ที่มีวอร์ดจิตเวช อย่าง รพ.ศูนย์/รพ.ทั่วไปมีวอร์ดจิตเวชครบทุกจังหวัด เมื่อหายหรือทุเลา ก็จะส่งต่อสถานสงเคราะห์ที่ พส. และ พก. จะมีหน่วยงานดูแล
"อย่างไรก็ตาม แม้จะมีตำรวจ ฝ่ายปกครอง เจ้าพนักงานตามกฎหมาย ในการส่งผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งเข้าสู่การบำบัดรักษา แต่สิ่งสำคัญคือ ต้องมีคนแจ้ง เจ้าหน้าที่คงไม่ได้เดินไปหาคนป่วยได้เอง ดังนั้น หากเราไปตามตลาด ถนน แล้วเจอ ก็ต้องแจ้งหน่วยงาน ซึ่ง พ.ร.บ.สุขภาพจิต ระบุว่าผู้ใดก็ตาม ดังนั้นจึงไม่เฉพาะหน่วยงานเหล่านี้จะเป็นผู้ดูแลพาตัวมารักษา แต่ทุกคนในประเทศไทยมีสิทธิที่จะไปช่วยสังคมหรือสังคมต้องช่วยกัน" นพ.ศิริศักดิ์กล่าว
เชื่อมระบบข้อมูลไร้รอยต่อ ช่วยติดตามคืนครอบครัว
นพ.ขวัญประชา เชียงไชยสกุลไทย คณะกรรมการกำกับทิศทางการสร้างเสริมสุขภาวะคนไร้บ้านและคนจนเมือง สสส. กล่าวว่า ข้อมูลคนหายมีการแจ้งมูลนิธิกระจกเงาจำนวนมากเพื่อค้นหาเคส การเชื่อทมโยงข้อมูลก็คือ จะมีการส่งข้อมูลการแจ้งค้นหาเคสไปสแกนหาใน รพ.จิตเวชสังกัดกรมสุขภาพจิตว่า คนหายไปตกอยู่ใน รพ.หรือไม่ สแกนกับสถานสงเคราะห์ของ พม.ว่าได้รับดูแลหรือไม่ ซึ่งการที่มีการตามหาแสดงว่ายังยึดโยงกับผู้ป่วยอยู่ หากหาเจอก็จะส่งกลับบ้านได้ แต่บางครั้งเราเจอเคสจิตเวชที่ไม่สามารถบอกได้ว่าบ้านหรือชุมชนอยู่ที่ไหน ก็จะเป็นภาระภาครัฐทำให้ค้างอยู่ในสถานที่ดูแล กลไกเชื่อมโยงผู้ป่วยครอบครัวหากัน คืนผู้ป่วยสู่ครอบครัวในที่สุด
ผู้ป่วยจิตเวชตกค้างล้นสถานสงเคราะห์
น.ส.สุชาดากล่าวว่า ปัจจุบันจะมีคนเร่ร่อนจิตเวชเพิ่มมากขึ้น ต้องมาช่วยกันที่จะขับเคลื่อนงาน โดยภาคเอกชนและรัฐเข้ามาร่วม เนื่องจากสถานสงเคราะห์ภาครัฐมีไม่มาก ไม่สามารถรับคนจำนวนมากได้ ชุมชนต้องช่วยกันดูแลคนในชุมชน หากไม่สามารถช่วยได้จึงส่งมาถึงภาครัฐ ที่อยากเห็นคือการประสานงานร่วมกันในการรับคนเข้ามาในสถานสงเคราะห์ และการเอาคนจากสถานสงเคราะห์กลับออกไปอยู่ในชุมชน ซึ่งมูลนิธิกระจกเงาจะมีคนออกไปเจอคนในพื้นที่ที่เร่ร่อนอยู่ จะเป็นหนึ่งแรงช่วยราชการหาว่าญาติอยู่ที่ไหน จะร่วมมือทำอย่างไรให้คนเหล่านี้กลับไปอยู่ในชุมชน
นพ.ขวัญประชา กล่าวว่า พ.ร.บ.สุขภาพจิต ทำงานดีเกินไป ทำให้เรามีผู้ป่วยจิตเวชไร้ที่พึ่งไปค้างกับ พส. และ พก.มากขึ้นเรื่อยๆ ทั้งที่บทบาทเขาดูแลคนไร้ที่พึ่งปกติ แต่สถานสงเคราะห์ดูแลจิตเวชมากขึ้นถึง 80% ดังนั้น ตอนนี้เราจึงไม่ค่อยเห็นผู้ป่วยจิตเวชอาการคลุ้มคลั่งเดินบนถนนมากมายนัก หากพบก็จะเดินสักพักแล้วถูกเก็บเข้าไป แต่เราจะปล่อยให้สถานการณ์เป็นเช่นนี้ไม่ได้ เพราะผู้ป่วยจิตเวชเร่ร่อนข้างถนน ไม่ได้ออกมาจากกระบอกไม้ไผ่ แต่ออกมาจากบ้าน
"การที่ผู้ป่วยจิตเวชหลุดหายออกมา มี 2 ลักษณะ คือ ค้างอยู่ในวอร์ด รพ.จิตเวชทั่วประเทศ มีผู้ป่วยไม่สามารถดิสชาร์จได้ และกรณีอยู่กับครอบครัว แล้ววันดีคืนดีหลุดหายจากสาเหตุต่างๆ ซึ่งประเทศไทยตอนนี้เมื่อคนหายแจ้งโรงพักน้อยกว่ากระจกเงา ซึ่งกระจกเงาจะมีข้อมูลคนหายจำนวนมาก คำถามคือ ลงนามนี้เราพยายามมองหากลุ่มผู้ป่วยจิตเวชกลุ่มไหนที่มีโอกาสเร่ร่อน จะหาทางป้องกันที่ต้นเหตุ อย่างครอบครัวอาจไม่มีศักยภาพมากพอดูแล มีปัญหาที่ใหญ่กว่าครอบครัว ซึ่งนวัตกรรมที่เคยทดลองทำคือ ให้ชุมชนร่วมดูแลในชุมชน ต้องแมปปิ้งเคสให้ชุมชนดูแลก่อนจะมาเป็นคนเร่ร่อนเพื่อลดต้นเหตุ" นพ.ขวัญประชากล่าว
นายพิสิฐ กล่าวว่า การลดผู้ป่วยจิตเวชตกค้างในสถานสงเคราะห์ เราพยายามดำเนินการอยู่ โดยทำความเข้าใจกับครอบครัว นักสังคมสงเคราะห์ พม.ต้องทำงานร่วมกับ สธ. ทำงานร่วม รพ.สต. ในตำบลนั้น รวมถึงท้องที่อย่างมหาดไทย เพาะตอนนี้ครอบครัววิตกกังวลเรื่องความปลอดภัย ไม่ใช่ไม่รักลูกหลาน จึงต้องไปเติมพลังให้มีความรู้อย่างถูกต้อง การดูแลผู้ป่วยอย่างการรับประทานยาอย่างต่อเนื่อง ก็จะคุมอาการให้อยู่ร่วมครอบครัวและชุมชนได้ตามปกติ
"ผู้ป่วยจิตเวชในสถานสงเคราะห์ได้กลับบ้านไม่เยอะ นักจิตวิทยาคลินิกเราไม่ได้มีมากขนาดไปดูและครอบคลุมทั้งหมด เรามีแต่นักสังคมสงเคราะห์ไปดูแลที่บ้าน ระบบฟื้นฟู นอกจากให้กินยาดูแลตัวเองได้แต่ละวันก็ค่อนข้างยาก นอกจากนี้ เรามีกิจกรรมบำบัดที่ทำอยู่ ระยะหลังเราพยายามส่งคนไปทดลองการใช้ชีวิตในสังคม เช่น ไปทำงานเรียนรู้ ออกไปทำงานข้างนอก มีโปรเจกต์ทดลอง เอาคนกลุ่มนี้ไปใช้ชีวิตในบ้านเหมือนครอบครัว ทดลองทำงานเพื่อให้ไปต่อได้ แต่ท้ายสุดต้องกลับไปพื้นฐานครอบครัวเดิม ไปสร้างจุดเริ่มต้นตรงนั้นให้เข้าใจดูแลผู้ป่วยจิตเวชให้อยู่ในชุมชนเขาได้" นายพิสิฐกล่าว