ผอ.รพ.ราชวิถี เปิดขั้นตอนใช้งาน รพ.เสมือนจริง เน้นดูแลผู้ป่วยทั่วไป ปฐมภูมิ โรคไม่ซับซ้อนเร่งด่วน จัดหมอเวชศาสตร์ครอบครัวดูแล 1-2 คนต่อวัน ใช้เทเลเมดิซีน ส่งยาถึงบ้าน เจาะเลือดที่บ้าน อาการไม่หนักทำ Home Ward ได้ เบิกจ่ายได้สิทธิบัตรทอง-ข้าราชการ ช่วยลดแออัด รพ. เปิดทางดูแลผู้ป่วยซับซ้อน พบ 3 เดือนดูแลแล้ว 1.7 พันคน จ่ออบรม รพ.ในเขตสุขภาพเพิ่ม
นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลราชวิถี กล่าวถึงการเดินหน้า รพ.เสมือนจริง (Virtual Hospital) ว่า หลังรับมอบนโยบายเรื่องนี้ รพ.ราชวิถีได้ทำ รพ.เสมือนจริงแบบครบวงจร ไม่ว่าจะเป้นผู้ป่วยใหม่หรือผู้ป่วยเก่า ซึ่งผู้ป่วยเก่าจะง่ายเพราะแค่ตรวจสอบสิทธิเลย แต่ผู้ป่วยใหม่ไม่เคยมา รพ. เราจะดึงเข้ามาระบบ รพ.โดยไม่ต้องมา รพ.เลยทำอย่างไร จึงต้องมีทีมแอดมินให้คนไข้ลงทะเบียนออนไลน์ผ่าน Line OA ติดตั้งแอปพลิเคชัน DMS Telemedicine จะมีการยืนยันตัวตน ตรวจสอบสิทธิ เมื่อเรียบร้อยจะนัดหมายภายใน 24 ชั่วโมง ก็จะเจอห้องตรวจ มีพยาบาลคัดกรอง และพบแพทย์ หลังพบแพทย์จะมีทางออก 4 ทาง คือ 1.ตรวจเจอแพทย์ ให้คำปรึกษาเฉยๆ กลับบ้าน (Discharge) 2.ตรวจเสร็จแล้วต้องการยา จัดยาส่งไปรษณีย์ 3.ตรวจเสร็จแล้วต้องตรวจเลือดก็มี 2 ทางเลือก ไปตรวจเลือดที่บ้านหรือตรวจเลือดใกล้บ้าน และ 4. จำเป็นต้องแอดมิทแบบไม่รุนแรง ไม่อยากแอดมิท รพ. เราจะ Home Ward ให้ โดยมีการติดตามอาการผ่านแพทย์ทางไกล
"ก็จะครบวงจรเลย ก่อนเข้าห้องตรวจ อยู่ในห้องตรวจและหลังออกจากห้องตรวจ การเอาคนไข้กลุ่มนี้เข้าสู่ระบบได้ ต้องมีการเลือกให้เหมาะสม เช่น ไม่ใช่โรคเร่งด่วนหรือซับซ้อน ไม่มีโครประจำตัวร้ายแรง โรคที่สามารถใช้ดิจิทัลคุยกันได้ เป็นต้น หรือจะมีอย่างโรคความดันสูงแบบปานกลางถึงสูงมาก แต่ยังไม่มีปัญหาแทรกซ้อนเร่งด่วน แต่ควรจะมีคนวัดความดันทุกวันให้ แบบนี้ก็จะรักษาเสร็จพาเข้า Home Ward มีอีกทีมหนึ่งติดตามดูแลอาการทุกวัน" นพ.จินดากล่าว
นพ.จินดากล่าวว่า เราเริ่มระบบตั้งแต่วันที่ 18 ต.ค. 2566 - 12 ม.ค. 2567 รวม 1,786 ราย ซึ่งแนวโน้มผู้ใช้บริการผ่าน Virtual Hospital ก็เพิ่มมากขึ้นในแต่ละเดือน โดย ต.ค.อยู่ที่ 23 ราย พ.ย. เป็น 565 ราย ธ.ค. 765 ราย และ ม.ค.ซึ่งยังไม่ถึงครึ่งเดือนก็สูงถึง 435 รายแล้ว การดูแลผู้ป่วยด้วยระบบนี้ ทุกรายเรียบร้อยดี ไม่มีใครมีผลแทรกซ้อนหรืออันตรายจากการให้บริการ เพราะสิ่งที่เรากังวลมากที่สุดนอกจากระบบที่ต้องรวดเร็วแล้ว คือ เรื่องคุณภาพ ปลอดภัย เพราะหมอจะไม่เห็นคนไข้ ทั้งนี้ หลังจากที่ทีมเราไปแนะนำคนไข้พบว่า คนไข้ส่วนใหญ่อยากจะเข้ามาใช้ เพราะมันสะดวก แต่สำคัญคือคนทำหน้าที่คัดกรองดูแล้วไม่เหมาะสม เช่น โรคบางโรคที่ต้องเจอหมอจริงๆ ก็ต้องอธิบายว่าต้องมา รพ.
ถามว่าผู้ที่จะใช้บริการจำเป็นว่าจะต้องมีสิทธิรักษาที่ รพ.ราชวิถีหรือไม่ นพ.จินดากล่าวว่า ไม่ต้อง เพียงแต่สิทธิในการเบิกจ่ายตอนนี้จะครอบคลุมแค่บัตรทองและข้าราชการ ยังไม่ครอบคลุมประกันสังคม แต่เราพบว่าส่วนหนึ่งสิทธิประกันสังคมยอมจ่ายเงินเอง เพราะเป็นการซื้อความสะดวก สำหรับการเบิกจ่ายนั้น สปสช.จะมีงบ OP Anywhere ในการดูแลตรงนี้ ส่วนการจะขยายไป รพ.อื่นหรือไม่นั้น เราได้งบประมาณจากกรมการแพทย์ในการอบรมให้แก่ รพ.ในเขตสุขภาพ ตอนนี้ Virtual ในแต่ละที่จะไม่ค่อยเหมือนกัน และจะเป็นบริการผู้ป่วยโรคเก่า โรคเรื้อรังส่วนใหญ่ แต่สำคัญคือต้องเอาคนไข้ใหม่เข้ามาให้ได้
ถามถึงกรณีเจ็บป่วยเล็กน้อยแต่มา รพ.ระดับสูงเพื่อรักษา ระบบ Virtual Hospital จะช่วยลดความแออัดตรงนี้ลงหรือไม่ นพ.จินดากล่าวว่า สำคัญอยู่ที่การคัดกรอง จะเป็นคำแนะนำ แต่หากยืนยันจะเข้าจริงๆ ก็ห้ามไม่ได้ อย่างไรก็ตาม หากเข้าระบบ Virtual Hospital จะสะดวกกว่า ไม่ต้องมาแออัด พูดง่ายๆ อย่าง รพ.ราชวิถี ควรดูแลผู้ป่วยตติยภูมิจริงๆ ปฐมภูมิไม่ควรมา แต่หากมาแล้วไม่มีช่องทางให้เขาก็ไม่ได้ ซึ่ง Virtual Hospital จะเป็นอีกช่องทางที่ช่วย ดูแลผู้ป่วยปฐมภูมิ อย่างต่างจังหวัดก็มาใช้ได้ แต่จะยากตอนส่งยา หากไม่ต้องส่งยาแค่แนะนำให้สบายใจก็ดีขึ้น
ถามว่าต้องจัดบุคลากรมาดูแลในส่วนของ Virtual Hospital มากน้อยแค่ไหน นพ.จินดากล่าวว่า เราใช้วิธีส่งยาไปรษณีย์จะมีระบบดูแลอยู่แล้ว ส่วนแพทย์ที่มาตรวจรักษา เนื่องจากเราเป็นระบบนัดใน 24 ชั่วโมง ก็จัดอัตรากำลังแพทย์ให้สอดคล้องกับแต่ละวัน ส่วนใหญ่ประมาณ 1-2 คนต่อวันก็ถือว่าพอ ส่วนภาระงานนั้น ถือเป็นการบิรหารจัดการ ก็เพิ่มขึ้น แต่ถ้าไม่จัดตรงนี้คนไข้ก็จะมา รพ. ก็อาจจะทำให้ภาระงานมากขึ้น ซึ่งแพทย์ที่เราจัดบริการจะเป็นแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว เพราะโรคพวกนี้ไม่ใช่โรคยุ่งยากซับซ้อน หากยุ่งยากซับซ้อนก็จะส่งต่อมาตรวจที่ รพ.