xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" ชวนสาวศูนย์ราชการเลิกอาย ตรวจ "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยตนเอง ยังไม่ขีดเส้นจัดตั้ง "กองทุนมะเร็ง"

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" เปิดกิจกรรมชวนชาวศูนย์ราชการตรวจ "มะเร็งปากมดลูก" ด้วยตนเอง เลิกเขินอาย ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง รับปัญหามะเร็งปากมดลูกมาจากรักษาช้า ชี้ตรวจเร็ว รุ้เร็ว รักษาหายขาดได้ ลดอัตราตาย แจงกองทุนมะเร็ง ช่วยซัพพอร์ตค่าใช้จ่ายอื่นๆ จากการรักษา ทีมงานกำลังเซ็ตโมเดล หาแหล่งทุน ยังไม่ขีดเส้นเวลา

เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ศูนย์ราชการฯ นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังเปิดกิจกรรม "ของขวัญปีใหม่จากใจ สปสช.-ธพส. ชวนชาวศูนย์ราชการฯ รับสิทธิตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA Self-sampling ฟรี "เลิกเขิน เลิกอาย ไม่ต้องขึ้นขาหยั่ง" ว่า โครงการนี้เป็นโครงการที่ สปสช. และ บริษัท ธนารักษ์พัฒนาสินทรัพย์ จำกัด หรือ ธพส. จัดขึ้น โดยมีภาคีเครือข่ายเข้ามาร่วม เปิดรณณงค์การตรวจมะเร็งปากมดลูกด้วยตนเอง ด้วยใช้ HPV DNA Self-sampling ซึ่ง สปสช.ให้ความสำคัญชุดตรวจด้วยตนเองนี้ จึงอนุมัติให้อยู่ในสิทธิประโยชน์ที่สามารถเข้ารับบริการฟรีได้ สปสช.เป็นผู้จ่าย เป็นการเปิดตัวโครงการอำนวยความสะดวกให้ผู้หหญิงที่ไม่สะดวก ใช้ตัวชุดตรวจด้วยตนเองนี้ ไปเก็บสิ่งส่งตรวจด้วยตนเอง และนำสิ่งส่งตรวจมาตรวจต่อ


"วิธีการนี้ถือว่าสะดวก ทำให้ผู้ที่เขินอาย ไม่อยากขึ้นขาหยั่ง ลดข้อจำกัดตรงนี้ลงได้ เป็นไปตามนโยบาย สธ. ที่เราพยายามดูมิติสุขภาพผู้หญิง เรื่องของมะเร็งครบวงจร รู้เร็ว รักษาเร็ว หายขาดได้ เพราะปัญหาของโรคมะเร็งปากมดลูกคือ ส่วนใหญ่ที่มานั้นช้า มีมาเมื่อมีอาการแล้วก็มีผลต่อการรักษา แต่ถ้ารู้เร็วจากการตรวจก็จะรู้และรีบรักษา จะทำให้อัตราตายหรืออัตราการเกิดเป็นโรคลดลงได้ เป็นเป้าหมายของเรา" นพ.ชลน่านกล่าว


ถามถึงความคืบหน้าการตั้งกองทุนมะเร็ง นพ.ชลน่านกล่าวว่า คณะทำงานกำลังไปดำเนินการหากระบวนการวิธีการ ที่จะดูรายละเอียดคำว่ากองทุนคืออะไร แล้วกองทุนนี้จะมีแหล่งเงินจากไหน แหล่งเงินจะเอามาใช้เพื่อการใด กำลังดูรายละเอียด ถ้ามีความก้าวหน้าจะแจ้งให้ทราบต่อไป ซึ่งกรองการดำเนินงานนั้น ก็พยายามจะเร่งรัด แต่ยังไม่ได้ระบุว่าจะต้องเสร็จภายในกี่เดือน

ถามว่ากองทุนนี้จะดูแลทั้ง 3 สิทธิสุขภาพเลยใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรื่องสิทธิประโยชน์ ถ้าตีความว่าส่งเสริมป้องกัน ได้สิทธิจาก สปสช.อยู่แล้ว ส่วนการรักษาจะไปดูตามรายละเอียดแต่ละกองทุน สำหรับวัตถุประสงค์ของกองทุนนั้น ต้องยอมรับว่าโอกาสของประชาชนที่เข้าสู่การดูแลรักษาเรื่องมะเร็ง ใช้คำว่าเหลื่อมล้ำ คนใน กทม.และชนบทต่างกันเยอะมาก ข้อจำกัดคือเรื่องค่าใช้จ่าย ซึ่งบางส่วนได้จากสิทธิจากการรักษาที่ให้ตามสิทธิ แต่บางอย่างไม่ได้เป็นค่าใช้จ่ายทางตรง แต่เป็นทางอ้อม เช่น การกินการอยู่ การมาติดตามรักษา มาฉายแสง ต้องใช้งบประมาณทั้งนั้น กองทุนนี้ส่วนหนึ่งก็จะมาเสริมเติมเรื่องโอกาสเขาในการเข้าถึงการรักาษให้ได้มากที่สุด ก็เป้นวัตถุประสงค์หนึ่ง และดูแลเรื่องการให้ความรู้ความเข้าใจ มีความตระหนักรู้ส่งเสริมการสร้างสื่อ กระบวนการให้ความรู้ กองทุนก็จะเข้ามาดูแลทุกมิติ








กำลังโหลดความคิดเห็น