บอร์ด สปสช. เห็นชอบสิทธิตรวจ "มะเร็งเต้านม" ด้วยแมมโมแกรม-อัลตราซาวด์ ในหญิงไทยกลุ่มเสี่ยง อายุ 40 ปีขึ้นไป มีญาติสายตรงป่วยมะเร็งเต้านม หวังรักษาตั้งแต่ระยะแรก ลดเสียชีวิต ตั้งเป้า 4 หมื่นราย ใช้งบ 87 ล้านบาท พร้อมไฟเขียวคัดกรอง "พยาธิใบไม้ตับ" ด้วยการตรวจปัสสาวะ พบผู้ชายอีสาน-เหนือป่วยสูง
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. 2567 นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บอร์ด สปสช.) กล่าวภายหลังประชุมบอร์ด สปสช. ว่า ตามนโยบาย “มะเร็งครบวงจร” มุ่งดูแลผู้ป่วยมะเร็งให้เข้าถึงการรักษาพยาบาล ตรวจคัดกรองกลุ่มเสี่ยง โดยมะเร็งเต้านมเป็นภัยร้ายทางสุขภาพของผู้หญิงทุกคน สถานการณ์มะเร็งเต้านมในไทย แต่ละปีมีผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งเต้านมรายใหม่อยู่ที่ 37.8 ต่อแสนประชากร ซึ่งปี 2563 อยู่ที่จำนวน 22,158 คน หรือร้อยละ 22.8 ของจำนวนผู้หญิงที่ป่วยเป็นมะเร็งทุกชนิด ขณะที่อัตราการเสียชีวิตจากมะเร็งเต้านมอยู่ที่ 12.7 ต่อแสนประชากร ปี 2563 อยู่ที่จำนวน 8,266 คน หรือร้อยละ 14.6 ของผู้หญิงที่เสียชีวิตจากมะเร็งทุกชนิด
ทั้งนี้ บอร์ด สปสช. ตระหนักต่อสถานการณ์ จึงมีนโยบายเน้นการตรวจคัดกรอง โดยเฉพาะกลุ่มผู้หญิงที่มีภาวะเสี่ยงต่อการเป็นมะเร็งเต้านม วันนี้จึงเห็นชอบมาตรการเพิ่มเติม การตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ปีละ 1 ครั้ง ในสตรีอายุ 40 ปีขึ้นไปทุกสิทธิการรักษาพยาบาลที่มีประวัติญาติสายตรงเป็นมะเร็งเต้านม และกำหนดเป้าหมายบริการตรวจคัดกรองในปี 2567 จำนวน 40,600 ราย เนื่องจากต้องใช้เครื่องมือและงบประมาณค่อนข้างสูง จึงเน้นกลุ่มเสี่ยงดังกล่าวก่อน หมายถึงสามารถเข้ามาตรวจปกติตามทั่วไป แต่ถ้าแพทย์เห็นว่าบุคคลนี้เข้าเกณฑ์เสีย่ง ก็จะส่งตรวจแมมโมแกรม ก็จะได้รับสิทธิประโยชน์ตรงนี้ ซึ่งจะเริ่มให้ตั้งแต่ปีนี้เป็นต้นไป โดยสิทธิประโยชน์นี้ จะเป็นการสนับสนุนนโยบายมะเร็งครบวงจรของรัฐบาล เพื่อดูแลผู้ป่วยมะเร็งและผู้ที่มีความเสี่ยงให้เข้าถึงบริการที่จำเป็น โดยไม่มีค่าใช้จ่ายเป็นอุปสรรค
นพ.ชลน่านกล่าวอีกว่า อีกเรื่องคือเห็นชอบการตรวจคัดกรองโรคพยาธิใบไม้ตับ ด้วยการตรวจปัสสาวะ OV-Rapid Diagnosis Test (OV-RDT) ซึ่งเดิมการตรวจดั้งเดิมจะตรวจจากอุจจาระเพื่อดูไข่พยาธิว่ามีในร่างกายหรือไม่ ถ้ามีก็ไปตรวจค้นต่อ วิธีใหม่คือตรวจปัสสาวะโดยหาแอนติเจนหรือ DNA ที่อยู่ในน้ำปัสสาวะของคนที่มีตัวพยาธิในร่างกาย จะออกมากับน้ำปัสสาวะ ถ้าเจอก็ไปตรวจค้นต่อ เช่น อัลตราซาวด์บริเวณตับหรือท่อน้ำดี ถ้าเจอจะได้ทำการรักษา เพราะโรคพยาธิใบไม้ตับ มีผลโดยตรงกับการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี เจอเยอะที่สุดคือ ภาคอีสาน ร้อยละ 80 ภาคเหนือ ร้อยละ 18 และที่เหลืออยู่ตามภาคอื่น ซึ่งภาคกลาง ภาคใต้น้อยมาก โรคนี้มักเป็นในผู้ชายอายุน้อย เจอเยอะสุดที่อายุ 47 ปี โดยกลุ่ม 45-55 ปีเจอมากสุด เป็นวัยทำงาน วัยแรงงาน แต่ถ้าเจอพยาธิใบไม้ตับก็มักจะเป็นมะเร็งท่อน้ำดีแล้วเสียชีวิตไป จึงต้องรณรงค์ตรงนี้แก้ปัญหาโดยตรวจให้เร็ว เจอแล้วไปรักษา ซึ่งวิธีการรักษษค่อนข้าง รักษาให้หายขาดได้
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการ สปสช. กล่าวว่า บอร์ด สปสช. พิจารณาข้อมูลจากผลการศึกษาการพัฒนาชุดสิทธิประโยชน์ของการตรวจคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ และข้อเสนอจาก Service plan สาขาโรคมะเร็ง สธ. โดยหากผู้ป่วยมะเร็งเต้านมได้รับการรักษาระยะเริ่มต้นจะช่วยเพิ่มอัตราการรอดชีวิตสูง คือ ระยะแรกที่ 1 อัตราการรอดชีวิตจะอยู่ที่ 94.40% ระยะที่ 2 อยู่ที่ 85% ระยะที่ 3 อยู่ที่ 56.60% และระยะที่ 4 อยู่ที่ 28.30% ผลการรักษาดี ภาวะแทรกซ้อนต่ำ และสามารถผ่าตัดแบบสงวนเต้านมได้ ส่วนที่กำหนดให้สิทธิบริการผู้หญิงที่อายุ 40 ปีขึ้นไปนั้น เพราะจากข้อมูลพบว่า ผู้ป่วยมะเร็งเต้านมจะอยู่ในกลุ่มอายุ 50-59 ปี มากที่สุด ซึ่งในทางการแพทย์การตรวจคัดกรองญาติสายตรงต้องลบอายุจากญาติที่เป็นมะเร็งเต้านมออก 10 ปี และควรตรวจทุก 1 ปี
ส่วนของงบประมาณ บอร์ด สปสช. มอบให้ สปสช.เสนอของบกลาง สำหรับใช้ดำเนินการปีงบประมาณ 2567 จำนวน 87.36 ล้านบาท พร้อมกันนี้ ให้ประสานสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) และ Service plan สธ. ดำเนินการและให้มีกลไกวิชาการเก็บรวบรวมข้อมูล กำกับติดตามประเมินผลรอบด้าน รวมทั้งการเข้าถึงบริการ เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการพิจารณาขยายผลต่อไป ทั้งนี้ การตรวจคัดกรองด้วยเครื่องแมมโมแกรมและอัลตราซาวด์ จะเป็นบริการที่เข้ามาเสริมจากสิทธิประโยชน์ที่มีอยู่แล้ว ได้แก่ การให้คำแนะนำคัดกรองมะเร็งเต้านมด้วยการคลำเต้านมด้วยตนเองสำหรับหญิงวัยเจริญพันธุ์ อายุ 25-59 ปี และตรวจคัดกรองยีนกลายพันธุ์ BRCA1/BRCA2 สำหรับผู้ที่มีอายุ 18 ปีขึ้นไปที่เป็นผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูงและญาติสายตรงที่มีประวัติครอบครัวตรวจพบยีนกลายพันธุ์ ซึ่งเป็นการกำหนดบริการตรวจคัดกรองเพิ่มเติมตามความเสี่ยงของประชาชนแต่ละกลุ่ม
ถามว่าการตรวจคัดกรองดังกล่าวครอบคลุมทุกสิทธิการรักษาเลยใช่หรือไม่ นพ.จเด็จกล่าวว่า ใช้ เพาะอยู่ในสิทธิส่งเสริมสุขภาพป้องกันโรคสำหรับคนไทยทุกคน ทุกคนได้สิทธิไม่ว่าอยู่สิทธิใดก็อยู่ในกติกานี้
ถามว่าเป้าหมายการดำเนินงานตรวจด้วยแมมโมแกรม เรามีหน่วยบริการและเครื่องเพียงพอใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปีนี้เรามีนดยบายเปิดโอกาสให้คนเข้าถึงการรักษามากที่สุด เรามีบริการตามปกติ และมีโครงการพิเศษ คือ พาหมอไปหาประชาชนเฉลิมพระเกียรติฯ จะมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมาร่วมระดมคน กระจายเข้าไปใน 12 เขตสุขภาพ อย่างน้อยเขตละ 6 ครั้ง ในการตรวจคัดกรองดูแลเชิงระบบ ถ้าเจอก็ตรวจเพิ่มเติมและรักษาต่อ จะเป็นการเพิ่มโอกาสเข้าถึง ส่วนตั้งเป้าเท่าไรเรามีงบประมาณ 87 ล้านบาท ก็จะใช้เม็ดเงินให้เกิดประโยชน์ที่สุด กระจายไปตามพื้นที่ความเสี่ยงและกลุ่มเสี่ยง ก็จะกระจายให้มากที่สุด