xs
xsm
sm
md
lg

“การบูรณาการเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น” ผลงาน มรภ.อุดรธานี คว้ารางวัลดีเด่นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย ผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ดีเด่น ปี 66

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ผลงาน : “การบูรณาการเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น (UDRU ANi) มรภ.อุดรธานี” ได้รางวัลดีเด่นการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการวิชาการ ไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น

เมื่อวันที่ 18 ม.ค.ศ.ดร.ศุภชัย ปทุมนากุล รองปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม(อว.) เปิดเผยว่า โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัย(Reinventing University) โดย สำนักงานปลัด(สป.) อว.จัดการประกวดผลงานสถาบันอุดมศึกษาพัฒนาเชิงพื้นที่ดีเด่น ประจำปี พ.ศ. 2566 ซึ่งเป็นความร่วมมือระหว่าง สป.อว. และหน่วยบริหารและจัดการทุนด้านการพัฒนาระดับพื้นที่ (บพท.) ซึ่งมีมหาวิทยาลัยที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคต่างๆ ทั่วประเทศ อาทิ มหาวิทยาลัยราชภัฏ(มรภ.) 38 แห่ง สถาบันวิทยาลัยชุมชน มหาวิทยาลัยกาฬสินธุ์ มหาวิทยาลัยพะเยา มหาวิทยาลัยหาดใหญ่ เป็นต้น ส่งผลงานการเข้าไปพัฒนาในพื้นที่และชุมชนเข้าประกวด โดยมีผลงานที่ได้รับรางวัล ดังนี้

ด้านที่ 1: การปฏิรูประบบบริหารจัดการของสถาบันอุดมศึกษาเพื่อนำไปสู่การพัฒนาเชิงพื้นที่/ท้องถิ่น
รางวัลชมเชย ผลงาน “การปฏิรูประบบบริหารจัดการของมหาวิทยาลัยพะเยา เพื่อการบรรลุวิสัยทัศน์ มหาวิทยาลัยสร้างปัญญาเพื่อนวัตกรรมชุมชนสู่สากล” โดยการทำให้ทุกคณะในมหาวิทยาลัยมีบทบาทในการขับเคลื่อนเชิงพื้นที่ ครอบคลุมพื้นที่ทั้ง 68 ตำบลใน จ.พะเยา เพื่อสร้างความพร้อมให้มหาวิทยาลัยไปสู่การเป็น Frontier Area-Based University ด้วยการได้รับการยอมรับทั้งระดับชุมชนและสากล ในการได้รับการยอมรับระดับชุมชน

ด้านที่ 2 การพัฒนาบัณฑิตที่มีทักษะสูงตอบโจทย์การพัฒนาพื้นที่หรือท้องถิ่น
รางวัลชมเชย ผลงาน “การพัฒนาบัณฑิตเพื่อยกระดับทักษะขั้นสูงด้านโลจิสติกส์ สู่การพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก” โดย มรภ.กำแพงเพชร ได้นำเสนอหลักสูตรนำร่องด้านการผลิตและพัฒนากำลังคนและสร้างความสามารถในการแข่งขันผลิตกำลังคนรองรับ New S-Curve โดยจัดการศึกษาแบบทวิภาคี พร้อมทั้งได้จัดตั้งศูนย์ทดสอบมาตรฐานฝีมือแรงงานแห่งชาติ กลุ่มอุตสาหกรรมโลจิสติกส์ จำนวน 4 สาขาอาชีพ เป็นแห่งแรกของภาคเหนือตอนล่าง เพื่อยกระดับมาตรฐานอาชีพด้านโลจิสติกส์ให้กับบัณฑิตและกำลังคนด้านโลจิสติกส์ให้กับพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษตาก โดยสอดคล้องกับการผลิตบัณฑิตเพื่อพัฒนาในพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ หรือ SEZ และ EEC โดยการปฏิรูปการจัดการการเรียนการสอนเชิงบูรณาการกับการทำงาน ให้ตรงกับความต้องการของสถานประกอบการ

ด้านที่ 3 การนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม การบริการวิชาการ ไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่นรางวัลดีเด่น ผลงาน : “การบูรณาการเครือข่ายชุมชนท้องถิ่น (UDRU ANi) มรภ.อุดรธานี” โดยนำเสนอศูนย์นวัตกรรมเพื่อการบริการวิชาการ (INAS) ทั้งนี้ ANi เป็นหน่วยปฏิบัติการเชิงพื้นที่ที่มีเขตให้บริการครอบคลุม 4 จังหวัด ได้แก่ อุดรธานี หนองบัวลำภู หนองคาย และบึงกาฬ รวม 43 อำเภอ โดยชูความโดดเด่นของการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมและบริการวิชาการไปใช้ในการพัฒนาชุมชนท้องถิ่น อาทิ การพัฒนาเศรษฐกิจชุมชนเห็ดครบวงจรสู่ผลิตภัณฑ์ BCG ของพื้นที่ ต.หาดคำ อ.เมือง จ.หนองคาย ภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชน “ฮักคำ” การพัฒนาวิถีชาวนา ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจ BCG ของพื้นที่ ต.บ้านต้อน อ.รัตนวาปี จ.หนองคาย ภายใต้แบรนด์ผลิตภัณฑ์ชุมชน “กสิภัฏ” และนวัตกรรมและเทคโนโลยีเพื่อการผลิตและการแปรรูปผลิตภัณฑ์ “อ้อย” เป็นต้น

รางวัลชมเชย ผลงาน : “การยกระดับคุณภาพชีวิตและเศรษฐกิจฐานรากโดยอาศัยองค์ความรู้ เทคโนโลยี นวัตกรรมจากทรัพยากรท้องถิ่น” โดยมรภ.ลำปาง
รางวัลชมเชย ผลงาน : “การยกระดับขีดความสามารถของชุมชนด้วยระบบและกลไกการจัดการทรัพยากรพื้นถิ่น สิ่งแวดล้อม และสังคมสูงวัยด้วยกระบวนการพันธกิจสัมพันธ์มหาวิทยาลัยกับสังคม” โดยมรภ.อุตรดิตถ์

รางวัลชมเชย ผลงาน “การพัฒนาชุมชนเพาะเลี้ยงผึ้งชันโรงสู่การเป็นชุมชนนวัตกรรมอย่างยั่งยืน จังหวัดสงขลา” โดยมหาวิทยาลัยหาดใหญ่

“ทั้งหมดนี้ คือผลงานที่มหาวิทยาลัยได้เข้าไปพัฒนาในพื้นที่และชุมชนอย่างเป็นรูปธรรม ถือเป็นการกระจายโอกาสทางเศรษฐกิจและสังคมสู่ประชาชนในส่วนภูมิภาค สะท้อนให้เห็นชัดว่า โครงการพลิกโฉมมหาวิทยาลัยของ สป.อว. เดินมาถูกทาง เพื่อทำให้มหาวิทยาลัยเป็นกลไกหลักในการขับเคลื่อนการพัฒนาประเทศต่อไป” ศ.ดร.ศุภชัย กล่าว












กำลังโหลดความคิดเห็น