"ชลน่าน" เผยนำร่อง 4 พื้นที่ "พาหมอไปหา ปชช." ดูแลแล้ว 8 พันกว่าคน พบ "สีคิ้ว" เข้ารักษาตามากสุด "ลี้" แห่คัดกรองมะเร็งตับ/ท่อน้ำดีสูงสุด "ชัยบาดาล" มีคัดกรองมะเร็งช่องปาก 105 ราย ส่วน "เวียงสระ" ตรวจไวรัสตับอักเสบสูงสุด แจงแก้ไขตู้ Kiosk รพ.พระจอมเกล้าแล้ว หลังติดปัญหายืนยันตัวตนด้วยบัตร ปชช.ไม่ได้
เมื่อวันที่ 17 ม.ค. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการอำนวยการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข ครั้งที่ 1/2567 ว่า ที่ประชุมได้รับทราบความก้าวหน้าการดำเนินงานตามนโยบาย สธ. ทั้ง 13 ประเด็น ซึ่งปี 2567 สธ. ได้จัดทำโครงการ "พาหมอไปหาประชาชน" เฉลิมพระเกียรติพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว เนื่องในโอกาสมหามงคลเฉลิมพระชนมพรรษาครบ 6 รอบ 28 กรกฎาคม 2567 ซึ่งจะดำเนินการใน 12 เขตสุขภาพ เขตละ 6 ครั้ง รวม 72 ครั้ง เพื่อเพิ่มการเข้าถึงบริการโรคเฉพาะทางของประชาชนในพื้นที่ห่างไกล รวม 7 คลินิก ได้แก่ 1.คลินิกคัดกรองมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี 2.คลินิกคัดกรองมะเร็งปากมดลูก 3.คลินิกคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง 4.คลินิกคัดกรองมะเร็งเต้านม 5.คลินิกตาในเด็กและผู้สูงอายุ 6.คลินิกทันตกรรม และ 7.คลินิกกระดูกและข้อ และให้แต่ละพื้นที่จัดบริการคลินิกพิเศษด้านอื่นๆ เพิ่มเติมได้ตามบริบทพื้นที่
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า โครงการพาหมอไปหาประชาชนฯ ได้นำร่องเปิดตัวเมื่อวันที่ 14 ม.ค. ที่ผ่านมา ในพื้นที่ 4 จังหวัด พบว่าช่วยให้ประชาชนเข้าถึงบริการเฉพาะทางได้ถึง 8,107 ราย แยกเป็น 1.รพ.สีคิ้ว จ.นครราชสีมา จัดบริการ 11 คลินิก โดยเพิ่มคลินิกคัดกรองความเครียด คลินิกขาเทียม คลินิกตรวจตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียงความถี่สูงในเด็กและผู้ใหญ่ และคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ให้บริการรวม 2,875 ราย เป็นบริการคลินิกตามากที่สุด 947 ราย ได้รับการผ่าตัดต้อกระจก 27 ราย รองลงมาคือ คัดกรองมะเร็งเต้านม 594 ราย และคัดกรองมะเร็งตับ/ท่อน้ำดี 530 ราย 2.รพ.ลี้ จ.ลำพูน เปิด 11 คลินิก โดยเพิ่มคลินิกจิตเวช คลินิกคัดกรองวัณโรค คลินิกตรวจสุขภาพพระสงฆ์ และคลินิกตรวจโรคทั่วไป ให้บริการรวม 2,626 ราย เป็นการคัดกรองมะเร็งตับและท่อน้ำดีมากที่สุด 947 ราย รองลงมาคือ คัดกรองวัณโรค 474 ราย และคลินิกตา 393 ราย และยังมีการส่องกล้องตรวจลำไส้ใหญ่ (Colonoscopy) 98 ราย
3.รพ.ชัยบาดาล จ.ลพบุรี จัดบริการ 15 คลินิก โดยเพิ่มคลินิกผิวหนัง คลินิกสุขภาพจิต คลินิกหัวใจ คลินิกเวชศาสตร์ฟื้นฟู คลินิกแพทย์แผนไทย/มณีเวช คลินิกทั่วไป คลินิกวัคซีน และคลินิกตรวจพิเศษต่างๆ ให้บริการรวม 1,512 ราย เป็นคลินิกวัคซีนมากที่สุด 306 ราย รองลงมาคือ คัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่/ลำไส้ตรง 211 ราย คลินิกแพทย์แผนไทย 147 ราย และคัดกรองมะเร็งช่องปาก 105 ราย และ 4.รพ.สมเด็จพระยุพราชเวียงสระ จ.สุราษฎร์ธานี จัดบริการ 15 คลินิก โดยเพิ่มคลินิกวัคซีน คลินิกเด็กและผู้สูงอายุ คลินิกตรวจหัวใจด้วยคลื่นเสียง คลินิกคัดกรองวัณโรค คลินิกหลอดเลือดสมองเคลื่อนที่ คลินิกแพทย์แผนไทย คลินิกแพทย์แผนจีน และคลินิกไวรัสตับอักเสบ ให้บริการรวม 1,094 ราย เป็นการตรวจไวรัสตับอักเสบมากสุด 380 ราย รองลงมาคือ คลินิกวัคซีน 275 ราย และคัดกรองวัณโรค 78 ราย
"ถือเป็นโครงการที่ประชาชนได้รับประโยชน์อย่างมาก โดย สธ.จะจัดโครงการนี้เพื่อเฉลิมพระเกียรติตลอดทั้งปี 2567 ครั้งต่อไปวันที่ 20 ม.ค. 2567 จัดบริการที่ รพ.กมลาไสย จ.กาฬสินธุ์ จำนวน 8 คลินิก โดยเพิ่มคลินิกรับบริจาคอวัยวะ และที่ รพ.แม่สะเรียง จ.แม่ฮ่องสอน วันที่ 27 ม.ค. 2567 สำหรับตารางการออกให้บริการในครั้งถัดไป จะมีการประชาสัมพันธ์ให้ประชาชนได้ทราบเป็นระยะ" นพ.ชลน่านกล่าว
นพ.ชลน่านกล่าวว่า สำหรับนโยบาย 30 บาทรักษาทุกที่ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังเปิดดำเนินการตั้งแต่วันที่ 7 ม.ค. 2567 ในภาพรวมถือว่าประสบความสำเร็จเป็นอย่างดี แต่อาจจะมีปัญหาเล็กน้อยในบางหน่วย เช่น กรณีของ รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี ที่ผู้ป่วยต้องกรอกประวัติทำเวชระเบียนใหม่ เนื่องจากเปิดประวัติสุขภาพส่วนบุคคลผ่านตู้ Kiosk ไม่ได้ ซึ่งจากการตรวจสอบพบว่า มีข้อติดขัดเกี่ยวกับระบบลงทะเบียนผู้ป่วยใหม่ที่ต้องยืนยันตัวตนผ่านระบบ Authen Code ของ สปสช. ก่อน จึงมีการแก้ไขระบบให้ส่งข้อมูลและทำประวัติใหม่ที่ตู้ Kiosk ได้เลย รวมทั้งใช้ตู้ Kiosk ลงทะเบียนแทนการใช้กระดาษ และเพิ่มตู้ Kiosk ให้เพียงพอ ทั้งนี้ ได้ให้สถานบริการทุกแห่งในจังหวัดนำร่องติดตามปัญหาเพื่อแก้ไข ปรับปรุงระบบ ให้ประชาชนได้เข้าถึงบริการได้สะดวกที่สุด