xs
xsm
sm
md
lg

อภ.จับมือ JICA หนุนผลิต "วัควีนไข้หวัดใหญ่" ด้วยเซลล์เพาะเลี้ยง ขยายสู่ระดับอุตสาหกรรม รองรับระบาดอนาคต

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อภ.จับมือ JICA ผลักดันผลิต "วัคซีนไข้หวัดใหญ่" H7N9 ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยง ขยายจากกึ่งอุตสาหกรรมสู่อุตสาหกรรม เตรียมพร้อมป้องกันการระบาดโรคอุบัติใหม่ในอนาคต

​เมื่อวันที่ 16 ม.ค. ดร.ภญ.นันทกาญจน์ สุวรรณปิฏกกุล รองผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม (อภ.) เปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 15 ม.ค.ที่ผ่านมา อภ.และ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) โดยMr. Kazuya Suzuki, Chief Representative JICA Thailand Office ได้แถลงความร่วมมือโครงการ “Development of Domestic Cell-based Vaccine/Biologics Production Capacity in Thailand” ซึ่งจะมีบทบาทสำคัญต่อการพัฒนาความมั่นคงด้านวัคซีนของประเทศไทย และเตรียมความพร้อมด้านสาธารณสุข โดยการพัฒนาแพลตฟอร์มเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยงนี้จะทำให้พัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนต่อไวรัสสายพันธุ์ใหม่ได้อย่างรวดเร็ว และสามารถขยายขนาดการผลิตเพื่อให้รองรับสถานการณ์โรคระบาดฉุกเฉิน เช่น โรคไข้หวัดใหญ่/ไข้หวัดนก โรคโควิด-19 และโรคอุบัติใหม่อื่นๆ ในอนาคต เป็นต้น โดยในวันที่ 24 พ.ย. 2566 พญ.มิ่งขวัญ สุพรรณพงศ์ ผู้อำนวยการองค์การเภสัชกรรม และ Ms. Kitagawa Yuki, Senior Representative of JICA Thailand Office ได้มีการลงนามในเอกสารแสดงกรอบความร่วมมือ (Minutes of Meetings)


บัดนี้เอกสารแสดงรายละเอียดการดำเนินงานตามโครงการ (Record of Discussions) ได้รับการอนุมัติจาก JICA และองค์การเภสัชกรรมเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ซึ่งจะดำเนินการในช่วงปี 2567-2568 เป็นระยะเวลา 2 ปี เพื่อเร่งพัฒนาทักษะ สร้างความเชี่ยวชาญของบุคลากรองค์การเภสัชกรรม และสนับสนุนการพัฒนาโครงการพัฒนาวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงซึ่งเป็นเทคโนโลยีการผลิตวัคซีนใหม่ของประเทศ


"ข้อตกลงความร่วมมือนี้มีเป้าหมายหลัก คือ สร้างศักยภาพและทักษะความเชี่ยวชาญของนักวิจัยในโครงการพัฒนาการผลิตวัคซีนไข้หวัดใหญ่สายพันธุ์ H7N9 ด้วยเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยง ของ อภ.ที่ดำเนินการอยู่ โดย JICA จะจัดหาและส่งผู้เชี่ยวชาญจากญี่ปุ่นมายัง อภ. เพื่อสนับสนุนและให้คำปรึกษาแนะนำเชิงเทคนิคของการพัฒนากระบวนการผลิตวัคซีนจากเทคโนโลยีเซลล์เพาะเลี้ยงแก่ผู้ปฏิบัติงาน อภ. วางเป้าหมายดำเนินโครงการเพื่อสร้างทักษะสำหรับการขยายขนาดการผลิตวัคซีนสู่ระดับกึ่งอุตสาหกรรม เพื่อต่อยอดสู่การผลิตระดับอุตสาหกรรม เตรียมพร้อมป้องกันการระบาดของโรคอุบัติใหม่ในอนาคต" รอง ผอ.อภ.กล่าว


​Mr. Kazuya Suzuki กล่าวว่า JICA มุ่งมั่นสนับสนุนความร่วมมือกับประเทศไทยในการสร้างความมั่นคงของระบบสาธารณสุข และการดูแลสุขภาพ ซึ่งโครงการนี้สอดรับกับจุดประสงค์ในการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ และการถ่ายทอดเทคโนโลยี โดย JICA เชื่อว่าโครงการนี้จะส่งเสริมการผลิตวัคซีนของประเทศไทยในอีกหลายปีข้างหน้าได้อย่างมั่นคง จะมีการพัฒนาเพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการผลิตวัคซีนจากเซลล์เพาะเลี้ยงให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ด้านสาธารณสุขของประเทศไทย ที่เน้นการพึ่งพาตนเองและการเตรียมพร้อมสำหรับสถานการณ์การระบาดในอนาคต ความร่วมมือในครั้งนี้จะสะท้อนให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของประเทศไทย และประเทศญี่ปุ่นในการเสริมสร้างความมั่นคงด้านสุขภาพในภูมิภาคอย่างยั่งยืน ผ่านการแบ่งปันความรู้และความก้าวหน้าทางด้านเทคโนโลยี


กำลังโหลดความคิดเห็น