ส่องระบบ "Health Rider" รพ.พระจอมเกล้า เพชรบุรี รองรับบัตร ปชช.ใบเดียวรักษาทุกที่ ส่งยาถึงบ้านคนไข้ใน 1 วัน มีเภสัชกรเทเลแนะนำใช้ยา 100% เปิดโอกาส จนท.รพ.สมัครเข้าร่วม เพิ่มรายได้หลังเลิกงาน ได้เฉลี่ย 30 บาทต่อเคส จัดส่งในพื้นที่ อ.เมืองระยะ 15 กม. ส่วนนอกอำเภอใช้ระบบไปรษณีย์ได้ยาใน 3 วัน
ภญ.น้ำฝน แสวงภาค ผู้ช่วย ผอ.ด้านบริการด่านหน้า รพ.พระจอมเกล้า จ.เพชรบุรี กล่าวถึงบริการ Health Rider ส่งยาถึงบ้านผู้ป่วย ภายใต้การดำเนินการบัตรประชาชนใบเดียว รักษาทุกที่ ซึ่ง จ.เพชรบุรี เป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ว่า จริงๆ บริการส่งยาถึงบ้านผู้ป่วยเรามี อสม.และไรเดอร์จัดส่งยาถึงบ้าน แต่ส่วนที่เป็น Health Rider นั้นเพิ่งเริ่มมี ในช่วงที่คิกออฟบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ โดยเราให้เจ้าหน้าที่ รพ.ที่มี Provider ID สมัครเข้าร่วมโครงการมาเป็น Health Rider ถือเป็นการรับงานพิเศษหรือจ็อบเพิ่มเติมหลังเลิกงาน พอเลิกงานก่อนกลับบ้านก็จะไปแวะห้องยาเพื่อเอายาไปส่งให้คนไข้ โดยระบบการส่งยานั้นเราจะมีบริษัทโลจิสติกส์เอกชนรับช่วงตรงนี้ไป เพราะจะมีแอปพลิเคชันที่เชื่อมข้อมูลกับ รพ. เพื่อระบุและติดตามที่อยู่คนไข้ในการส่งยาถึงบ้าน เพราะหากให้เจ้าหน้าที่ไปเองก็จะไม่รู้ว่าต้องไปหลังไหน และจะมีการแบ่งเปอร์เซ็นต์ให้ รพ. บริษัทเอกชน และรายได้ให้เจ้าหน้าที่
"เมื่อก่อนจะเป็นไรเดอร์ทั่วๆ ไป แต่โครงการนี้เราสนับสนุนให้เจ้าหน้าที่เรามีรายได้มากขึ้น เมื่อก่อนจะเป็น อสม. ตอนนี้เลยชวนเจ้าหน้าที่พอทำงานเสร็จก็ไปได้เลย จะรับยาไปส่งทางที่ใกล้บ้าน หากคนไข้คนนี้อยู่โซนนี้ เจ้าหน้าที่อยู่ทางนี้เช่นกัน บริษัทก็จะส่งออเดอร์ไปให้เจ้าหน้าที่คนนี้ ขณะนี้มีสมัครเข้ามาประมาณ 5-10 คน และจะขยายไปเรื่อยๆ โดยเจ้าหน้าที่ รพ.สามารถสมัครได้ทุกคนทุกวิชาชีพ อย่างเจ้าหน้าที่ไอทีบ้านอยู่ชะอำ ขับรถยนต์มา ไหนๆ ก็ขับกลับบ้านอยู่แล้ว ก็จะขับไปส่งยา ซึ่งไม่จำเป็นต้องเป็นมอเตอร์ไซค์ เป็นรถยนต์ก็ขับไปส่งยาได้" ภญ.น้ำฝนกล่าว
ภญ.น้ำฝนกล่าวต่อว่า คนไข้ที่ใช้บริการ Health Rider ส่งยา จะมีทั้งคนไข้ที่มารับบริการที่ รพ.แต่ไม่ประสงค์รับยาที่ รพ. กับคนไข้ที่เทเลเมดิซีนแล้วต้องการรับยาที่บ้าน แต่ยาที่จะส่งนั้นจะมีการจำกัด โดยมีเภสัชกรคอยสกรีนก่อนว่าเคสนี้ส่งได้หรือไม่ได้ เป็นยาเดิมไหม เพราะมีข้อกำหนดว่าเคสนี้คนไข้ต้องมียาเหลือ ส่วนยาแช่เย็นเราจะไม่ส่งเลย จะส่งไปทางร้านขายยาเท่านั้น โดยรถ รพ.นำส่งไป ยาที่มีผลต่ออุณหภูมิที่ไม่สามารถเก็บอุณหภูมิห้องได้ ก็ให้ไปรับร้านยา ทั้งนี้ ข้อดีของไรเดอร์คือส่งถึงภายใน 1 วัน จะส่งภายในอำเภอเมืองเพชรบุรี ระยะ 15 กิโลเมตร จะมีเภสัชกรโทรไปแนะนำการใช้ยาทุกเคส 100% ภายในวันนั้นหรือช้าสุดคือเช้าวันพรุ่งนี้ ส่วนอำเภออื่นจะส่งระบบ Express ใช้ระบบโลจิสติกส์ของ One Platform ที่จะจ้างกับ Kerry Flash และไปรษณีย์ เขาก็จะเรียกมารับ ซึ่งจะเสีย 55 บาท ส่งทั่วประเทศไทย แต่ไปรษณีย์จะใช้เวลาประมาณ 3 วัน ระยะก็จะนานขึ้น แต่เราคัดกรองแล้วว่าส่งทางไปรษณีย์คือสามารถรอได้ ไม่เกิน 3 วันก็จะโทรไปแนะนำการใช้ยา
"คนไข้ส่วนใหญ่ก็อยากใช้บริการส่งถึงบ้าน แต่เทียบสัดส่วนแล้วผู้ป่วยนอกที่ส่งยากลับบ้านได้มีประมาณ 8% เพราะมีคนไข้บางคนที่มีความจำเป็นต้องเริ่มยาเลย หรือต้องกินยาแลยวันนี้ บางทีเป็นยาฆ่าเชื้อ เป็นต้น ก็ต้องรอรับยาที่ รพ. ไม่สามารถรับยากลับไปที่บ้านได้ ซึ่งตามปกติแล้วจะรอรับยา 30 นาที ช่วงชั่วโมงเร่งด่วนไม่เกิน 1 ชั่วโมง ส่วนคนไข้ที่จะรับยาที่บ้าน หากเคยรับบริการแล้วจะรับบริการเรื่อยๆ เพาะจะขึ้นสถานะที่ห้องยาว่าเคยรับยาที่บ้าน ก็ถามว่าสะดวกไหมรับยาที่บ้านไหม หากบอกสะดวกก็ให้เบอร์แล้วกลับบ้านได้เลย ทำให้ไม่ต้องเสียเวลารอ" ภญ.น้ำฝนกล่าว
สำหรับค่าใช้จ่ายส่งยาที่บ้านนั้น ผู้มีสิทธิบัตรทองไม่เสียค่าใช้จ่าย โดย สปสช.สนับสนุนค่าใช้จ่าย ซึ่งเราเอางบส่วนนี้มากระจายรายได้ให้เจ้าหน้าที่และ รพ. แต่ถ้าเป็นสิทธิประกันสังคมและข้าราชการ เราจะเก็บเงินปลายทาง เราเก็บอยู่ที่ 55 บาทต่อคนต่อครั้ง ส่วนปริมาณการส่งยาต่อคนนั้นแต่ละคนจะไม่เท่ากัน แต่โดยประมาณอยู่ที่ 5 หลัง เพราะถ้ารับจ็อบเยอะคนไข้จะได้ยาช้า ส่วนรายได้ที่จะได้เพิ่มนั้น จะอยู่ที่เฉลี่ยประมาณ 30 บาทต่อเคส สมมติส่ง 5 บ้าน ก็ได้ 150 บาท ซึ่งตอนนี้ยังไม่ได้เบิกจ่ายเงิน เพราะเพิ่งเริ่มดำเนินการ โดยเราจะเบิกเงินเป็นรายเดือน ซึ่งการเบิกเงินเราทำผ่านระบบพัสดุ รพ.