xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" แจงขยายสิทธิ "ลาคลอด" ต้องรอร่าง "วาระชาติ" ผ่าน ผุด "คณะอำนวยการส่งเสริมการเกิด" ชงเรื่อง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" ติดตาม 4 นโยบาย สธ. "รพ.ราชวิถี" ทำ รพ.เสมือนจริง Virtual Hospital เกือบ 4 เดือน ดูแลผู้ป่วย 1.7 พันคน รักษารับยาเจาะเลือดที่บ้าน รวมถึง IPD Home Ward คลินิกส่งเสริมมีบุตร หากวาระชาติผ่าน ตั้ง คณะอำนวยการส่งเสริมการเกิด ชงขยายสิทธิลาคลอดเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 15 ม.ค. ที่ รพ.ราชวิถี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังติดตามนโยบาย สธ. ว่า วันนี้มาดูการนำนโยบายสู่การปฏิบัติ ซึ่ง รพ.ราชวิถีเป็น รพ.ระดับตติยภูมิให้บริการเป็นเลิศเฉพาะทาง เกี่ยวข้องกับนโยบาย สธ.หลายประเด็น ทั้งโครงการเฉลิมพระเกียรติ มะเร็งครบวงจร การส่งเสริมการเกิด เกี่ยวกับควิกวินที่เราประกาศ ภายใต้นโยบาย "ยกระดับ 30 บาท" เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพระบบบริการและคุณภาพชีวิตประชาชน โดยมีผลสำเร็จใน 4 ประเด็น ได้แก่ 1.ดิจิทัลสุขภาพ ให้บริการ Virtual Hospital ผู้ป่วยเข้าถึงบริการได้ทุกที่ สะดวกสบาย ประหยัดเวลา ลดค่าใช้จ่ายการเดินทาง ด้วยบริการครบวงจรเหมือนเข้ารับบริการใน รพ.จริง พูดคุยตอบโต้กับแพทย์ได้แบบ Real-time สามารถเจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้าน ชำระเงินออนไลน์ เบิกจ่ายตามสิทธิ รับยาทางไปรษณีย์ ให้บริการทั้งผู้ป่วยใหม่และผู้ป่วยเก่าที่เข้าเงื่อนไข เช่น ผู้ป่วยมีอาการคงที่ ไม่เร่งด่วน ไม่มีโรคประจำตัวร้ายแรง สามารถพูดคุยกับหมอผ่านระบบออนไลน์ได้

"มีผู้เข้ารับบริการแล้วมากกว่า 1,700 ราย และยังมีฐานข้อมูล Digital Medical Services ที่เชื่อมโยงข้อมูล รพ.ในส่วนภูมิภาคทุกระดับเข้ากับ รพ.สังกัดกรมการแพทย์ ให้การปรึกษาดูแลผู้ป่วยที่มีความยุ่งยากซับซ้อนผ่านระบบ Teleconsult และส่งข้อมูลให้แพทย์ผู้เชี่ยวชาญได้ล่วงหน้า ทำให้ผู้ป่วยที่ต้องส่งต่อมายัง รพ.สังกัดกรมการแพทย์ ได้รับการรักษาที่เหมาะสมอย่างรวดเร็ว" นพ.ชลน่านกล่าว

2.เปิดคลินิกส่งเสริมการมีบุตร ส่งเสริมการตั้งครรภ์ที่มีคุณภาพอย่างยั่งยืน เน้นตรวจคัดกรองคู่รักอย่างครอบคลุม และดูแลเฉพาะราย ให้บริการแล้ว 47 คู่ พบความผิดปกติและส่งเข้ารักษาภาวะมีบุตรยาก 12 คู่ ซึ่งมีตั้งแต่การฉีดน้ำอสุจิเข้าสู่โพรงมดลูก การทำเด็กหลอดแก้ว และการทำอิ๊กซี่ หรืออย่างเขตสุขภาพที่ 10 ก็ตั้งเป้าทำเด็กหลอดแก้วปีละ 10 ราย ก็จะไปตั้งงบประมาณที่เรามีอยู่ไปสนับสนุนส่งเสริม เพราะค่าใช้จ่ายค่อนข้างแพง ตกเคสละ 1 แสนบาท


3.การสร้างขวัญกำลังใจบุคลากร ด้วย Care D+ Team ลดช่องว่างการสื่อสารระหว่างผู้ให้และผู้รับบริการ โดยให้บริการมากกว่า 4,000 ราย/วัน ส่วนใหญ่ 80% เป็นการให้ข้อมูลเกี่ยวกับขั้นตอนการรับบริการ ซึ่งพบว่า ผู้รับบริการมีความพึงพอใจในระดับดีมาก และได้รับคำชมเชยเพิ่มขึ้น 47% และ 4.การจัดตั้งโรงพยาบาล ประจำเขตดอนเมือง ได้แก่ รพ.ราชวิถี 2 (รังสิต) ซึ่งเป็นบริการร่วมระหว่าง รพ.ราชวิถี 2 และ รพ.ทหารอากาศ (สีกัน) ปัจจุบันเปิดให้บริการหอผู้ป่วยใน 84 เตียง แผนกฉุกเฉิน 24 ชั่วโมง ทำให้มีอัตราเตียงรองรับผู้ป่วยพื้นที่เขตดอนเมือง เพิ่มขึ้นจาก 0.78/1,000 ประชากร เป็น 1.62/1,000 ประชากร

ถามว่าจะมีการขยาย รพ.ประจำเขตโซนอื่นๆ เพิ่มอีกหรือไม่ หลังเริ่ม รพ.เขตดอนเมืองและกำลังเปิด รพ.นพรัตนราชธานี คุ้มเกล้า เขตมีนบุรี นพ.ชลน่านกล่าวว่า เรามีนโยบาย 50 เขต 50 รพ.กทม. ต้องการเติมเต็มทุกจุดที่มีปัญหา ที่นำร่องเพื่อดูความพร้อมความเป็นไปได้ เพราะการบริการสาธารณสุขโดยรวมใน กทม. เป็นการจัดบริการสาธารณะของ กทม.ที่เป็นท้องถิ่นพิเศษ เราจะไปเติมเต็มในส่วนที่มีความจำเป็นหรือส่วนที่ขาด ไม่ได้แย่งงาน กทม.ทำ ส่วนที่ถามว่าจะเปิดเป็น 4 มุมเมืองเลยหรือไม่นั้น กำลังพิจารณาอยู่

ถามถึง รพ.เสมือนจริง รพ.ราชวิถี จะขยายที่อื่นด้วยหรือไม่ พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ อธิบดีกรมการแพทย์ ช่วงแรกใฝนส่วนของ รพ.กรมการแพทย์จะมุ่งทำเพื่อถอดเป็นประสบการณ์และองค์ความรู้ เพื่อตอบสนองนโยบายขยายต่อไปที่จะตอบโจทย์ประชาชนได้

นพ.จินดา โรจนเมธินทร์ ผอ.รพ.ราชวิถี กล่าวว่า รพ.เสมือนจริงเราเริ่มตั้งแต่ ต.ค. 2566 ปัจจุบันมีคนไข้เข้าสู่ระบบบริการ 1,700 กว่าราย หลักการคือ ไม่จำเป็นต้องเป็นคนไข้ใหม่หรือเก่า แต่ต้องรับบริการเสมือนหนึ่งมา รพ.จริง ตั้งแต่กระบวนการตรวจยืนยันสิทธิ ทำเวชระเบียบตรวจสอบสิทธิ เข้าสู่บริการ เมื่อตรวจกับหมอเสร็จก็สามารถรับยาที่บ้านได้ เจาะเลือดที่บ้านหรือใกล้บ้านได้ รวมถึงหากมีความจำเป็นต้องรับเป็นผู้ป่วย ก็สามารถรับเป็น IPD Home Ward ได้


ถามถึงการส่งเสริมการมีบุตรจะผลักดันเรื่องขยายวันลาคลอดหรือค่าคลอดเพิ่มเติมหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า เมื่อวันที่ 25 ธ.ค.ที่ผ่านมา มีการเสนอร่างวาระแห่งชาติส่งเสริมการเกิดอย่างมีคุณภาพ เพื่อนำส่ง ครม. เพราะว่าเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ทุกภาคส่วนต้องเข้ามามีส่วนร่วม ปัญหาที่ทำให้คนรุ่นใหม่ไม่มีลูกหรือมีลูกน้อยหรือไม่อยากมีลูก เกิดจากภาวะมิติด้านเศรษฐกิจ สังคม สิ่งแวดล้อม เรื่องความมั่นคง และความปลอดภัยเป็นหลัก หลายคนตัดสินใจไม่มีลูก การแก้ไขปัญหาเหล่านี้ต้องสร้างกระบวนการการมีส่วนร่วม โดยเฉพาะสร้างทัศนคติที่ดีให้กับคนรุ่นใหม่ ว่าการมีลูกเป็นการให้ที่ยิ่งใหญ่ รพ.ราชวิถีเรามีรูปปั้นแม่อุ้มลูก เพราะเกิดจากที่ครั้งหนึ่งเรามีสถานการณ์การเกิดน้อยมาก จึงรณรงค์ยกย่องให้แม่ผู้ให้กำเนิดเป็นเสมือนวีรสตรีของชาติ

"แนวคิดนี้ต้องให้คนที่ให้การเกิดเป็นบุคคลสำคัญของประเทศ ต้องปรับวิธีคิด โดยบนพื้นฐานเตรียมความพร้อมให้มีความมั่นใจ ว่าจะเข้าสู่เรื่องของการเกิดอย่างคุณภาพได้อย่างไร ขณะท้องอยู่ ดูแลลูกในท้องเป็นอย่างไร ขณะเกิดเกิด หลังเกิด 2 ปีแรก และ 6 ปีเป็นอย่างไร ต้องทำให้เขามีความมั่นใจ อย่างเดิมลาคลอดได้ 3 เดือน 90 วัน รับเงินเดือน บางแห่งอาจลาได้ 180 วันแต่ไม่ได้รับเงินเดือน เรื่องเหล่านี้ก็จะเป็นข้อเสนอเข้าไป เป็นได้หรือไม่ลาคลอด 6 เดือน หรือจะส่งเสริมให้มีคลินิกเด็กตั้งแต่ 2-3 เดือน หรือ 6 เดือนขึ้นไป" นพ.ชลน่านกล่าว

ถามว่า สธ.จะเป็นคนเสนอเรื่องการขยายวันลาใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า คณะกรรมการการอนามัยเจริญพันธุ์แห่งชาติที่ทำร่างวาระแห่งชาติ หากรับการประกาศจาก ครม.และนายกรัฐมนตรี ก็จะมีคณะอำนวยการส่งเสริมการเกิดแห่งชาติขึ้นมา คณะกรรมการชุดนี้จะเป็นผู้ดำเนินการ


กำลังโหลดความคิดเห็น