รพ.ธัญบุรี ใช้ศาสตร์แผนไทย "สุมยาสมุนไพร" ในหม้อดินสร้างกลิ่นอโรมา ช่วยผู้ป่วยโรคหืด-ปอดอุดกั้นเรื้อรัง หายใจโล่งคล่องขึ้น ขับเสมหะค้างท่อ หลังทำ 10-15 นาที แนะทำ 1-2 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือทำเองที่บ้านได้ช่วงหน้าฝน-หน้าหนาวลดอาการกำเริบ
นางศศิภาส์ อริสริยวงศ์ พยาบาลวิชาชีพชำนาญการ หัวหน้างานวิจัยและพัฒนา หัวหน้าทีมคลินิกโรคหืดและโรคปิดอุดกั้นเรื้อรัง รพ.ธัญบุรี กล่าวว่า การดำเนินงานของคลินิกโรคหืดและโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง (EACC) รพ.ธัญบุรี เราเน้นการดูแลแบบสหาขาวิชาชีพ นอกจากแพทย์แผนปัจจุบันแล้ว เรายังมีแพทย์แผนไทยเข้ามาร่วมดูแลด้วย คือ มีศาสตร์เรื่องการสุมยา ที่ช่วยบำรุงทางเดินหายใจได้ดี รักษาทางเดินหายใจให้คนไข้รู้สึกหายใจได้โล่งขึ้น เพราะเราใช้สมุนไพรมาสุมยาเป็นอโรมา เมื่อคนไข้เรามา รพ.จะได้ทั้งแพทย์แผนปัจจุบันคือรับยา และสามารถรับบริการสุมยาตรงนี้ได้ โดยพยาบาลจะผู้ประเมินว่า คนไข้มีปัญหาแพ้อโรมา น้ำมันหอมระเหยหรือไม่ หากไม่แพ้ก็สามารถสุมยาได้ทุกคน ซึ่งคนไข้สามารถมาทำได้เรื่อยๆ ไม่จำเป็นว่าจะต้องมีอาการถึงมาทำ ไม่เพียงเท่านั้น เรายังมีการแจกโบร์ชัวร์ให้คนไข้สามารถนำกลับไปทำเองที่บ้านได้ด้วย
น.ส.แพรวพรรณ ช่วยมี แพทย์แผนไทย รพ.ธัญบุรี กล่าวว่า การสุมยานั้นเราจะใช้สมุนไพรสด ที่จะมีกลิ่นน้ำมันอโรมาจากสมุนไพร เมื่อคนไข้สูดดม สรรพคุณจะเข้าระบบทางเดินหายใจ ช่วยละลายเสมหะ ขับเสมหะที่ค้างท่อได้ง่ายขึ้นด้วย โดยสูตรของ รพ.คือ "ข่า" ช่วยเรื่องการละลายเสมหะ ลดการอักเสบทางเดินหายใจได้ "หอมแดง" ช่วยขับเสมหะได้ "การบูร" ช่วยลดการอักเสบเช่นกัน "ตะไคร้" เป็นน้ำมันหอมระเหย และ "ผิวมะกรูด" เป็นน้ำมันหอมระเหย เมื่อคนไข้รับเข้าไปจะรู้สึกสบาย ผ่อนคลาย โดยกลิ่นมะกรูดจะเป็นกลิ่นเปรี้ยว ช่วยชำระล้างเสมหะได้ง่ายขึ้นด้วย โดยเราจะนำสมุนไพรดังกล่าวมาใส่หม้อดินที่จะเก็บความร้อนได้นานกว่าหม้อสแตนเลส และใส่น้ำร้อนเข้าไป ซึ่งน้ำมันหอมระเหยจะเกิดขึ้นมาโดยใช้จุดความร้อนที่ต่ำ และนำไปให้คนไข้สุมยา
"เราจะตั้งหม้อสุมยาบนโต๊ะ แล้วให้คนไข้ใช้ผ้าคลุมศีรษะครอบหม้อไว้ เพื่อลดแรงลมที่จะทำให้อโรมาระเหยออกไป โดยให้หายใจเข้าทางจมูกและหายใจออกทางปาก เป็นฝึกการหายใจที่ถูกต้องด้วยโดยทำประมาณ 10-15 นาทีต่อครั้ง" น.ส.แพรวพรรณกล่าว
น.ส.แพรวพรรณกล่าวว่า เรามีการเก็บข้อมูลผลลัพธ์ระหว่างก่อนและหลังสุมยา โดยมีการใช้ Peak Flow Meter ทดสอบก่อนและหลังสุมยา เพื่อวัดสมรรถภาพปอด พบว่า 100% ประเมินสมรรถภาพปอดดีขึ้น คนไข้บอกว่ารู้สึกหายใจโล่งขึ้น มีสบายใจและพึงพอใจ ส่วนการขับเสมหะขึ้นกับรายบุคคล บางคนมีความเหนียวหนืดมากอาจจะได้น้อยหน่อย แต่หากเป็นหวัดหรือเป็นเฉพาะช่วงเช้าก็จะขับขากออกง่ายขึ้น บางคนบอกว่าเสมหะไหลออกมาโดยไม่ต้องใช้แรงกำจัดออกมามาก ก็จะรู้สึกสบายขึ้น หายใจอิ่มท้องขึ้น สำหรับความถี่ในการสุมยา แนะนำคนไข้ว่ามาทำต่อได้ สัปดาห์ละ 1-2 ครั้ง เราจะมีจุดให้บริการทุกวันพุธที่มีคลินิก EACC ซึ่งการสุมยาอยู่ในสิทธิการรักษาของผู้ป่วยทั้ง 3 กองทุนสุขภาพ หลักประกันสุขภาพ ประกันสังคม ข้าราชการ สามารถเบิกจ่ายได้ อย่างไรก็ตาม ช่งหน้าหนาวและหน้าฝนที่อาการอาจจะกำเริบบ่อย ก็แนะนำให้ทำบ่อยขึ้นได้เองที่บ้านในช่วงที่มีอาการได้เลย