xs
xsm
sm
md
lg

"ชลน่าน" พอใจรักษาทุกที่ ให้ 80 คะแนน ตรวจ รพ.ชะอำ พบผู้ป่วยนอกเพิ่มแค่ 4% จัดของบ 6.2 พันล. รองรับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" พอใจให้ 80 คะแนน หลังคิกออฟบัตร ปชช.รักษาทุกที่เกือบสัปดาห์ หักคะแนนคอขวดยืนยันตัวตนทำ Health ID ส่องการทำงาน รพ.ชะอำ พบตัวเลขผู้ป่วยนอกเพิ่มขึ้น 4% กว่าครึ่งมาจากคนต่างถิ่น อยู่ในเกณฑ์ปกติ ทำงบปี 67 หนุนโครงการรักษาทุกที่แล้ว 6,200 กว่าล้านบาท ลุยหารือขยายสิทธิอื่น

เมื่อวันที่ 13 ม.ค. ที่ รพ.ชะอำ จ.เพชรบุรี นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังติดตามการเดินหน้า 30 บาทรักษาทุกที่ ด้วยบัตรประชาชนใบเดียว หลังคิกออฟเมื่อวันที่ 7 ม.ค.ที่ผ่านมา ว่า เพชรบุรีเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง ซึ่ง รพ.ชะอำก็เข้าร่วมโครงการ สิ่งที่เห็นวันนี้คือ สร้างความสะดวกสบายและเข้าถึงบริการของผู้มารับบริการ ให้ง่ายและมีคุณภาพมาตรฐาน ใช้บัตรประชาชนใบเดียวมาแสดงตัวตนเข้ารับการรักษาได้เลย โดยผู้ที่แสดงตัวตนตัวเองมี Health ID พร้อมแล้วจะง่าย แต่หากเป็นรายใหม่ก็ต้องใช้เวลาในการยืนยันตัวตนเข้าสู่ระบบก่อนให้มี Health ID ก่อน ตรงนี้จะเป็นจุดช้า

"ในมุมคนกำกับนโยบาย เราให้คะแนนมากกว่า 80 หลังเปิดแล้วยังไม่มีเสียงว่าไม่มีความพึงพอใจ แต่อาจมีปัญหาเล็กน้อย เช่น ผู้มารับบริการยังไม่ได้แสดงตัวตน เป็นคอขวดทำให้ช้า 20% เราก็หักตรงนี้ แต่เราไม่ได้โทษผู้ให้บริการ โทษเชิงระบบต้องไปปรับแก้ไม่ให้เป็นคอขวด" นพ.ชลน่านกล่าว


นพ.ชลน่านกล่าวว่า ส่วนเรื่องการใช้สิทธิข้ามเขตที่เป็นคำถามมาก รพ.ชะอำแสดงตัวเลขว่าเพิ่ม 4-5% ก็ถือว่าปกติ ซึ่งที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญมากกว่า 50% คือ คนต่างจังหวัดที่เข้ามาทำงานที่นี่ แต่เป็นการเพิ่มด้วยความจำเป็น เพราะแม้อยู่ต่างถิ่นแต่ก็มีการทำงานในบริเวณพื้นที่นี้ ตรงนี้เรารับได้ เพราะเป็นเจตจำนงของเราอยู่แล้ว สิทธิอื่นก็เริ่มมาใช้บริการ รพ.ชะอำ เป็นเครือข่ายของประกันสังคม เลยไม่มีปัญหา สามารถผสมผสานการบริการได้ ใช้บัตรประชาชนยืนยันก็ใช้สิทธิประกันสังคม รพ.ก็เบิกจ่ายได้ ภาพเหล่านี้จะขยายให้กว้างขึ้นทุกสิทธิเข้าถึงการบริการสะดวกแบบนี้ได้ แต่ต้องมีการพูดคุยกันแต่ละสิทธิ

"รพ.ชะอำเป็นตัวอย่างที่ดีในเรื่องของประชากรแฝง ซึ่งชะอำมีประชากรประมาณ 6 หมื่นคน มีประชากรแฝงรวมประมาณแสนคน มีคนต่างถิ่น ต่างจังหวัดมาใช้บริการด้วยบัตรประชาชนใบเดียวเช่นกัน ไม่ว่าอยู่จังหวัดไหน ประชากรแฝงที่นี่ที่มาทำงานทั้งบัตรทอง ประกันสังคม หรือสิทธิอื่น ใกล้ที่นี่สะดวกก็มาที่นี่เลย เป็นการบอกเชิงการเข้าถึงที่เป็นธรรมทั่วถึง" นพ.ชลน่านกล่าว


นพ.ชลน่าน กล่าวว่า จากบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ในอนาคตสามารถขยายไปยังสิทธิอื่นๆ อย่างประกันสังคม เรากำลังพูดคุยกันอยู่ เพราะเรามุ่งหวังว่า ทุกสิทธิควรได้รับความสะดวกเหมือนกัน จะคล้ายๆกับโครงการ UCEP เอาแนวคิดนี้มาคุยกันว่าน่าจะเป็นไปได้ สำนักงานประกันสังคม (สปส.) ก็อาจต้องไปแก้กฏระเบียบให้สถานพยาบาลในเครือข่ายของประกันสังคมใช้ที่ไหนในเครือข่ายได้เช่นเดียวกันเหมือนการใช้บัตรประชาชนใบเดียวของบัตรทอง ซึ่งขณะนี้กำลังหารือกันอยู่

“สำหรับการเบิกจ่ายเงินนั้น ทำได้แค่ 2 ทาง คือ 1.เบิกตรงกับประกันสังคม หรือ 2.หาก สปส.ไม่อยากตามจ่ายทุกสถานบริการ ทาง สปสช. มีหน้าที่จ่ายแทนก่อนและไปเคลมต่อ ที่เรียกว่า เคลียริงเฮาส์ ก็เป็นอีกทางเลือกได้“ นพ.ชลน่าน กล่าว

นพ.ชลน่านกล่าวว่า นอกจากผู้มารับบริการที่แสดงตัวตน Health ID แล้ว ผู้ให้บริการก็ต้องยืนยันตัวตนด้วย คือ Provider ID เป็นระบบตรวจสอบซึ่งกันและกัน เพราะมีสิทธิเข้าดูประวัติรักษาพยาบาลได้ รพ.ชะอำทำได้เกือบครอบคลุมแล้ว อย่างแพทย์ได้เกือบ 70% แล้ว ทั้งนี้ เราให้ความสำคัญเรื่องความปลอดภัยของข้อมูลทั้งส่วนบุคคลหรือระบบ ชั้นความลับการเปิดเผยข้อมูลส่วนบุคคล เราวางระบบไว้ โดยทำตามกฎหมายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล PDPA คือ วางระบบเปิดปิด เช่น ผู้มารับบริการประสงค์ไม่เปิดเผยข้อมูลก็ปิดในแอปพลิเคชันที่ตัวเองมีอยู่ในหมอพร้อม หรือใน Personal Health Record (PHR) ที่มีอยู่ ก็ไม่มีคนเข้าถึงได้ เว้นแต่อนุญาต เช่น มาเจอหมออนุญาตโดยเสียบบัตรประชาชนเปิดให้ หมอก็ดูได้ ผู้ให้บริการก็เช่นกันสามารถป้องกันข้อมูลตัวเองได้ ในเชิงระบบเราวางมาตรการเฝ้าระวังป้องกันการโจมตีทางไซเบอร์และมีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเข้ามาทำงานร่วมกัน


ถามถึงงบประมาณ 300 ล้านบาทสนับสนุนการเดินหน้าใน 4 จังหวัด และอนาคตจะเพิ่มงบประมาณเพื่อรองรับหรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า การจะทำให้สำเร็จได้ ปัจจัยนอกจากบุคลากร ความพร้อมเชิงระบบแล้ว เรื่องงบประมาณก็สำคัญ อย่างปีนี้เป็นปีเริ่ม ซึ่งงบประมาณที่เสนอในร่าง พ.ร.บ.งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ. 2567 เฉพาะโครงการบัตรประชาชนรักษาทุกที่ที่เป็นเรื่องใหม่ ไม่เคยมีในแผนเบิกจ่ายงบประมาณ เสนอรวม 6,200 กว่าล้านบาท ส่วนที่เป็นแผนงานโครงการที่เสมือนเดิม เช่น มะเร็งครบวงจร ฉีดวัคซีนป้องกันมะเร็งปากมดลูก อยู่ในแผนงานเดิม ก็ใช้งบประมาณไปพลางก่อนของงบปี 2566 ได้ และงบประมาณกองทุนบัตรทองปี 2568 ที่กำลังเข้าสู่สภา เราขอไป 2.3 แสนล้านบาท

ถามว่าหากครอบคลุมทุกจังหวัดสามารถหางบมาเติมได้ใช่หรือไม่ นพ.ชลน่านกล่าวว่า ปลัด สธ.และผู้บริหาร สธ.ได้เตรียมมาตลอด โครงสร้างพื้นฐานพวกครุภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ วางไว้หมดแล้ว ตอนแรกตนกังวลว่าใช้งบสูงมาก แต่วางไว้เกือบทุก รพ.แล้ว เราเลยกล้าประกาศเป็นสมาร์ทฮอสปิทัล สิง่ที่ต้องเติ่มเต็มคือซอฟต์แวร์ เครื่องมือป้องกันความปลอดภัย การอบรมเทรนนิ่งเพิ่มเรื่องเทเลเมด เทเลฟาร์มาซี อสม. ค่าใช้จ่ายในการฝึก อสม.เป็นสมาร์ท อสม. เรามีแล้ว 40%

ด้าน นพ.ประกาศิต ชมชื่น ผอ.รพ.ชะอำ กล่าวว่า ผลการดำเนินงานหลังคิกออฟบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ของรพ.ชะอำ พบว่า ผู้ป่วยนอกที่มารับบริการวันที่ 8-11 ม.ค. 2567 มีจำนวน 3,613 คน เฉลี่ย 903 คนต่อวัน เพิ่มขึ้นประมาณ 4% สาเหตุที่มารับบริการ คือ 11% อุบัติเหตุ (หกล้ม มีดบาด) 20% ฉุกเฉิน เช่น ปวดท้อง ติดเชื้อทางดินหายใจ เจ็บหน้าอก 27% มาทำแผลต่อเนื่อง และ 42% เจ็บป่วยทั่วไปไม่ฉุกเฉิน ปวดหัว ผื่นคัน ทั้งนี้ ประชาชนยืนยันตัวตน Health ID แล้ว 42.75% ผู้ให้บริการยืนยันตัวตนแล้ว คือ แพทย์ 61.11% ทันตแพทย์ เภสัชกร เทคนิคการแพทย์ ครบ 100%

ถามว่าลดภาระงานบุคลากรลดลงมากน้อยแค่ไหน นพ.ประกาศิตกล่าวว่า ที่ลดเยอะคือส่งยา เพราะคนไข้ไม่ต้องรอรับที่ห้องยา ระยะเวลารอคอยก็ไม่มี ก็ไปรอที่บ้าน ก็ลดเวลารอคอยคนไข้ด้วย ส่วนอื่นก็จะค่อยๆ ปรับไปเพราะเพิ่งเริ่ม ส่วนอนาคตห้องบัตรหรืออะไรที่เป็นเอกสารก็จะน้อยลง

ถามว่า รพ.ชะอำ สามารถลดเวลารอคอยการรักษาลงมากน้อยแค่ไหน นพ.ประกาศิตกล่าวว่า เมื่อก่อน รพ.ชะอำอาจจะใช้เวลาประมาณครึ่งวัน ก็เหลือ 1-2 ชั่วโมง เพื่อกลับได้ช่วงเช้าไม่ต้องถึงบ่าย


กำลังโหลดความคิดเห็น