‘โรช’ ชวนแพทย์ จุฬาฯ อัพเดทตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเก็บตัวอย่าง HPV DNA Self-Sampling ช่วยหญิงไทยลดเสี่ยงมะเร็งปากมดลูก เผยผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเกือบ 10,000 รายต่อปี 50% เสียชีวิต ย้ำตรวจคัดกรองพบตั้งแต่เริ่มแรก เพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้ ระบุ HPV DNA Self-Sampling มีความไวในการตรวจพบถึง 92 % ‘มะเร็งปากมดลูก’ เป็นโรคมะเร็งที่เป็นสาเหตุการเสียชีวิตอันดับต้นๆ ของผู้หญิงไทย ซึ่งมะเร็งปากมดลูกพบมากในเพศหญิงตั้งแต่วัยสาวถึงวัยชรา จึงถือเป็นปัญหาสาธารณสุขสำคัญที่ควรได้รับการแก้ไข โดยในประเทศไทยมีอุบัติการณ์การเกิดมะเร็งปากมดลูกอยู่ที่ 11.1 ต่อประชากร 100,000 คน
เดือนมกราคม เป็นเดือนที่องค์การด้านโรคมะเร็งทั่วโลก พร้อมใจกันรณรงค์ต้านภัยมะเร็งปากมดลูกองค์กรอนามัยโลก(WHO) ให้ความสำคัญกับการกำจัดมะเร็งปากมดลูก โดยแนะนำให้แต่ละประเทศเร่งฉีดวัคซีนป้องกันการติดเชื้อ HPV ครอบคลุม 90% ในเด็กผู้หญิงอายุต่ำกว่า 15 ปี พร้อมทั้งตรวจคัดกรองในกลุ่มผู้หญิงอายุ 35 ปี ครอบคลุม 70% และต้องให้การรักษาผู้หญิงที่เป็นระยะก่อนมะเร็งและมะเร็งระยะลุกลามให้ครอบคลุม 90%
เมื่อวันที่ 8 มกราคม 2567 รศ.นพ.วิชัย เติมรุ่งเรืองเลิศ ภาควิชาสูติศาสตร์-นรีเวชวิทยา คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย “อัพเดทภาพรวมการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง HPV DNA Self-Sampling กับก้าวต่อไปในการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกในสตรี” จัดโดยบริษัท โรช ไดแอกโนสติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด ว่ามะเร็งปากมดลูกเป็นมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับต้นๆ ของมะเร็งในสตรีไทย ปัจจุบันพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกเกือบ 10,000 ราย และ 50% ของผู้ป่วยจะเสียชีวิต
“มะเร็งปากมดลูกเกิดจากเชื้อไวรัสฮิวแมน ปาปิโลมา ไวรัส หรือเอชพีวี (Human Papillomavirus :HPV) ซึ่งมากกว่า 99% ติดต่อจากการมีเพศสัมพันธ์ โดยมีเชื้อ HPV ประมาณ 14สายพันธุ์ ที่มีความเสี่ยงสูงในการก่อมะเร็งปากมดลูก โดยเฉพาะสายพันธุ์16 และ 18 เป็นสาเหตุเกิดมะเร็งปากมดลูกถึง 70 % และมีระยะเวลาการดำเนินโรค 10-15 ปี อีกทั้งผู้หญิงที่ติดเชื้อ HPV สายพันธุ์ 16 และสายพันธุ์ 18 มีความเสี่ยงในการพัฒนาเป็นมะเร็งปากมดลูกสูงกว่าผู้หญิงทั่วไปถึง 35 เท่า” รศ.นพ.วิชัย กล่าว
ถึงแม้ประเทศไทยพยายามรณรงค์การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกจนทำให้ผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกลดลง แต่ยังคงเป็นปัญหาสำคัญอยู่ โดยพบผู้หญิงไทยเสียชีวิตจากมะเร็งปากมดลูกวันละ 13 ราย
รศ.นพ.วิชัย กล่าวต่อว่ามะเร็งเป็นโรคทางกรรมพันธุ์ที่ไม่สามารถหายขาดได้ แต่มะเร็งปากมดลูก เป็น 1 ใน 2 มะเร็งที่สามารถรักษาหายขาดได้ และประเทศไทยมีอาวุธครบมือในการป้องกัน ไม่ว่าจะเป็นวัคซีน หรือการตรวจคัดกรองหาเชื้อไวรัส HPV แต่ไม่แน่ใจว่าทำไมประเทศไทยถึงมีจำนวนผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกมากเป็นอันดับต้นๆ ซึ่งการป้องกันมะเร็งปากมดลูก ดำเนินการได้ 2 วิธี คือ
1.ฉีดวัคซีน HPV เพื่อป้องกันมะเร็งปากมดลูก โดยในไทยได้ดำเนินการฉีดวัคซีน HPV ฟรี ให้แก่นักเรียนระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 5
2.การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกเพื่อหาเชื้อ เอชพีวี (HPV) ซึ่งในปัจจุบันตรวจได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย เพราะเป็นสิทธิประโยชน์ด้านสุขภาพของประชาชน
“การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก สามารถตรวจด้วยวิธี Pap Smear (แปป สเมียร์) ซึ่งเป็นการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธีทางเซลล์วิทยาโดยดูการเปลี่ยนแปลงของเซลล์ก่อนที่จะพัฒนาไปสู่มะเร็ง เป็นการขึ้นขาหยั่งและแพทย์จะเก็บตัวอย่างเซลล์บริเวณปากมดลูก แต่วิธีการดังกล่าวมีความแม่นยำเพียง 50-60% เท่านั้น แต่ในการตรวจแบบ HPV DNA Test / HPV DNA Self-sampling มีความแม่นยำ และมีความไวในการตรวจพบมากถึง 92% อีกทั้งสามารถเว้นระยะการตรวจได้ถึง 5 ปี หากตรวจไม่พบเชื้อ” รศ.นพ.วิชัย กล่าว
รศ.นพ.วิชัย กล่าวต่อไปว่า รัฐบาลไทยได้รณรงค์ให้สตรีกลุ่มเสี่ยงเข้ารับการตรวจคัดกรองหาเชื้อ เอชพีวี เป็นโดยไม่เสียค่าใช้จ่ายตามสิทธิ์ และเพิ่มทางเลือก HPV DNA Self-sampling ทำให้สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง ซึ่งมีความแม่นยำสูง และแก้ปัญหา (pain point) อายแพทย์ กลัวการขึ้นขาหยั่ง กลัวเจ็บ สามารถตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกแบบเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเองตั้งแต่ระยะเริ่มแรก เพิ่มโอกาสในการรักษาหายขาดได้
ทั้งนี้ การใช้ชุดเก็บตัวอย่างด้วยตัวเอง (HPV Self-sampling) จะทำให้ผู้หญิงไทยเข้าถึงการตรวจได้มากยิ่งขึ้น เพราะสามารถตรวจคัดกรองแบบเก็บตัวอย่างได้ด้วยตนเอง ผู้หญิงไทยที่มีอายุตั้งแต่ 30-60 ปี ขึ้นไป ควรรับการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกทุก 5 ปี อย่างไรก็ตาม ปัจจุบัน มีคนตรวจไปแล้ว 200,000 – 300,000 คน พบว่า 85% ของผู้ตรวจรู้สึกว่าใช้งานง่าย และ90% บอกว่าจะแนะนำให้เพื่อนๆ ใช้
สำหรับ การตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยวิธี HPV DNA Self-sampling สามารถเก็บตัวอย่างด้วยตนเองในสถานพยาบาล โดยการเก็บตัวอย่างจากช่องคลอด ด้วยไม้สวอบ ซึ่งต้องใช้ภายใต้คำแนะนำของบุคลากรทางการแพทย์ และหลังจากเก็บตัวอย่างด้วยไม้สวอบแล้ว ตัวอย่างจะถูกแกว่งในสารละลาย ซึ่งบรรจุอยู่ในกระปุก หลังจากนั้นปิดฝากระปุกให้สนิท หลังจากนั้น ตัวอย่างจะถูกส่งไปที่ห้องแล็ปเพื่อเข้าเครื่องตรวจวิเคราะห์อัตโนมัติ เพื่อตรวจหาเชื้อเอชพีวี และจะทราบผลตรวจจะถูกส่งไปที่สถานพยาบาลภายในระยะเวลาไม่เกิน 14 วัน
“ข้อปฎิบัติในการตรวจคัดกรองมะเร็งแบบเก็บตัวอย่างด้วยตนเอง ต้องให้ช่องคลอดอยู่ในสภาพปกติ โดยภายใน 48 ชั่วโมง ต้องงดเพศสัมพันธ์ ห้ามสวนล้างช่องคลอด และไม่ควรตรวจในช่วงที่มีประจำเดือน ฉะนั้น อย่ากลัวตรวจแล้วเจอโรค และอย่าชะล้าใจในการตรวจคัดกรองโรค เพราะยิ่งเจอเชื้อไว ยิ่งรักษาได้หายขาด และหากตรวจคัดกรองพบในระยะแรกสามารถหวังผลหายได้ 90% ระยะที่สอง หวังผลหายได้ 75% ระยะที่สามหวังผลหายได้ 50% และระยะที่สี่ หวังผลหายได้ 20%” รศ.นพ.วิชัย กล่าว
รศ.นพ.วิชัย กล่าวด้วยว่าที่ผ่านมาจะพบผู้ป่วยมะเร็งปากมดลูกอายุ 30-40 ปี และกว่าจะเจอคือเป็นระยะที่สามแล้ว โอกาสรักษาหายน้อยลง บางคนลูกยังเล็กจะกระทบกับทุกคนในครอบครัวไปหมด ซึ่งการรักษามะเร็งปากมดลูก ขึ้นกับระยะของโรคหากเป็นระยะก่อนเป็นมะเร็ง หรือมะเร็งปากมดลูกระยะต้น แพทย์อาจใช้การผ่าตัด ซึ่งผลการรักษาดีมากโอกาสหายสูงมากหากเป็นมะเร็งระยะกลาง การรักษาส่วนใหญ่ใช้การฉายรังสีรักษาร่วมกับให้ยาเคมีบำบัด ผลการรักษาดีพอสมควรหากเป็นมะเร็งระยะสุดท้าย การรักษาส่วนใหญ่ทำได้เพียงแค่ประคับประคองอาการ บำบัดอาการเจ็บปวดของผู้ป่วย ผลการรักษาไม่ดี
"มะเร็งปากมดลูกเป็น 1 ใน 2 มะเร็งที่ป้องกันได้ และปัจจุบันเรามีอาวุธครบมือ มีการส่งเสริมให้ใช้วิธีการตรวจคัดกรองด้วยการตรวจหา DNA ของเชื้อ HPV 14 สายพันธุ์เสี่ยงสูง โดยอ้างอิงแนวทางเวชปฏิบัติของราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย เรื่องการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูก ว่าควรตรวจหาและระบุสายพันธุ์จำเพาะของเชื้อ HPV 16 และ 18 ซึ่งมีศักยภาพสูงในการก่อมะเร็งเท่านั้น ไม่แนะนำให้ระบุเชื้อทุกสายพันธุ์”
นอกจากนี้ ยังมีการเพิ่มการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วย HPV DNA / HPV DNA Self-sampling เป็นทางเลือกใหม่เข้ามาอีกเพื่อช่วยลดปัญหาความไม่สบายใจในการขึ้นขาหยั่ง ดังนั้น อย่านิ่งนอนใจผู้หญิงที่มีอายุ 30-59 ปี หรือผู้ที่เคยมีเพศสัมพันธ์ควรเข้ารับการตรวจคัดกรองฯ ซึ่งหากตรวจพบเชื้อ HPV จะทำให้สามารถเข้ารับการตรวจเพิ่มเติม (further investigation) ที่เหมาะสม Clinical Practice ซึ่งการตรวจพบเชื้อเอชพีวีตั้งแต่เนิ่นๆ รักษาได้ ลดความเสี่ยงการเกิดมะเร็งปากมดลูกได้อีกด้วย ดังนั้น การตรวจสุขภาพเป็นประจำทุกปี เพื่อตรวจคัดกรองโรคสามารถป้องกันการเกิดโรคได้ และหากตรวจพบระยะก่อนเกิดโรคก็จะ สามารถรักษาหายได้” รศ.นพ.วิชัย กล่าวทิ้งท้าย