xs
xsm
sm
md
lg

วางแผนเตรียมเกษียณ เริ่มได้เลย ไม่ต้องรอ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์
สถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล

คำว่า "เกษียณอายุ” ตามพระราชบัญญัติระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 คือ ผู้ที่มีอายุครบ 60 ปี บริบูรณ์ ผู้เกษียณอายุจำนวนไม่น้อย ที่ต้องออกจากสังคม ออกจากสิ่งแวดล้อมที่คุ้นชินมาหลายสิบปี ไม่ว่าจะเป็นสถานที่ทำงาน เพื่อนฝูง ฯลฯ อาจจะเกิดความเหงา รู้สึกตัวเองไร้ค่า หรือไม่ได้รับการยอมรับ จนเกิดปัญหาทางสุขภาพทั้งกายและใจกลายเป็นคนขาดความสุขในที่สุด
รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตต์ ฤทธิรงค์ อาจารย์ประจำสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล กล่าวว่า จากผลการวิจัย “โครงการความคาดหวัง การวางแผน และการเตรียมตัวของประชากร วัยทำงานต่างรุ่นอายุ และรูปแบบการอยู่อาศัยต่อชีวิตในวัยสูงอายุ” ซึ่งทำร่วมกับอาจารย์และนักวิจัยของสถาบันวิจัยประชากรและสังคม มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อศึกษาเกี่ยวกับความคิดและทัศนคติของแต่ละวัยต่อการเตรียมความพร้อมในการเข้าสู่วัยเกษียณ คนส่วนมากรวมถึงประชากรในกลุ่ม Gen-X มีความเข้าใจว่า “เกษียณอายุ” วัดจากอายุคือ 60 ปี แต่ในกลุ่ม Gen-Y และ Gen-Z ส่วนหนึ่งมีความคิดที่จะหยุดทำงานก่อนอายุ 60 ปี

สำหรับแนวคิดเกี่ยวกับการทำงานกับการเกษียณ ในกลุ่ม Gen-X หลายคน ยังมีความต้องการที่จะทำงานต่อไปในสายอาชีพเดิม หรือเปลี่ยนงานจากเดิม สอดคล้องกับในช่วงที่ผ่านมาที่นักวิชาการของไทยที่พยายามเสนอให้ขยายอายุผู้เกษียณเป็น 65 ปี เนื่องจากยังเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการทำงาน ส่วนกลุ่ม Gen-Y มีความต้องการที่จะทำงานไปพร้อมกับการวางแผนการเงินเพื่อตอบสนองความต้องการในด้านต่างๆ เช่น อยากกินก็ต้องได้กิน อยากเที่ยวก็ต้องได้เที่ยว ส่วนกลุ่ม Gen-Z ที่มีแนวคิดจะอยากเกษียณเร็ว ในวัย 35-40 ปี จากสมมติฐานของอาจารย์และนักวิจัยของโครงการมีความเห็นว่า Gen-Z ส่วนมากยังเรียนและเริ่มต้นทำงาน อาจจะยังไม่มีแนวคิดที่จะแต่งงานสร้างครอบครัวและมีลูก เป้าหมายเพื่อดูแลตนเองคนเดียว ทำให้การวางแผนที่จะเก็บเงิน จะมีความเป็นไปได้มากกว่า ยังรวมถึงไลฟ์สไตล์คนรุ่นใหม่ ที่อยากออกไปใช้ชีวิตที่ไม่ต้องทำงานประจำ การเปลี่ยนการใช้ชีวิต จากงานประจำไปสู่อิสระมากขึ้น เป็นสิ่งที่เขาคาดหวัง ประชากรกลุ่มนี้ยังมีความสนใจในการลงทุนเยอะขึ้นจากการหาข้อมูลต่างๆ รวมถึงการส่งเสริมการให้ความรู้ด้านการลงทุนจากโรงเรียน สถาบันการศึกษา ทำให้ยอมรับความเสี่ยงได้เยอะกว่ากลุ่ม Gen อื่น จึงทำให้ Gen-Z มองว่าเกษียณอายุ คือการออกจากงานประจำ แล้วไปใช้ชีวิตที่มีอิสระทางการใช้เวลาและอิสรภาพทางการเงิน โดยการเก็บเงินอย่างหนัก ไม่ใช่เกษียณด้วยอายุครบตามเกณฑ์ เราจะเรียกกลุ่ม Gen-Z ที่มีแนวคิดแบบนี้ว่า Financial Independence, Retire Early (FIRE) โดยจากโครงการวิจัยดังกล่าว สามารถกล่าวโดยสรุปถึงแนวคิดของแต่ละ Gen ได้ว่า กลุ่ม “Gen-X มองว่า “เกษียณสโลวไลฟ์ บั้นปลายมีที่อยู่” Gen-Y มองว่า “อนาคตยังอีกไกล ขอไปเที่ยวก่อน” และ Gen-Z มองว่า “ชีวิตต้องใช้ ต้องไปให้สุด”
รองศาสตราจารย์ ดร.จงจิตต์ ยังกล่าวอีกว่า การเตรียมตัวเพื่อเข้าสู่วัยสูงอายุจะไม่ใช่แค่การวางแผนทางการเงินเพียงอย่างเดียว แต่การใช้ชีวิตของเราในอนาคต ประกอบด้วยหลายปัจจัยที่เกื้อหนุนกัน ได้แก่ “การวางแผนทางด้านสุขภาพ” ถ้าสุขภาพไม่ดี เราต้องเสียเงินดูแลรักษา ทั้งยังทำงานไม่ได้เต็มที่เพื่อสร้างรายได้ หากเราเริ่มดูแลสุขภาพเร็ว เราจะสร้างมูลค่าของตัวเราได้มากขึ้น และทำงานเพื่อสร้างรายได้ได้นานขึ้น การรักษาสุขภาพช่วยลดค่ารักษาพยาบาลและยังช่วยลดงบประมาณของประเทศที่เกี่ยวกับด้านสุขภาพได้ นอกจากนี้ คำว่า “สุขภาพ” ยังรวมถึงการรับประทานอาหารที่ดี พักผ่อนให้เพียงพอ ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ และควรให้ความสำคัญกับการตรวจสุขภาพประจำปี เพื่อดูแลและป้องกันปัญหาสุขภาพที่จะเกิดขึ้นได้ “การวางแผนทางด้านการเงิน” ด้วยการวางแผนการออมอย่างมีวินัยตั้งแต่เริ่มทำงาน ในทุกวันนี้การออมอย่างเดียวอาจจะไม่เพียงพอ จึงต้องศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการลงทุนที่เหมาะสมกับตนเองเพิ่มเติม พร้อมทั้งยังต้องเรียนรู้ Digital Literacy เพื่อให้มีความรู้เท่าทัน เพราะเทคโนโลยีเข้ามามีบทบาทมากขึ้น ไม่ให้ตกเป็นเหยื่อจากมิจฉาชีพ หรือจากความไม่รู้ในการลงทุน ทั้งนี้ การปลูกฝังเรื่องการออม สามารถทำได้ตั้งแต่ยังเด็ก เป็นการให้ความรู้พร้อมการฝึกปฏิบัติในการเก็บออมจนเป็นนิสัย และจะเกิดความตระหนักในความสำคัญของการออมเงิน ซึ่งจะเป็นพื้นฐานในการวางแผนทางการเงินในระยะยาวได้อีกด้วย “การวางแผนเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยของตนเอง” ไม่ว่าจะเป็นความต้องการในการพำนักในที่อยู่อาศัยเดิม ที่จะต้องทยอยปรับพื้นที่ต่างๆ ภายในบ้านเพื่อรองรับและป้องกันอุบัติเหตุสำหรับวัยสูงอายุ หรือความต้องการที่จะเข้าพักอาศัยใน Senior Complex ก็จะต้องมีการศึกษาข้อมูลที่จำเป็น รวมถึงการวางแผนค่าใช้จ่ายล่วงหน้า ทั้งนี้ การเลือกที่อยู่อาศัยอาจจะต้องคำนึงถึงความต้องการทำกิจกรรมต่าง ๆ ในอนาคต ซึ่งเกี่ยวข้องกับการมีส่วนร่วมทางสังคม เพื่อให้เกิดสังคมกลุ่มใหม่ ที่มีความเข้าอกเข้าใจ และมีการช่วยเหลือกัน และเรื่องสุดท้าย คือ “ความเข้าใจเกี่ยวกับการวางแผนการรักษาของตนเองล่วงหน้า” เช่น การศึกษาเกี่ยวกับเอกสารชีวเจตน์ หรือเอกสารแสดงเจตนาเพื่อวางแผนวิธีการรักษาพยาบาลล่วงหน้า หรือยุติการรักษาพยาบาลในกรณีที่ตนเองไม่สามารถตัดสินใจได้ ซึ่งเรื่องนี้ ยังคงเป็นเรื่องใหม่ในสังคมไทย จึงอาจจะต้องมีการให้ความรู้ในด้านต่างๆที่เกี่ยวข้องรวมถึงการทำความเข้าใจกับครอบครัว เพื่อให้เกิดการตัดสินใจที่ถูกต้องเมื่อถึงเวลาที่จำเป็น
สำหรับภาครัฐ “การวางแผนเข้าสู่วัยสูงอายุ” นั้น ควรให้การสนับสนุนในระดับนโยบายตามช่วงชีวิตของประชาชน ในแต่ละช่วงอายุว่าต้องการการสนับสนุนด้านใดบ้างที่เกี่ยวข้อง เช่น นโยบายทางด้านการศึกษา นโยบายการสร้างเสริมสุขภาพ เพื่อให้ประชาชนสามารถเริ่มต้นที่จะเตรียมความพร้อมเข้าสู่วัยสูงอายุได้ในทุกๆ ด้าน และเพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนในอนาคตต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น