เปิด 3 โรค "ระบาด" แน่ปี 2567 เตือน "ไข้เลือดออก" ป่วยสูงกว่าปีที่แล้ว พร้อม 12 โรคต้องเฝ้าระวัง ย้ำมีไข้ซื้อยาพาราฯ กินอย่างเดียว อย่าซื้อยาอื่น หากเป็นไข้เลือดออก เสี่ยงทำเลือดออกง่ายจนดับ ส่วนโควิดยังทรงตัวจากปีก่อน คาดป่วย 6.49 แสนราย ไข้หวัดใหญ่ 3.46 แสนราย ติดเชื้อซิกาเชื้อยังอยู่อสุจิเป็นเดือน งดเพศสัมพันธ์ชั่วคราว
เมื่อวันที่ 10 ม.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมควบคุมโรค แลถงข่าวอนาคตประเทศไทยโรคและภัยสุขภาพประชาชนปี 2567 ว่า จากการสรุปสถานการณ์โรค พบว่า โรคที่คาดว่าระบาดปี 2567 มี 3 โรค ได้แก่ 1.โควิด 19 เหมือนโรคประจำถิ่น ไม่หายไปไหน โดยปี 2566 พบว่ามีผู้ป่วย 652,868 คน นอน รพ. 38,457 คน เสียชีวิต 848 คน โดยปี 2567 คาดว่าติดเชื้อไม่ต่ำกว่า 649,520 คน นอน รพ. 38,672 คน และเสียชีวิต 852 คน โดยเชื้อโควิดวันนี้ยังเป็นโอมิครอนตัวเดิม แต่อาจเปลี่ยนสายพันธุ์ย่อย ยังเน้นวัคซีนในกลุ่มเสี่ยง 608 ส่วนประชาชนทั่วไปแล้วแต่ความสมัครใจ แต่แนะนำว่าคนยังไม่เคยฉีดหรือฉีดนานแล้วให้กระตุ้นเหมือนไข้หวัดใหญ่ปีละเข็ม ฟรีไม่เสียเงิน ส่วนการป้องกันที่ดีที่สุด คือ พกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์เมื่อเข้าสถานที่เสี่ยง เช่น รพ. ตรวจหาเชื้อเมื่อมีอาการสงสัยหรืออาการระบบทางเดินหายใจ เรายังเฝ้าระวังเรื่องอาการรุนแรงร่วมกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และมหาวิทยาลัยต่างๆ มีการเอาเชื้อมาดูตลอดเวลาว่า มีการกลายพันธุ์จนรุนแรงหรือไม่ รวมถึงดูทุกรายที่แอดมิท รพ.
2.โรคไข้หวัดใหญ่ ปี 2566 มีผู้ป่วย 460,325 คน ตาย 29 คน โดยปี 2567 คาดว่าป่วย 346,110 คน โดยจะเริ่มระบาดสูงในช่วง พ.ค. การป้องกันยังแนะนำฉีดวัคซีนประจำปี 1 ครั้งในกลุ่มเสี่ยง ซึ่ง WHO จะแนะนำว่าวัคซีนแต่ละปีควรจะเป็นเชื้อตัวใด อย่างไรก้ตาม รับวัคซีนแล้วยังติดเชื้อได้ หากป่วยควรหยุดเรียน-หยุดงาน 3-7 วัน จนกว่าจะหาย สวมหน้ากาก ไม่คลุกคลีผู้ป่วยทางเดินหายใจ ไม่ใช้สิ่งของร่วมกัน ล้างมือบ่อยๆ หลีกเลี่ยงสถานที่เสี่ยง
และ 3.ไข้เลือดออก ปี 2566 พบป่วย 156,097 คน ตาย 187 คน ส่วนปี 2567 คาดว่าป่วย 276,945 คน ตาย 280 คน น่าจะมากกว่าปีที่แล้ว และสูงกว่าค่าเฉลี่ย 3 ปีย้อนหลังเกือบ 3 เท่า โดยไข้เลือดออกมีการติดเชื้อตลอดทั้งปี แต่จะเริ่มสูงขึ้นช่วง เม.ย. และ พ.ค.จะเริ่มระบาด โดยไข้เลือดออกจะระบาดรุนแรง 2 ปีติดกัน การป้องกันเน้นไม่ให้ยุงกัด โดยยาทากันยุง ป้องกันไม่ให้แพร่เชื้อไปสู่ผู้อื่น สวมเสื้อผ้าแขนขายาว นอนในมุ้ง กำจัดแหล่งเพาะพันธุ์ยุงลายทุกสัปดาห์ อาการที่ต้องรีบพบแพทย์ คือ ไข้สูงลอย เจ็บชายโครง ขณะนี้ผู้เสียชีวิตเยอะสุด คือ ผู้ใหญ่ เพราะการติดเชื้อครั้งที่สองมักอาการรุนแรงมาก จากที่มี 4 สายพันธุ์ สำคัญคือป่วยแล้วอย่าซื้อยาทานเอง หากมีไข้ซื้อยาพาราเซตามอลอย่างเดียวเท่านั้น อย่าคิดถึงยากลุ่มอื่น อย่างไอบูโพรเฟน เอ็นเสด สเตียรอยด์ เพราะทำให้เกล็ดเลือดต่ำ เลือดออกง่ายและเสียชีวิตได้
นพ.ธงชัยกล่าวว่า ส่วนโรคที่ต้องเฝ้าระวังว่าจะมีการระบาด มี 12 โรค คือ 1.โรคมือเท้าปาก ปี 2566 ป่วย 64,115 ราย ตาย 1 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 61,470 ราย ซึ่งติดง่ายในเด็กเล็ก ต้องดูแลอนามัยส่วนบุคคล โดยเฉพาะศูนย์เด็กเล็ก โรงเรียนประถม ครูต้องคอยดู หากเจอเด็กมีอาการให้หยุดเรียนอยู่บ้าน
2.โรคหัด มีวัคซีนฉีดมานาน จริงๆ ควรหมดไป แต่วันนี้ยังพบอยู่ แนวโน้มปีนี้อาจสูงกว่าปีที่แล้ว โดยปี 2566 พบป่วย 611 คน ปีนี้คาดว่าป่วย 1,089 ราย เน้นรับวัคซีนป้องกันหัดให้ครบ 2 ครั้ง ครั้งแรกช่วงอายุ 9-12 เดือน และเข็มสองช่วงอายุ 1 ปีครึ่ง
3.โรคฝีดาษวานร เป็นโรคใหม่ของไทย โดยปี 2566 พบป่วย 689 ราย ตาย 4 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 394 ราย ข้อมูลพบว่า มักติดในกลุ่มชายรักชาย แต่คนทั่วไปก็ติดได้ หากสัมผัสสารคัดหลั่งจากบาดแผล ซึ่งโดยปกติไม่เสียชีวิต หายเองได้ แต่คนเสียชีวิต คือ กลุ่มผู้ป่วยเอดส์ที่ไม่ทานยาต้านไวรัส และอาจมีโรคอื่นสมทบ
4.โรคเมลิออยโดซิส (ไข้ดิน) พบตลอดปี โดยปี 2566 พบป่วน 4,092 ราย ตาย 95 ราย คาดว่าปีนี้ป่วย 3,400 ราย ส่วนใหญ่เป็นเกษตรกร ดังนั้น การเข้าสวนทำไร่ทำนา ให้สวมรองเท้าบูธป้องกัน
5.โรคฉี่หนู ไทยมีน้ำท่วมทุกปี พื้นที่ระบาดคือพื้นที่มีน้ำขัง แหล่งน้ำในชุมชน โดยมีบาดแผลลงไปเล่นน้ำ เดินลุยน้ำ ทำให้ติดเชื้อ ซึ่งรุนแรงอาจเสียชีวิตได้ โดยปี 2566 พบป่วน 4,327 คน ตาย 42 คน ปีนี้คาดว่าป่วย 2,800 คน ย้ำว่าต้องสวมถุงมือยาง รองเท้าบูธไม่ให้สัมผัสเชื้อ
6.โรคไข้หูดับ ปี 2566 พบป่วย 581 คน ตาย 29 คน คาดว่าปีนี้ป่วย 432 คน การป้องกัน คือ การไม่กินหมูดิบ ทำให้การได้ยินลดลง และอาจรุนแรงถึงเสียชีวิตได้ ซึ่งเราพบว่าโรคนี้แนวโน้มไม่ได้ลดลงเลย มีแต่ทรงตัวและเพิ่มขึ้น
7.โรคซิกา ปี 2566 สะสม 758 ราย เป็นหญิงตั้งครรภ์ 41 ราย และทารกศีรษะเล็ก 13 ราย ซึ่งมียุงลายเป็นพาหะเช่นกัน ป้องกันวิะเดียวกับไข้เลือดออก แต่เราพบว่า ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้ โดยเชื้ออยู่ในเชื้ออสุจิผู้ชายได้เกือบ 3 เดือน
8.โรคชิคุนกุนยา ปี 2566 ป่วยสะสม 1,389 ราย อัตราป่วย 2.1 ต่อแสนประชากร ชายต่อหญิง 1:1.6 เกิดจากยุงลายเช่นกัน ให้เน้นป้องกันยุงลายกัด
9.โรคซิฟิลิส ปี 2566 พบป่วย 11,631 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 17,273 ราย 10.โรคหนองใน ปี 2566 พบป่วย 11,631 ราย ปีนี้คาดว่าป่วย 7,254 ราย ซึ่งทั้งสองโรคนี้เดิมลดลง แต่ตอนนี้พบการติดเชื้อในเยาวชนมากขึ้น โดยซิฟิลิสถ่ายทอดจากญิงตั้งครรภ์ไปสู่ลูกได้ ย้ำว่าต้องใช้ถุงยางอนามัยป้องกัน มีอาการไปพบแพทย์รักษา
11.เอชไอวี/เอดส์ ดูเหมือนลดลงแต่ยังทรงตัว ทั้งปี 2566 ติดเชื้อใหม่ 9,366 ราย ตาย 10,014 ราย ทั้งนี้ เอชไอวีสามารถตรวจด้วยตนเองได้ ผลบวกไม่ต้องตกใจ มียาต้านไวรัสกินต่อเนื่องสม่ำเสมอ ช่วยมีคุณภาพชีวิตดีเหมือนคนทั่วไป และป้องกันการแพร่โรคด้วย แม้มีเพศสัมพันธ์ และควรใช้ถุงยางอนามัย โดยทั่วโลกจะเอาเอดส์ให้หมดไปในปี 2573
และ 12.วัณโรค ตั้งเป้าให้หมดไปในปี 2573 เช่นกัน แต่สถานการณ์ยังทรงตัวตลอด ปี 2566 ป่วย 78,824 ราย คาดว่าปีนี้ป่วย 82,759 ราย สถานการณ์เรามีผู้ป่วยทุกจังหวัด ที่น่าห่วงคือรับเชื้อแล้วไม่ได้แสดงอาการเลย อาศัย 1-2 ปีค่อยแสดงอาการ ฉะนั้น ใครเคยสัมผัสผู้ป่วยวัณโรค ควรไป รพ.แจ้งแพทย์ด้วย จะได้ตรวจลึกขึ้น
ถามถึงกรณีกระแสวัคซีน mRNA ก่อผลข้างเคียงและกดภูมิคุ้มกัน ยังจำเป้นต้องฉีดหรือไม่ นพ.วีรวัฒน์ มโนสุทธิ นายแพทย์ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า วัคซีนยังจำเป็น โดยกลุ่มเปราะบางฉีดปีละครั้ง หากภูมิคุ้มกันต่ำมากอาจปีละ 2 ครั้ง เช่น รับยากดภูมิ ให้ปรึกษาแพทย์ผู้ดูแล ส่วนวัคซีน mRNA ยังฉีดได้อยู่ เรามีการติดตามผลข้างเคียงวัคซีนทุกชนิด รวมถึง mRNA ว่ามีภาวะแทรซ้อน มีผลผิดปกติที่ต้องแจ้งเตือนติดตามใกล้ชิดหรือไม่ คณะกรรมการฯ มีทั้งผู้เชี่ยวชาญจากกรมควบคุมโรค โรงพยาบาลที่เป็นโรงเรียนแพทย์ใหญ่ๆ อย่างจุฬาฯ ศิริราช และมีหลายสาขามาประเมินภาวะแทรกซ้อน มั่นใจได้ว่าเรามีผู้เชี่ยวชาญทุกสาขาช่วยดูแล
ถามถึงกรณีอาการรุนแรงการติดเชื้อครั้งที่สองของไข้เลือดออก พญ.จุไร วงศ์สวัสดิ์ นายแพทย์ผู้ทรงคุณวุฒิ กรมควบคุมโรค กล่าวว่า ไข้เลือดออกมี 4 สายพันธุ์ ติดครั้งแรกอาการอาจไม่ค่อยรุนแรง ซีเรียสคือครั้งที่สอง จะมีภูมิคุ้มกันขึ้นต่อทุกสายพันธุ์และอยู่ได้นาน ทำให้ครั้งที่สามและสี่จะไม่ค่อยรุนแรง ปัจจุบันการเสียชีวิตอยู่ในผู้ใหญ่ ส่วนใหญ่มีโรคประจำตัว ความดัน เบาหวาน กลุ่มเหล่านี้ต้องรีบวินิจฉัยให้เร็ว การรักษาให้น้ำเกลือ หลีกเลี่ยงเรื่องยาที่อาจเป็นอันตราย อย่างไรก็ตาม ยังขึ้นกับลักษณะพื้นที่ หากพื้นที่มีการติดเชื้อมากและรุนแรง ก็อาจเจอเด็กที่ติดเชื้อครั้งที่สองและมีอาการรุนแรงได้มาก ซึ่งช่วงโควิดการติดไข้เลือดออกลดลงมาก ประชากรไม่มีภูมิไข้เลือดออกสะสมจึงเยอะพอสมควร ตอนนี้ดูสายพันธุ์ระบาดไม่ได้โดดเด่นที่สายพันธุ์เดียว เราเจอทั้ง 4 สายพันธุ์ และทุกสายพันธุ์ทำให้เสียชีวิตได้ ระบาดวิทยาเราจึงต้องเฝ้าระวังใกล้ชิด
ถามถึงการติดเชื้อซิกาผ่านเพศสัมพันธ์จากเชื้อที่อยู่ในอสุจิ พญ.จุไรกล่าวว่า ปกติจะเชื้อติดทางยุงกัด เป็นได้ทั้งชายและหญิง ส่วนในยุโรปเจอเคสติดเชื้อที่ไม่ใช่ยุง แต่เป็นเพศสัมพันธ์ โดยหลังติดเชื้อซิกาเฉียบพลัน หลังหายยังอาจเจอเชื้อได้ เช่น อสุจิอยู่ได้นานเป็นเดือน เราจึงแนะนำว่าหลังติดเชื้ออาจเลี่ยงมีเพศสัมพันธ์ระยะหนึ่ง ซึ่งบางเปเปอร์บอกว่าอาจนานกว่า 3 เดือน แต่จริงๆ เรากังวลในหญิงตั้งครรภ์ เพราะทารกจะศีรษะเล็ก มีปัญหาพัฒนาการ อย่างบางรายทารกออกมาศีรษะเล็ก แม่บอกว่าเคยมีอาการออกผื่นหน่อยๆ แต่ไม่มีไข้ ซึ่งการติดไปสู่ลูกนั้น หญิงตั้งครรภ์มีเชื้อซิกาเชื้อจะอยู่ได้นาน
ถามว่าหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกาจะมีทารกศีรษะเล็กทุกรายหรือไม่ และมีวิธีป้องกันไม่ให้ศีรษะเล็กหรือไม่ พญ.จุไรกล่าวว่า ข้อมูลไม่ได้บอกว่าติดเชื้อซิกาแล้วลูกจะต้องหัวเล็ก ขึ้นกับสายพันธุ์ที่เป็น อย่างอเมริกาใต้อาจเป้นสายพันธุ์รุนแรง เจอศีรษะเล็กเยอะ แต่ของเราไม่ได้ 100% ว่าจะต้องศีรษะเล็ก ต้องติดตามใกล้ชิดต่อไป นอกจากนี้ เรายังติดตามเด็กทารกที่คลอดจากหญิงตั้งครรภ์ติดเชื้อซิกา 2 ปี ส่วนใหญ่ปกติ พัฒนาการปกติ อาจเจอเรื่องการได้ยินลดลง และกำลังวิจัยดูเรื่องยารักษาให้หญิงตั้งครรภ์ต่อไป
ด้าน นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ทั้ง 15 โรคที่นำเสนอ มี 3 โรคระบาดได้ และ 12 โรคเฝ้าระวัง ส่วนใหญ่จะติดทางเดินหายใจ การสัมผัส และมีโรคเดียวที่อยู่ในรายการคือ "ไข้หูดับ" ที่ติดทางอาหาร แต่ป้องกันได้ ซึ่งเมือ่ก่อนไทยพบน้อย แต่ตอนนี้พบบ่อยขึ้นจากภาคเหนือมาภาคกลางและอีสานที่เยอะขึ้น ประชาชนน่าจะรับรู้ว่า รับประทานหมูดิบ นำมาสู่การติดเชื้อแบคทีเรียทำให้เกิดเยื่อหุ้มสมองอักเสบ การรับยินเสียงลดลง เป็นมากก็เสียชีวิตด้วย จึงต้องรับประทานสุก เลือกซื้อหมูจากแหล่งที่ได้มาตรฐาน ไม่ต้องกังวลเรื่องกินหมูกระทะ เพราะเราต้องย่างให้สุก ไม่ถึงขนาดมีปนเปื้อนมากนัก ยกเว้นกินดิบหรือกินรวมหลายคนในงานพิธี นอกจากนี้ คนทำงานในโรงชำแหละสุกร อาจสัมผัสโดยตรงกับเลือด ต้องป้องกันไม่ให้สัมผัสกับผิวหนัง โดยสวมถุงมือ รองเท้าบูธ หากบังเอิญสัมผัสให้รีบทำความสะอาด