เปิดขั้นตอนใช้สิทธิบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ 4 จังหวัดนำร่อง กรณีเจ็บป่วยทั่วไป ประสบอุบัติเหตุ มีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน แสดงบัตรประชาชนรับบริการได้ที่หน่วยบริการในระบบบัตรทองทุกแห่ง “หมอชลน่าน” สั่งเตรียมพร้อมสายด่วน 1330 ให้ข้อมูลช่วยเหลือ สอบถามปัญหาการใช้สิทธิ
นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในฐานะประธานกรรมการหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ เปิดเผยว่า ตามที่รัฐบาลได้มีนโยบายเร่งด่วน 30 บาทอัปเกรด และเตรียมเดินหน้าโครงการ “บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่” ซึ่งจะมีการ Kick Off ที่จังหวัดร้อยเอ็ด ในวันที่ 7 มกราคม 2567 พร้อมกัน ใน 4 จังหวัดนำร่อง คือ ร้อยเอ็ด แพร่ เพชรบุรี และนราธิวาส เพื่อสร้างความเข้าใจที่ชัดเจนให้กับผู้ใช้สิทธิหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ใน 4 จังหวัดนำร่อง ได้ให้ สปสช.ชี้แจงวิธีและขั้นตอนการเข้ารับบริการ ให้แก่พี่น้องประชาชน เพื่อไม่ให้เกิดปัญหา
รมว.สาธารณสุข กล่าวว่า นับจากนี้ ประชาชนเพียงแค่ยื่นบัตรประชาชน ในกรณีเด็กเล็กแค่ใช้สูติบัตรพร้อมบัตรประชาชนผู้ปกครอง ยื่นต่อหน่วยบริการทุกแห่งที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติก็จะได้รับการดูแลและรักษาตามขั้นตอนของแต่ละหน่วยบริการ และเมื่อรับบริการเสร็จ ระบบจะบันทึกประวัติการรับบริการของท่านโดยอัตโนมัติ ในกรณีที่ผู้ป่วยต้องรับยา หากเป็นโรงพยาบาลที่มีโครงการรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านหรือส่งยาทางไปรษณีย์ ก็สามารถเลือกรับยาที่ร้านยาใกล้บ้านได้โดยติดต่อที่ห้องจ่ายยา ส่วนที่เป็นผู้ป่วยเดิมและมีนัดรับบริการกับทางหน่วยบริการอยู่แล้ว ก็ให้เข้ารับบริการตามนัดหมายเช่นเดิม ส่วนกรณีที่เกิดภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติถึงแก่ชีวิต (UCEP) ท่านสามารถใช้สิทธิ UCEP เจ็บป่วยฉุกเฉินวิกฤติมีสิทธิทุกที่ (Universal Coverage for Emergency Patients) ที่เป็นสิทธิการรักษาตามนโยบายรัฐบาลเพื่อคุ้มครองผู้ป่วยฉุกเฉินวิกฤตถึงแก่ชีวิตให้สามารถเข้ารับการรักษาใน รพ.ทุกแห่งไม่ว่าจะเป็นรัฐหรือเอกชนที่ใกล้ที่สุดได้โดยไม่ต้องเสียค่าใช้จ่ายจนพ้นวิกฤตหรือสามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างปลอดภัย โดยยื่นบัตรประชาชน ในกรณีเด็กให้ใช้สูติบัตร และแจ้งใช้สิทธิ UCEP
ด้าน นางสาวตรีชฎา ศรีธาดา โฆษกกระทรวงสาธารณสุข ฝ่ายการเมือง ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่า กรณีที่ประชาชนเกิดอาการเจ็บป่วยทั่วไป ประสบอุบัติเหตุ หรือมีภาวะเจ็บป่วยฉุกเฉิน สามารถเข้ารับบริการที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติภายในจังหวัดนำร่องได้ทุกแห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลรัฐทุกแห่ง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล สถานีอนามัย ศูนย์สุขภาพชุมชน และสถานพยาบาลเอกชนที่เข้าร่วมในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ ได้แก่ โรงพยาบาลเอกชน คลินิกที่ขึ้นทะเบียนในระบบบัตรทอง ทั้งคลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาลและการผดุงครรภ์ คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกการแพทย์แผนไทย คลินิกทันตกรรม ร้านยา ที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ และเพื่อเป็นการอำนวยความสะดวก กระทรวงสาธารณสุขได้มีระบบที่เปิดให้ประชาชนจองคิวและนัดหมายวันเวลาในการรับบริการล่วงหน้าได้ผ่านระบบออนไลน์ โดยท่านสามารถจองคิวทางแอปพลิเคชัน หรือ ไลน์ “หมอพร้อม”
ด้าน นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า ส่วนการรับบริการสร้างเสริมสุขภาพและป้องกันโรคที่เป็นสิทธิสำหรับคนไทยทุกคน เช่น บริการฉีดวัคซีนป้องกันโรค คุมกำเนิด (ถุงยางอนามัย ยาคุม) ฝากครรภ์ คัดกรองมะเร็งปากมดลูก คัดกรองเบาหวาน ตรวจวัดความดันโลหิต ให้คำปรึกษาแนะนำด้านสุขภาพ ฯลฯ เบื้องต้นให้ตรวจสอบสิทธิประโยชน์ได้ที่แอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ก่อนโดยเลือกเมนูกระเป๋าสุขภาพ เลือกสิทธิสุขภาพดีป้องกันโรค เลือกสิทธิประโยชน์ที่ต้องการรับบริการ จองคิวนัดหมายวันเวลารับบริการล่วงหน้าได้ หรือโทรติดต่อได้ที่หน่วยบริการ หรือติดต่อด้วยตนเองได้ที่หน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติทุกแห่ง ใช้เพียงบัตรประชาชนใบเดียว
เลขาธิการ สปสช. กล่าวต่อว่า นอกจากนี้ประชาชนยังสามารถเลือกรับบริการสาธารณสุขวิถีใหม่ได้ ที่เป็นนวัตกรรมช่วยเพิ่มความสะดวก ลดความแออัดในโรงพยาบาล สามารถใช้บัตรประชาชนรับบริการได้ทันทีที่หน่วยบริการที่ขึ้นทะเบียนในระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติแล้ว ซึ่งประกอบด้วย
ร้านยา ให้บริการดูแลเจ็บป่วยเล็กน้อย 16 อาการ โดยปรึกษาเภสัชกรและรับยา
คลินิกพยาบาลชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจรักษาโรคเบื้องต้น 32 อาการ ทำแผล ฝากครรภ์-ตรวจหลังคลอด
คลินิกเวชกรรมชุมชนอบอุ่น ตรวจรักษาโรคเฉียบพลัน (Acute) หรือโรคเรื้อรัง (Chronic) 42 กลุ่มโรค
คลินิกทันตกรรมชุมชนอบอุ่น ตรวจสุขภาพช่องปากและฟัน อุดฟัน ถอนฟัน ขูดหินปูน เคลือบหลุมร่องฟัน เคลือบฟูลออไรด์
คลินิกการแพทย์แผนไทยชุมชนอบอุ่น นวด ประคบ อบสมุนไพร เพื่อการรักษา เป็นต้น
คลินิกเทคนิคการแพทย์ชุมชนอบอุ่น ให้บริการตรวจวัดระดับไขมันในเลือด ตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบ ตรวจการตั้งครรภ์ ตรวจคัดกรองมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง (อายุ 50-70 ปี) รวมถึงตรวจแล็บตามใบสั่งตรวจของแพทย์ เป็นต้น
ทั้งนี้สามารถตรวจสอบรายชื่อหน่วยบริการเอกชน 4 จังหวัดบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ได้ที่เว็บไซต์ สปสช. หรือที่ลิงก์ https://www.nhso.go.th/page/Innovative-services-4-provinces
สำหรับการให้บริการสอบถามกับประชาชนนั้น สปสช. ได้จัดช่องทางพิเศษเพื่อบริการประชาชนตามนโยบายบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ซึ่งท่านสามารถ โทร. 1330 เพื่อสอบถามข้อมูลนโยบาย 30 บาทอัปเกรด พร้อมกันนี้ยังได้แยกช่องทางสอบถามให้บริการข้อมูล ช่วยเหลือ สอบถามปัญหาการใช้สิทธิ ขั้นตอนการใช้บริการ เข้ารักษาที่ไหนได้บ้าง รายจังหวัดทั้ง 4 จังหวัดนำร่อง ดังนี้ จ.แพร่ โทร. 1330 กด 61, จ.ร้อยเอ็ด โทร. 1330 กด 67, จ.เพชรบุรี โทร. 1330 กด 65 และ จ.นราธิวาส โทร. 1330 กด 612
“ประชาชนเข้ารับริการบัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ ใน 4 จังหวัดนำร่อง หากมีข้อสงสัยหรือมีปัญหาในการเข้ารับบริการสามารถติดต่อสอบถามมายังสายด่วน สปสช. ตามช่องทางที่จัดไว้ได้” เลขาธิการ สปสช. กล่าว