xs
xsm
sm
md
lg

เตือน "ไข้เลือดออก" ยังระบาดข้ามปี ผู้ใหญ่ส่ออาการรุนแรง เหตุคาดไม่ถึงว่าเป็น ซื้อยากินเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรค เตือน "ไข้เลือดออก" ยังระบาดข้ามปี อัตาป่วยยังสูงต่อเนื่อง ก่อนที่จะลดลง และระบาดอีกช่วงฤดูฝน สถานการณ์ปี 2567 ไม่ต่างจากปี 2566 ย้ำผู้ใหญ่เสี่ยงอาการรุนแรง เหตุมีอาการมักไม่คิดถึงโรคนี้ ทำรักษาช้า แถมซื้อยากินเอง ย้ำรอบบ้านมีคนป่วยให้สงสัย

จากกรณี "วิรดา วงศ์เทวัญ" นางเอกลิเกและนักร้อง น้องสาวของ "กุ้ง" สุธิราช วงศ์เทวัญ ป่วยด้วยโรคไข้เลือดออก มีอาการรุนแรง และอยู่ในอาการไม่รู้สึกตัว

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นพ.จักรรัฐ พิทยาวงค์อานนท์ ผอ.กองระบาดวิทยา กรมควบคุมโรค กล่าวถึงสถานการณ์โรคไข้เลือดออก ว่า ขณะนี้สถานการณ์ไข้เลือดยังสูงต่อเนื่อง อัตราการป่วยและเสียชีวิตยังคงสูงต่อเนื่องมาตั้งแต่ปลายปี 2566 ถึงต้นปี 2567 และยังสูงต่อไปอีกระยะหนึ่ง แต่เชื่อว่า หลังจากนี้อัตราการการป่วยจะค่อยๆ ลดลง และจะเพิ่มขึ้นอีกครั้งในช่วงฤดูฝน มองว่าภาพรวมไข้เลือดออกในปี 2567 กับ 2566 จะไม่แตกต่างกันมากนัก สำหรับสาเหตุที่ผู้ป่วยไข้เลือดออกวัยผู้ใหญ่ มีอาการรุนแรงและบางรายต้องเสียชีวิต เนื่องจากวัยผู้ใหญ่เมื่อมีอาการป่วย ส่วนใหญ่มักไม่ได้สังเกตอาการตัวเอง โดยคิดว่าอาจป่วยไข้หวัดหรือโควิด และเลือกที่จะซื้อหายามารับประทานเอง เช่น ยาแอสไพรินแก้ไข้ ยิ่งทำให้อาการทรุดหนัก

ส่วนเด็กไม่ได้ป่วยมากเหมือนก่อน เนื่องจากอัตราการเกิดน้อยลง ขณะที่แพทย์ผู้เชี่ยวชาญในการวินิจฉัยโรคนี้ ส่วนใหญ่เป็นกุมารแพทย์ ทั้งนี้ การวินิจฉัยโรคไข้เลือดออกในผู้ใหญ่และผู้สูงอายุยากกว่าเด็ก ความเชี่ยวชาญของหมอก็เป็นอีกปัจจัยหนึ่ง เพราะคนส่วนใหญ่คิดไม่ถึงว่า ไข้เลือดออกจะพบในผู้ใหญ่ แต่จริง ๆ แล้วไข้เลือดออกเป็นแล้วตายได้ แต่ไข้หวัดไม่ตาย

"การสังเกตอาการผู้ป่วยไข้เลือดออก คือ มีอาการคลื่นไส้ ปวดท้อง แต่หากมีอาการปวดท้องมากร่วมแสดงว่า ตับเริ่มโต และมีความเสี่ยงที่จะเกิดอาการช็อกเสียชีวิตได้ การให้น้ำเกลือหรือสารน้ำ อาจไม่ทันการณ์กับการช่วยชีวิต ทางที่ดีต้องสังเกตใส่ใจตัวเอง และคนรอบบ้านด้วย หากในรอบรัศมีบ้าน มีผู้ป่วยไข้เลือดออก ก็ให้สงสัยว่า ตนเอง อาจมีอาการป่วยจากโรคนี้ได้" นพ.จักรรัฐกล่าว

ทั้งนี้ ข้อมูลสถานการณ์การระบาดของโรคไข้เลือดออก ตั้งแต่ วันที่ 1 ม.ค. - 27 ธ.ค. 2566 พบผู้ป่วย 153,734 คน อัตราป่วย 232.47 ต่อแสนประชากร เสียชีวิต 168 คน อัตราตายร้อยละ 0.11 หากเปรียบเทียบอัตราป่วยระหว่างปี ในช่วงเวลาเดียวกันของปี 2566 กับปี 2565 มีอัตราป่วยมาก 3.4 เท่า รายงานเพิ่มจากสัปดาห์ที่ผ่านมา 2,926 คน เสียชีวิต 3 คน หากเปรียบเทียบอัตราป่วยตามเพศจะพบว่า ไม่แตกต่าง ชาย 78,320 คน คิดเป็นร้อยละ 50.9 และหญิง 75,414 คน ร้อยละ 49.1

หากเปรียบเทียบช่วงอายุที่พบการป่วยมากที่สุด คือ อายุ 5-14 ปี จำนวน 52,213 คน คิดเป็นอัตราป่วย 700.44 ต่อแสนประชากร รองลงมาอายุ 0-4 ปี จำนวน 19,374 คน คิดเป็นอัตราป่วย 679.80 ต่อแสนประชากร และอายุ 15-24 ปี จำนวน 32,200 คน คิดเป็นอัตราป่วย 392.41 ต่อแสนประชากร ส่วนกลุ่มอาชีพที่พบป่วย ในกลุ่มนักเรียน 69,391 คน คิดเป็นร้อยละ 45.1 รองลงมา รับจ้าง 29,851 คน ร้อยละ 19.4

อัตราการเสียชีวิตของผู้ใหญ่อายุ 15 ปีขึ้นไปมีถึง 134 คน และเด็กอายุน้อย 15 ปี 47 คน โดย ปัจจัยเสี่ยง ของการป่วยในวัยผู้ใหญ่ พบว่า ไปรพ.ช้า ประมาณวันที่ 4 หลังเริ่มมีอาการป่วย ร้อยละ 32.8 ,โรคประจำตัว และติดสุรา ร้อยละ 29.9 และมีภาวะอ้วน ร้อยละ 24.6 ส่วนปัจจัยการเสียชีวิตของเด็ก มากสุด ร้อยละ 23.4 มากจากภาวะอ้วน รองลงมา ไปรพ.ช้า วันที่ 4 หลังเริ่มป่วย ร้อยละ 19.1 , มีโรคประจำตัว ร้อยละ 12.8


กำลังโหลดความคิดเห็น