xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัย เร่งส่งทีมประเมินความเสี่ยง หลังกระบะทำสารเคมีรั่วที่ "สมุทรปราการ" แนะ 5 วิธีป้องกัน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย เผยรถกระบะทำสารเคมีรั่วไหล จ.สมุทรปราการ คลี่คลาย นำสารเคมีที่รั่วไหลไปกำจัดแล้ว จัดส่งทีม SEhRT ประเมินความเสี่ยงอนามัยสิ่งแวดล้อม สำรวจปนเปื้อน ประเมินสุขภาพอากาศ พร้อมแนะ 5 ข้อป้องกันความเสี่ยง

จากกรณีเหตุรถกระบะบรรทุกถัง 200 ลิตร ทำสารเคมีกำจัดศัตรูพืชรั่วไหล ในพื้นที่ ต.สำโรงเหนือ อ.เมือง จ.สมุทรปราการเมื่อคืนวันที่ 4 ม.ค. 2567 ที่ผ่านมานั้น

เมื่อวันที่ 5 ม.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าวสนับสนุนทีม SEhRT ร่วมเฝ้าระวังและประเมินความเสี่ยงสุขภาพและสิ่งแวดล้อม จากภาวะฉุกเฉินรถบรรทุกสารเคมีรั่วไหล จ.สมุทรปราการ ว่า จากกรณีสารเคมีกำจัดศัตรูพืชประเภทอลูมิเนียมฟอสไฟด์รั่วไหล หากโดนน้ำจะทำให้เกิดก๊าซที่มีความเป็นพิษสูง และหากสูดดมหายใจเข้าไปจะส่งผลต่อระบบทางเดินหายใจ และอาจเป็นอันตรายต่อชีวิตหากได้รับความเข้มข้นสูง ล่าสุดสถานการณ์รั่วไหลของสารเคมีถือว่าคลี่คลายลง จากทีมเจ้าหน้าที่ในพื้นที่ และมีการนำสารที่รั่วไหลไปกำจัดเรียบร้อยแล้ว อย่างไรก็ตาม ประชาชนในพื้นที่ยังความกังวล กรมอนามัยจึงได้ส่งทีมปฏิบัติการด้านส่งเสริมสุขภาพและอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 6 จ.ชลบุรี ร่วมกับสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สมุทรปราการ ลงพื้นที่เพื่อประเมินความเสี่ยงด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ได้แก่

1.สำรวจการปนเปื้อนและประเมินสุขภาพอากาศในอาคารที่พักอาศัยบริเวณใกล้เคียง 2.ประสานหน่วยงานที่มีบทบาทหน้าที่รับผิดชอบ เพื่อเร่งเก็บขนทำความสะอาดพื้นที่ถนน ซึ่งอาจมีสารเคมี ซึ่งถูกกลบด้วยทรายไม่ให้ตกค้าง เพื่อป้องกันความเสี่ยงด้านสุขภาพ 3.สื่อสารสร้างการรับรู้ให้ประชาชนในการดูแลสภาพแวดล้อม ทำความสะอาด 4.ร่วมประเมินความเสี่ยงด้านสุขภาพและให้คำแนะนำสังเกตอาการความผิดปกติ หรือผลกระทบทางสุขภาพอื่นๆ ตลอดจนการดูแลตนเองในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบาง เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพประชาชน และ 5.สนับสนุนหน้ากาก N95

นพ.อรรถพล กล่าวว่า กรมอนามัย มีคำแนะนำเพื่อป้องกันความเสี่ยงต่อสุขภาพประชาชน โดยมีคำแนะนำให้ดำเนินการ ดังนี้ 1.เปิดประตูหน้าต่าง ระบายอากาศ หลีกเลี่ยงการใช้เครื่องปรับอากาศชั่วคราว เพื่อให้อากาศถ่ายเท ลดการตกค้างของสารเคมีในบ้าน 2.ทำความสะอาดบ้านเรือน เช็ดล้างอุปกรณ์ หรือเฟอร์นิเจอร์ในบ้าน เพื่อลดการปนเปื้อนของละอองหรือเขม่าจากการเกิดเพลิงไหม้ของสารเคมีจากเหตุการณ์ดังกล่าว โดยสวมหน้ากากหรือสวมถุงมือขณะทำความสะอาด 3.สังเกตอาการตนเอง หรือคนในครอบครัว โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง กลุ่มเปราะบางในบ้าน ได้แก่ ผู้สูงอายุ เด็กเล็ก หญิงตั้งครรภ์ หรือผู้มีปัญหาโรคระบบทางเดินหายใจ หากมีอาการผิดปกติให้รีบพบแพทย์โดยด่วน

เมื่อถามว่าหน้ากาก N95 ป้องกันได้มากน้อยอย่างไร นพ.อรรถพล กล่าวว่า หน้ากาก N95 สามารถป้องกันสารเคมีอันนี้ได้ 100% แต่เนื่องจากบางครั้งประชาชนไม่สามารถหาซื้อได้ ก็ยังมีหน้ากากคาร์บอนป้องกันได้ 80% ราคาถูกกว่า ซึ่งในภาวะฉุกเฉินสามารถใช้ได้ โดยเฉพาะในส่วนที่ไม่ได้มีความเข้มข้นของสารเคมีมาก


กำลังโหลดความคิดเห็น