xs
xsm
sm
md
lg

สรุปสถานการณ์โรคปี 66 พบ "ไข้เลือดออก-ไข้หวัดใหญ่-โควิด" ระบาดมากสุด

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมควบคุมโรคสรุป 3 อันดับโรคระบาดมากสุด ปี 66 "ไข้เลือดออก" ป่วย 1.47 แสนคน อัตรา 222.91 ต่อแสนคน ตาย 174 คน คาดระบาดต่อปี 67 "ไข้หวัดใหญ่" ป่วย 4.6 แสนคน ตาย 29 คน และ "โควิด" 3.7 หมื่นคน ตาย 845 ราย

เมื่อวันที่ 30 ธ.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปี 2566 โรคติดต่อที่มีการระบาดและมีผู้ป่วยมากที่สุด 3 อันดับแรก คือ 1.โรคไข้เลือดออก โดยวันที่ 1 ม.ค. – 13 ธ.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วย รวม 147,412 ราย อัตราป่วย 222.91 ต่อประชากรแสนคน ผู้ป่วยสูงกว่าปีที่ผ่านมา 3.4 เท่า กระจายทั่วประเทศ และพบผู้ป่วยเสียชีวิตที่ได้รับการตรวจยืนยันทางห้องปฏิบัติการ รวม 174 รายจาก 57 จังหวัด อัตราป่วยตาย 0.12 % โดยอัตราป่วยตายสูงสุดในกลุ่มอายุ 25 - 34 ปี ส่วนใหญ่เป็นกลุ่มเสี่ยงที่มีโรคประจำตัวเรื้อรัง และภาวะอ้วน ผลตรวจทางห้องปฏิบัติการในผู้เสียชีวิตพบไวรัสเดงกีทั้ง 4 สายพันธุ์ โดยพบ DENV-2 มากที่สุด รองลงมา คือ DENV-1 DENV-3 และ DENV-4 ตามลำดับ


นพ.ธงชัยกล่าวว่า ทุกปีที่เกิดเอลนีโญจะเป็นปีที่ระบาด โดยปี 2566 เป็นปีแรกและจะเกิดการระบาดติดต่อกัน 2 ปี โดยปี 2567 อาจจะระบาดมากหรือน้อยกว่าปี 2566 ขึ้นอยู่กับประชาชนช่วยกันดูแลควบคุมลูกน้ำยุงลาย ให้มีปริมาณยุงน้อยที่สุด โอกาสการระบาดก็จะน้อยลง จึงขอให้ทายากันยุงในการป้องกันตัวเองด้วย ขณะนี้องค์การอนามัยโลก (WHO) ก็ให้ความสนใจกับสถานการณ์ไข้เลือดออกที่เพิ่มมากขึ้น ทั้งในเมืองร้อนและเมืองหนาว จากสภาวะโลกร้อน และ One Health ซึ่งไม่ได้ดูแค่ตัวมนุษย์เอง แต่ยังดูรวมถึงสิ่งแวดล้อม และสัตว์ มีความสัมพันธ์กัน

"ทั่วโลกจึงให้ความสำคัญเรื่องโลกเป็นหนึ่งต้องดูแลกันและกัน เมื่อสิ่งแวดล้อมถูกทำลายก็ส่งผลถึงคนได้ สัตว์สามารถนำโรคสู่คนได้ คนก็สามารถนำโรคสู่สัตว์ได้” นพ.ธงชัยกล่าว


2.ไข้หวัดใหญ่ วันที่ 1 ม.ค. - 16 ธ.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วยโรคไข้หวัดใหญ่ 460,325 ราย ผู้เสียชีวิต 29 ราย อัตราป่วยตาย 0.006 % พบอัตราป่วยสูงสุดในเด็กกลุ่มอายุ 0 - 4 ปี จำนวน 2,414.02 ต่อประชากรแสนคน รองลงมา กลุ่มอายุ 5-14 ปี จำนวน 2,401.64ต่อประชากรแสนคน และอายุ 15-24 ปี จำนวน 716.10 ต่อประชากรแสนคน

นพ.ธงชัยกล่าวว่า เมื่ออากาศเย็น หนาว หรือสภาพอากาศมีการเปลี่ยนแปลง ร่างกายภูมิคุ้มกันจะต่ำลง โอกาสจะติดเชื้อและป่วยก็สูงขึ้น เกิดขึ้นเป็นประจำทุกปี ซึ่งปี 2566 ผู้ป่วยมากกว่าช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมาที่มีการระบาดโควิด 19 การติดต่อของโรคทั้ง 2 นี้เหมือนกัน เมื่อมีการป้องกันตัวเองจากโควิด ทำให้ป้องกันการติดไข้หวัดใหญ่ด้วย แต่เมื่อประชาชนเริ่มผ่อนคลายป้องกัน การป่วยด้วยโรคไข้หวัดใหญ่จึงเพิ่มมากขึ้น ดังนั้น ผู้ป่วยที่มีอาการของทางเดินหายใจ มีน้ำมูก ไอ จามควรใส่หน้ากากอนามัย

ส่วนผู้ที่ปกติก็พกหน้ากากอนามัยไว้ หากอยู่ในพื้นที่ที่ไม่มั่นใจ เช่น ที่สาธารณะคนแอออัดก็ใส่หน้ากากอนามัยได้ และการล้างมือบ่อยๆยังเป็นสิ่งสำคัญในการควบคุม ป้องกันโรค เพราะไม่รู้ว่ามีใคร ไอ จามตรงไหน แล้วมือเราไปสัมผัส มาหยิบจับอาหารเข้าปากหรือขยี้ตา ดังนั้น ยังแนะนำประชาชนให้พกหน้ากากอนามัยและแอลกอฮอล์สำหรับล้างมือตลอดเวลา เมื่อมีความจำเป็นสามารถหยิบใช้ได้ทันที


3.โควิด 19 วันที่ 1 ม.ค. – 23 ธ.ค. 2566 มีรายงานผู้ป่วยนอนรักษาในโรงพยาบาล รวม 37,863 ราย, ปอดอักเสบ จำนวน 114 ราย, เสียชีวิต รวม 845 ราย พบการระบาดในวงกว้างช่วงต้นปี 2566 ต่อเนื่องจากปี 2565 และพบการระบาด ใหญ่ในช่วงกลางปี เม.ย.– ก.ค. 2566 โดยมีผู้ป่วยที่ได้รับรายงานสุงสุด ในสัปดาห์ที่ 22 จำนวน 3,085 ราย และพบผู้เสียชีวิตสูงสุด ในสัปดาห์ที่ 23 จำนวน 69 ราย

นพ.ธงชัยกล่าวว่า โควิดยังมีผู้ป่วยแต่ไม่ถึงกับระบาดเหมือนช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา ลดน้อยกว่าเดิม ความรุนแรงไม่ได้เพิ่มขึ้น และการเสียชีวิต การต้องนอนโรวพยาบาล การต้องใส่เครื่องช่วยหายใจไม่ได้มากขึ้น เนื่องจากการมีภูมิคุ้มกัน ส่วนหนึ่งได้มาจากวัคซีน ส่วนหนึ่งเคยติดเชื้อมาแล้ว อย่างไรก็ตามพบว่าผู้เสียชีวิตและผู้เจ็บป่วยรุนแรง ยังเกิดในกลุ่มเปราะบาง เช่น ผู้สูงอายุ มีโรคประจำตัว ที่สำคัญ ไม่ได้รับวัคซีนเลย

ส่วนโรคอื่นๆไม่ได้มีการระบาดทั่วไป มีการเฝ้าระวังและไม่อยากให้เกิดขึ้นมา เช่น ฝีดาษวานร มีการระบาดเฉพาะกลุ่ม ชายรักชาย โดยในกลุ่มผู้ป่วยเอชไอวีที่ไม่ได้รับประทานยา พบว่าเสียชีวิต ไม่ได้เนื่องจากฝีดาษวานร แต่เป็นเอดส์แล้วไม่ทานยาแล้วมาติดเชื้อฝีดาษวานรร่วมด้วย สิ่งที่ทำให้เสียชีวิตคือโรคตัวอื่น รวมถึงไอกรนระบาดเฉพาะพื้นที่ 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เนื่องจากเป็นพื้นที่ที่มีอัตราความครอบคลุมของการรับวัคซีนต่ำ เมื่อมีเชื้อ โอกาสที่จะแพร่กระจายและโอกาสติดได้ จึงไม่ได้เป็นการระบาดในภาพรวม ส่วนภาคใต้ก็ไม่ได้ระบาดมาก แต่เพิ่มมากขึ้นจากปีที่ผ่านมาและเป็นโรคที่ต้องเฝ้าระวัง


กำลังโหลดความคิดเห็น