กรมควบคุมโรคสรุปผลใช้เทคโนโลยีจำ "ลายม่านตา-ใบหน้า" หลังนำร่อง 5 จังหวัดครึ่งปีหลัง 66 ช่วยเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคล "แรงงานข้ามชาติ" กว่า 8.6 พันคน เป็นเมียนมา 80% พบยืนยันตัวตนแม่นยำเมื่อมารับบริการ รพ. สะดวกออกหน่วยฉีดวัคซีน คัดกรองสุขภาพ ลุยขยายหน่วยบริการให้ครอบคลุมทั้งจังหวัดนำร่อง
เมื่อวันที่ 29 ธ.ค. นพ.โสภณ เอี่ยมศิริถาวร รองอธิบดีกรมควบคุมโรค เปิดเผยว่า กรมควบคุมโรค กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ร่วมกับ คณะอนุกรรมการกำกับทิศทางสุขภาพดิจิทัล ศูนย์บรรเทาทุกข์และประชานามัยพิทักษ์ สภากาชาดไทย และศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ได้ร่วมหารือเมื่อวันที่ 28 ธ.ค.ที่ผ่านมา เพื่อถอดบทเรียนสรุปผลการนำเทคโนโลยีการจดจำลายม่านตาและใบหน้า (Iris and Facial Recognition) มาใช้ในการจัดเก็บอัตลักษณ์บุคคล เพื่อยืนยันบุคคลประโยชน์ในงานบริการสาธารณสุขและการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมในกลุ่มแรงงานข้ามชาติ หลังจากปีที่ผ่านมาได้นำมาใช้ในพื้นที่นำร่อง พบว่า สามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการระบุตัวบุคคลได้อย่างดี เจ้าหน้าที่มีความพึงพอใจและเล็งเห็นประโยชน์ต่อแผนงานป้องกันควบคุมโรคและการดูแลสุขภาพ จึงมีการลงนามขยายผลการดำเนินงานไปสู่จังหวัดนำร่อง ได้แก่ สมุทรสาคร ตาก ชลบุรี ประจวบคีรีขันธ์ และ กทม. ตั้งแต่ ก.ค. - ธ.ค. 2566 มีแรงงานข้ามชาติได้รับประโยชน์จากการจัดเก็บข้อมูลอัตลักษณ์บุคคลเพื่อรับบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข ช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมแล้ว 8,619 คน โดยร้อยละ 80 เป็นแรงงานสัญชาติเมียนมา รองลงมาคือ กัมพูชา ร้อยละ 6.9 และลาว ร้อยละ 3.4
"สภากาชาดไทยได้สนับสนุนเครื่องมือและอุปกรณ์การใช้งานให้กับหน่วยบริการ ผู้ปฏิบัติงานจากพื้นที่นำร่องจะได้รับการอบรมการใช้งานก่อนนำไปปฏิบัติงาน พบว่า ระบบนี้สามารถยืนยันตัวบุคคลแรงงานข้ามชาติที่มารับบริการที่ รพ.ได้แม่นยำ สะดวกในการใช้งานกับการออกหน่วยเคลื่อนที่ เพื่อให้บริการสุขภาพเชิงรุกในชุมชน เช่น ฉีดวัคซีนป้องกันโรค คัดกรองสุขภาพต่างๆ ใช้งานร่วมกับการตรวจสุขภาพแรงงานก่อนการขึ้นทะเบียนได้" นพ.โสภณกล่าว
นพ.โสภณกล่าวว่า สำหรับแนวทางการดำเนินงานในระยะถัดไป ที่ประชุมเห็นชอบให้มีการขยายหน่วยบริการให้ครอบคลุมในจังหวัดนำร่อง โดยสภากาชาดไทยพร้อมสนับสนุนอุปกรณ์เพิ่มเติมในหน่วยบริการที่ร่วมโครงการ และเล็งเห็นโอกาสในการใช้ประโยชน์เพิ่มขึ้นจากการเชื่อมโยงข้อมูลที่จัดเก็บนี้กับข้อมูลสุขภาพของ รพ. ทั้งด้านการรักษา ป้องกันควบคุมโรคให้ครอบคลุมตามหลักมนุษยธรรม โดยไม่ทิ้งกลุ่มใดไว้ข้างหลัง เตรียมจัดตั้งคณะทำงานเพื่อพัฒนาแผนงานย่อยและเป้าหมายของการระบุตัวบุคคลในงานบริการตรวจสุขภาพแรงงานข้ามชาติปีต่อไป ภายใต้การทำงานแบบพหุภาคีที่มุ่งไปสู่สุขภาพที่ดีของทุกคนบนผืนแผ่นดินไทย