กรมอนามัยเร่งส่งทีม SEhRT อนามัยสิ่งแวดล้อม ลงช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมใต้ ตรวจปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหาร-น้ำบริจาค หนุนชุดสาธิตปรับปรุงน้ำ ชุดสุขอนามัย ประเมินความเสี่ยงสุขาภิบาล ประสานประปาจัดน้ำสะอาดดูแล ลดเสี่ยงแพร่โรค
เมื่อวันที่ 28 ธ.ค. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย แถลงข่าว “กรมอนามัย ส่งทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม หรือ ทีม SEhRT กรมอนามัย สนับสนุนการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ประสบภัยของภาคใต้ ลดความเสี่ยงสุขภาพประชาชน" ว่า น้ำท่วมในพื้นที่ภาคใต้หลายจังหวัด มีประชาชนได้รับผลกระทบมากกว่า 70,000 หลังคาเรือน พบประชาชนเริ่มมีภาวะเจ็บป่วยจากโรคที่มากับน้ำท่วม โรคแทรกซ้อนจากการปนเปื้อนเชื้อโรค ได้แก่ โรคระบบทางเดินอาหาร โรคระบบทางเดินหายใจ ที่มาจากการจัดการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อมที่ไม่เหมาะสม เช่น การรับประทานอาหารที่ปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารและน้ำบริโภค โดยเฉพาะเชื้อโคลิฟอร์มแบคทีเรียที่มากับอุจจาระจากการมีพฤติกรรมอนามัยที่ไม่ดี ไม่ล้างมือให้สะอาดหลังเข้าส้วม ทำให้เกิดภาวะท้องเสีย ท้องร่วงเฉียบพลัน
ทั้งนี้ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมอนามัย ได้สั่งการให้ทีมปฏิบัติการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมกรมอนามัย (SEhRT) จัดเตรียมวัสดุ อุปกรณ์ ชุดทดสอบด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม ตลอดจนสิ่งสนับสนุนเพื่อช่วยเหลือประชาชนที่ประสบภัยน้ำท่วม ลดความเสี่ยงสุขภาพจากปัญหาโรคที่อาจแทรกซ้อนมายังประชาชน นอกจากนี้ ได้ส่งทีม SEhRT ของศูนย์อนามัยที่ 12 ยะลา ลงพื้นที่ปฏิบัติภารกิจด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมในชุมชนที่ประสบภัย และศูนย์อพยพช่วยเหลือผู้ประสบภัยน้ำท่วมที่จังหวัดจัดตั้งขึ้นสำหรับช่วยประชาชนที่ได้รับผลกระทบ
ทีม SEhRT จะสนับสนุน 1.เฝ้าระวังด้านการสุขาภิบาล สุขอนามัย และอนามัยสิ่งแวดล้อม ทั้งตรวจวิเคราะห์ ประเมินความเสี่ยง ทดสอบการปนเปื้อนเชื้อโรคในอาหารทั้งที่ได้รับบริจาค และอาหารที่ประกอบปรุงเอง รวมทั้งในน้ำอุปโภคบริโภคทั้งในชุมชน และศูนย์อพยพฯ 2.สนับสนุนชุดสาธิตเราสะอาด (V-Clean) ที่ประกอบด้วย สารส้ม ปูนขาว คลอรีน เพื่อใช้สำหรับการปรับปรุงคุณภาพน้ำ ตลอดจนวัสดุ เคมีภัณฑ์ และเวชภัณฑ์ในการจัดการด้านอนามัยสิ่งแวดล้อมอื่นร่วมด้วย 3.สนับสนุนชุดดูแลสุขอนามัย (Sanitation Tool kit) ประกอบด้วยเจลแอลกอฮอล์ น้ำยาล้างมือ หน้ากากอนามัย สำหรับประชาชนใช้ในการดูแลตนเองป้องกันเชื้อโรคที่ส่งผลต่อสุขภาพ
4.ประเมินความเสี่ยงด้านสุขาภิบาล ทั้งการจัดการมูลฝอยที่ถูกสุขลักษณะ ประสานหน่วยงานท้องถิ่นจัดถังขยะแยกประเภทมีฝาปิดมิดชิด การจัดการห้องน้ำห้องส้วมสะอาด เพียงพอ และปลอดภัย การควบคุมป้องกันสัตว์แมลงนำโรค เช่น แมลงวันที่มาจากขยะสิ่งปฏิกูลที่เป็นพาหะของโรคอุจจาระร่วง และ 5. ประสานการประปาภูมิภาคเขต 5 หาดใหญ่ เพื่อขอรับการสนับสนุนน้ำสะอาดสำหรับใช้ในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม สำหรับในพื้นที่ประสบภัยน้ำท่วม ที่ประชาชนออกจากบ้านไม่ได้ ไม่มีน้ำสะอาดใช้ ทีม SEhRT ศูนย์ อนามัยที่ 12 ยะลา ได้ลงพื้นที่พบประชาชนเพื่อให้ความรู้ในการทำน้ำสะอาดด้วยตนเองด้วยการใช้สารส้ม คลอรีนเป็นการฆ่าเชื้อโรคก่อนนำน้ำมาใช้ ช่วยลดความเสี่ยงด้านสุขภาพประชาชน