xs
xsm
sm
md
lg

ทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง กสศ.ปี 67 ชวนสถานศึกษาสายอาชีพผลิตกำลังคนคุณภาพ  เพิ่มสาขาพัฒนา Soft Power  11 ด้าน ตอบโจทย์พื้นที่และประเทศ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สถานศึกษาสายอาชีพสามารถ ยื่นข้อเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ร่วมผลิตกำลังคนสายอาชีพคุณภาพ  2,500 คน ปีการศึกษา 2567 ผ่านระบบออนไลน์ ยื่นข้อเสนอโครงการได้ตั้งแต่วันที่ 23 ธันวาคม 2566 – 9 มกราคม 2567

วันนี้ (27 ธ.ค.) น.ส.ธันว์ธิดา วงศ์ประสงค์ ผู้อำนวยการสำนักพัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างโอกาสการเรียนรู้ กสศ. กล่าวว่า การแก้ไขปัญหาความเหลื่อมล้ำทางการศึกษาเป็นรากฐานสำคัญของความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยตลอด 5 ปีที่ผ่านมา โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง  กสศ. ได้สร้างโอกาสให้เยาวชนจากครัวเรือนยากลำบาก ได้เรียนต่อสูงกว่าการศึกษาภาคบังคับในสาขาความต้องการของตลาดแรงงานในประเทศและท้องถิ่นแล้ว ถึง 11,768 คน โดยกลุ่มนักศึกษาที่เรียนจบแล้วและเข้าทำงานในสถานประกอบการต่างๆ สามารถสร้างรายได้สูงกว่าพ่อแม่ถึง 4 เท่า มีรายได้หลักเฉลี่ยเดือนละ 12,000 บาท เยาวชนกลุ่มนี้เป็นคนแรกของครอบครัวที่หลุดพ้นจากความยากจนข้ามรุ่น
ดังนั้น ในปีการศึกษา 2567 กสศ. ขอเชิญสถานศึกษาสายอาชีพยื่นข้อเสนอ “โครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง” เพื่อพัฒนากำลังคนสายอาชีพและสร้างโอกาสให้เยาวชนได้เรียนต่อสายอาชีพชั้นสูงสอดคล้องกับแผนยุทธศาสตร์ประเทศไทย 4.0 และความต้องการตลาดแรงงานในประเทศ

โดยคุณสมบัติต้องเป็นสถานศึกษาที่จัดการศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพ (ปวช.) ต่อเนื่องประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรือประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) หรืออนุปริญญาสายอาชีพ ประกาศนียบัตรหลักสูตรผู้ช่วยพยาบาล หลักสูตรผู้ช่วยทันตแพทย์ (1 ปี) จากทุกสังกัด

ทั้งนี้ สถานศึกษาแต่ละแห่ง สามารถเสนอจำนวนนักศึกษาตั้งแต่ 30 คนขึ้นไป โดยรวมทุกข้อเสนอโครงการแล้วไม่เกิน 150 คนต่อสถานศึกษา และไม่เกิน 5 สาขางาน โดยในปี 2567 ได้เพิ่มเกณฑ์ใหม่ ที่แตกต่างจากปีอื่นๆ คือแต่ละสาขาที่เปิดรับ ต้องมีจำนวนนักศึกษาอย่างน้อย 15 คนต่อสาขางาน

ทั้งนี้ กสศ. จะคัดเลือกข้อเสนอโครงการที่มีคุณภาพสูงสุดตามเกณฑ์เพื่อจัดงบประมาณสนับสนุนการดำเนินงานภายใต้กรอบวงเงินงบประมาณที่ สามารถสนับสนุนได้ จำนวนประมาณ 50- 70 โครงการ โดยมีกำหนดรับนักศึกษาเข้าสู่โครงการในปีการศึกษา 2567 
ผศ.ดร.ปานเพชร ชินินทร อนุกรรมการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพการศึกษาระดับสูงกว่าภาคบังคับ กสศ. กล่าวว่า หลักสูตรและสาขาที่เปิดรับในปีนี้ ประกอบด้วย 1.สาขาที่เป็นเป้าหมายหลักของการพัฒนาประเทศ ตามนโยบายผลักดันเศรษฐกิจและพัฒนาไปสู่เป้าหมายนโยบายประเทศ 4.0 ของรัฐบาล โดยมุ่งเน้นหลักสูตร สมัยใหม่ ได้แก่ อุตสาหกรรมที่มีศักยภาพ (First-Curve) อาทิ อุตสาหกรรมยานยนต์สมัยใหม่ อุตสาหกรรมอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ อุตสาหกรรมท่องเที่ยวกลุ่มรายได้ดี อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ อุตสาหกรรมเกษตรและเทคโนโลยีชีวภาพ และ อุตสาหกรรมอนาคต (New S-Curve) อาทิ หุ่นยนต์เพื่ออุตสาหกรรมและเพื่อคุณภาพชีวิต อุตสาหกรรมการบินและโลจิสติกส์ อุตสาหกรรมเคมีชีวภาพ อุตสาหกรรมดิจิตอล อุตสาหกรรมเครื่องมือและอุปกรณ์การแพทย์

2. สาขาที่ขาดแคลน ด้านสายอาชีพในท้องถิ่นจังหวัดหรือกลุ่มจังหวัด ซึ่งสถานศึกษา ตั้งอยู่ในจังหวัด หรืออาจรวมถึงพื้นที่จังหวัดใกล้เคียง โดยในปีนี้ ได้เพิ่มเติมด้านอุตสาหกรรมซอฟต์พาวเวอร์ 11 สาขา ที่ตอบโจทย์ของแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น สาขาวิชาคอมพิวเตอร์เกมและแอนิเมชั่น  สาขาวิชาเทคโนโลยีแฟชั่น และเครื่องแต่งกาย สาขาวิชาธุรกิจความงาม สาขาวิชาเชฟอาหารไทย สาขาวิชาการธุรกิจการกีฬา สาขาวิชาเทคโนโลยีเซรามิก  สาขาวิชาศิลปหัตถกรรมรูปพรรณเครื่องถมและเครื่องประดับ สาขาวิชาการถ่ายภาพและมัลติมีเดีย สาขาวิชาเครื่องประดับอัญมณี  

และ 3. ด้านวิทยาศาสตร์ เทคโนโลยีและเทคโนโลยีดิจิทัล (STEM) ซึ่งเปิดหลักสูตรประกาศนียบัตร 1 ปี ได้แก่หลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยพยาบาล สถานศึกษาที่ขอรับทุนต้องได้รับการรับรองจากสภาการพยาบาลอย่างน้อย 3 ปี และหลักสูตรประกาศนียบัตรผู้ช่วยทันตแพทย์ ซึ่งสถานศึกษาที่ขอรับทุนต้องได้รับการรับรองจาก ทันตแพทยสภา

โครงการจะพิจารณาถึงความพร้อมของสถานศึกษาในด้านต่างๆ รวม 5 ด้าน เช่น 1.ด้านบุคลากร ต้องมีรายละเอียดครูผู้รับผิดชอบหลักสูตร ครูประจำหลักสูตร ครูนิเทศ ที่มีวุฒิประสบการณ์การทำงานที่สอดคล้องกับหลักสูตรรวมถึงผู้บริหารโครงการและคณะทำงานที่ชัดเจน 2.ด้านสถานที่ เครื่องมืออุปกรณ์และ แหล่งเรียนรู้ ที่มีมาตรฐานและเหมาะสมต่อการเรียนการสอนอย่างมีคุณภาพ สำหรับวิทยาลัยขนาดเล็ก ซึ่งขาดความพร้อมบางด้าน สามารถแก้ปัญหา ด้วยการจัดการเรียนการสอน ร่วมกับพันธมิตร หรือวิทยาลัยอื่นที่มีความพร้อมได้

3.ด้านที่พัก มีหอพักและระบบจัดการดูแลความเป็นอยู่ที่ดีมีครูผู้ทำหน้าที่รับผิดชอบ ดูแลผู้รับทุนในหอพัก ในกรณีที่สถานศึกษาไม่มีหอพัก ที่ตั้งอยู่ในสถานศึกษา ต้องแสดงให้เห็นถึงความร่วมมือระหว่างสถานศึกษาและหอพักภายนอก แม้กระทั่งนักศึกษาที่พักที่บ้านตัวเอง ก็ต้องมีระบบการดูแลและติดตามผู้รับทุนที่ชัดเจน เพื่อป้องกันนักศึกษาหลุดจากระบบการศึกษา 4.ด้านการบูรณาการเรียนรู้กับการทำงาน (Work Integrated Learning) พัฒนาหลักสูตรร่วมกับสถานประกอบการ  ระบบการเรียนการสอนที่สร้างสมรรถนะ  5.ความร่วมมือในการผลิตบุคลากรให้กับสถานประกอบการ  มีสถานประกอบการร่วมมือไม่น้อยกว่า 2 แห่งต่อสาขา และควรมีการประกันการมีงาน

เรืออากาศโทสมพร ปานดำ รองเลขาธิการคณะกรรมการการอาชีวศึกษา กล่าวว่า ตลอดเวลา 5 ปีที่ผ่านมา มีเยาวชนที่ฐานะยากลำบาก แต่มีผลการเรียนดี หรือกลุ่มเด็กช้างเผือก ได้รับทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง ปวช.ต่อเนื่อง ปวส. 5 ปี และทุน 2 ปีในระดับปวส. ด้วยสวัสดิการเรียนฟรีเต็มรูปแบบ ค่าเทอมค่าครองชีพ ในจำนวนนี้ ยังมีผู้เรียนที่มีความต้องการพิเศษ ที่มีโอกาสเรียนสูงกว่าชั้นม. 6 และเป็นแรงงานที่มีทักษะ พร้อมที่จะเข้าสู่ตลาดแรงงาน
ผลลัพธ์สำคัญ พบว่า 78% ของนักศึกษาทุนมีผลการเรียนที่มีระดับดีมากเกรดเฉลี่ย 3.00 ถึง 4.00
นักศึกษาทุนรุ่นแรกที่เรียนจบในระดับปวส. มีรายได้เฉลี่ย ถึง 10,800 บาท และมีรายได้เฉลี่ยสูงสุดถึง 32,000 บาท และเกิดความร่วมมือร่วมทุนกับภาคเอกชนผ่านการยกระดับคุณภาพเรื่องหลักสูตรที่ทันสมัยในสถานศึกษา ได้แก่ อุตสาหกรรมการเกษตร อาหารและโภชนาการแมคคาทรอนิกส์ การซ่อมบำรุงระบบรางเครื่องกลงานเชื่อมยานยนต์ไฟฟ้ายานยนต์สมัยใหม่มีการพัฒนามาตรฐานการฝึกงาน มีการพัฒนามาตรฐานการจัดการศึกษาทวิภาคีการพัฒนาเครื่องมือในการเรียนการสอน การพัฒนาครูอาชีวศึกษาในสถานประกอบการ

“การทำงานร่วมกันระหว่างกสศ.และอาชีวะ มีความสอดคล้องและเป็นไปตามนโยบายทางการศึกษาของกระทรวงศึกษาธิการ ที่ต้องการยกระดับคุณภาพการศึกษาเต็มกำลังความสามารถอย่างมีกัลยาณมิตรต่อกัน ภายใต้แนวการทำงานจับมือไว้แล้วไปด้วยกันและเรียนดีมีความสุข โดยมีเป้าหมายสำคัญในการพัฒนาทรัพยากรกำลังคนของประเทศหรือทุนมนุษย์”

สถาบันการศึกษาสายอาชีพที่มีคุณสมบัติเสนอโครงการทุนนวัตกรรมสายอาชีพชั้นสูง สามารถยื่นข้อเสนอโครงการผ่านระบบออนไลน์ได้ที่เว็บไซต์ www.eef.or.th ระหว่างวันที่ 23 ธันวาคม 2566 – 9 มกราคม 2567 (ปิดรับ เวลา 23.59 น.)










กำลังโหลดความคิดเห็น