xs
xsm
sm
md
lg

พบสูงวัยเพิ่ม 12.5 ล้านคน ติดเตียงกว่า 4.6 หมื่นคน รุกดูแลจาก รพ.สู่ชุมชน ป้องกันสโตรก ลดแผลกดทับ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



พบสูงวัยเพิ่ม 12.5 ล้านคน ติดเตียงกว่า 4.6 หมื่นคน สสส. สานพลังภาคีเครือข่าย ถอดบทเรียนระบบบริการ-ฟื้นฟูสุขภาพเชิงรุก-ดูแลต่อเนื่องจาก รพ. สู่ชุมชน ป้องกันกลุ่มติดเตียง-หลอดเลือดสมองแตก-ตีบ-อุดตัน อัมพฤกษ์-อัมพาต ลดการบาดเจ็บจากแผลกดทับ สร้างคุณภาพชีวิตของประชาชน

สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ บริษัท เวลบีอิ้ง ครีเอชั่น จำกัด สมาคมแพทย์เวชปฏิบัติทั่วไป/เวชศาสตร์ครอบครัวแห่งประเทศไทย สมาคมกายภาพบำบัดแห่งประเทศไทย จัดเวทีถอดบทเรียนระบบบริการฟื้นฟูสุขภาพเชิงรุก ดูแลต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน ภายใต้การดำเนินงาน ขับเคลื่อนขยายผลกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพ ครบวงจร นพ.พงศ์เทพ วงศ์วัชรไพบูลย์ ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า ในปี 2564 ไทยมีประชากรสูงอายุเพิ่มขึ้นถึง 12.5 ล้านคน หรือคิดเป็น 19% ของประชากรทั้งหมด พบผู้สูงอายุติดบ้าน 207,024 คน ติดเตียง 46,779 คน มีภาวะพึ่งพิงต้องมีผู้ดูแล หรืออุปกรณ์ช่วยเหลือ 364,410 คน ผู้สูงอายุมีปัญหาโรคไม่ติดต่อ(NCDs) มีภาวะพิการ โรคหลอดเลือดสมองแตก หลอดเลือดตีบ อุดตัน ที่ส่งผลให้เกิดอัมพฤกษ์อัมพาต กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด จำเป็นต้องเข้าไปฟื้นฟู ส่งเสริมป้องกันคนติดเตียง ให้ความรู้ตั้งแต่โรงพยาบาล เจ้าหน้าที่หน่วยบริการสุขภาพติดตามดูแลอาการ ผู้ดูแล การพักฟื้นที่บ้าน ตลอดจนป้องกันฟื้นฟูในชุมชนลดบาดเจ็บจากแผลกดทับ


“สสส. สนับสนุนกลไกการจัดการกองทุนฟื้นฟูสุขภาพระดับจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพ พัฒนาขยายผล ต่อยอดการดำเนินงานให้ส่งผลต่อระบบงาน และกลุ่มเป้าหมายเพิ่มมากขึ้น บูรณาการตั้งแต่ระดับพื้นที่ จนถึงระดับประเทศ เข้าไปทำงานดูแลสุขภาพเชิงรุกในมิติสุขภาพ ให้ประชากรกลุ่มเป้าหมายได้รับการดูแลอย่างมีคุณภาพ ครอบคลุม ทั่วถึง ทั้งด้านรักษาพยาบาล ฟื้นฟูสุขภาพ ควบคู่การสนับสนุนกายอุปกรณ์ เครื่องช่วย หรือผู้ช่วยในการดำเนินชีวิตประจำวัน พัฒนาให้มีอาชีพ มีบทบาทในสังคม ส่งผลให้เกิดคุณภาพชีวิตและสุขภาพที่ดีของประชาชน” นพ.พงศ์เทพ กล่าว


ดร.สุรศักดิ์ อธิคมานนท์ ผู้รับผิดชอบโครงการขับเคลื่อนขยายผลกองทุนฟื้นฟูสมรรถภาพระดับจังหวัด ให้มีประสิทธิภาพ ครบวงจร กล่าวว่า การถอดบทเรียนในครั้งนี้ เพื่อทบทวนการดำเนินงาน ประสบการณ์ของประชาชนในพื้นที่ สนับสนุนพัฒนาศักยภาพของกลไกกองทุนฟื้นฟูฯ ขณะนี้ได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมสรุปบทเรียน ในพื้นที่ 10 จังหวัดนำร่องที่สามารถดูแลฟื้นฟูสุขภาพได้ในระดับดี เพื่อเป็นกรอบแนวทางการทำงาน นำไปถ่ายทอด เผยแพร่ ต่อยอด ขยายผลบทเรียนสำคัญ ให้แก่พื้นที่จังหวัดอื่นๆ ที่สนใจต่อไป พัฒนาภาคี/วิชาชีพที่เกี่ยวข้อง ดูแลต่อเนื่องจากโรงพยาบาลสู่ชุมชน คาดว่าจะพัฒนาให้เกิดกองทุนฟื้นฟูระดับจังหวัด พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ ประชาชนเข้าถึงการรักษาพยาบาล พร้อมกับป้องกัน ฟื้นฟู ควบคู่กัน เกิดแนวทางการพัฒนาคุณภาพ/มาตรฐานการจัดการกองทุนฟื้นฟูระดับจังหวัดอย่างยั่งยืน


กำลังโหลดความคิดเห็น