สสส.จับตา 7 ทิศทางสุขภาพปี 67 ห่วงคนรุ่นใหม่เผชิญปัญหาครอบครัวข้ามรุ่น ติดน้ำตาลเกิดโรคเรื้อรัง เล่นพนันออนไลน์ สุรานอกระบบ ยาเสพติด หวั่นจมฝุ่น โลกร้อนกระทบมั่นคงอาหาร ด้านกรมอนามัยเผยผลวิจัยจีน ยุโรป อเมริกา พบยิ่งสัมผัสฝุ่นเพิ่ม ยิ่งเพิ่มเสีย่ง "มะเร็งปอด" 1.19 - 1.8 เท่า สูงขึ้นในชาย 4.2% ผู้หญิง 2.48%
เมื่อวันที่ 22 ธ.ค. ที่อาคารศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ นางเบญจมาภรณ์ ลิ้มปิษเฐียร ผู้ช่วยผู้จัดการอาวุโส สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) และรักษาการ ผอ.ศูนย์เรียนรู้สุขภาวะ สสส. กล่าวเปิดงาน ThaiHealth Watch 2024 จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย ปี 2567 : Next Gen Living คุณภาพชีวิตในอนาคต ว่า สสส. จัดทำ ThaiHealth Watch จับตาทิศทางสุขภาพคนไทย เป็นปีที่ 4 เพื่อสะท้อนอนาคตทิศทางสุขภาพ แนวทางลดความเสี่ยง โดย ThaiHealth Watch 2024 ได้รวบรวมองค์ความรู้ผ่านหลักการ 3S ได้แก่ 1.Situation สถานการณ์พฤติกรรมสุขภาพ จากรายงานสุขภาพคนไทย ปี 2566 2.Social Trend กระแสความสนใจในสื่อสังคมออนไลน์ และ 3.Solution ข้อแนะนำ ทั้งระดับปัจเจกบุคคลและข้อเสนอเชิงนโยบายต่อสังคม ออกมาเป็น 7 ประเด็นสุขภาพสำคัญที่น่าจับตามองในปี 2567 คือ
1.ครอบครัวข้ามรุ่น โครงสร้างครอบครัวที่เปลี่ยนแปลงจากสถานการณ์เด็กเกิดน้อย เข้าสู่สังคมสูงวัย ส่งผลต่อสุขภาพจิตของสมาชิกครอบครัว บางทีพ่อแม่ลูกพูดจาไม่เข้าหูกัน ไม่เข้าใจความรู้สึกกัน Gen X เสาหลักของบ้านรู้สึกเครียดกับปัญหาการเงิน 65% Gen Z พบความขัดแย้ง เผชิญความเครียดทางอารมณ์และความบกพร่องทางจิตใจ 51% จึงต้องปรับมุมมองเปลี่ยนความคิด การพัฒนานักสื่อสารสุขภาวะของคนหลากหลายวัย จะช่วยลดช่องว่างระหว่างวัยได้
2.ขนมขบเคี้ยวและเครื่องดื่มรสหวาน พบว่า 1 ใน 3 ของเด็กไทยกินขนม พร้อมน้ำที่มีส่วนผสมของน้ำตาลทุกวัน เนื่องจากกลยุทธ์การส่งเสริมการตลาดอาหารและเครื่องดื่มทำลายสุขภาพ เด็กอ้วนมีแนวโน้มเป็นผู้ใหญ่ที่ป่วยโรค NCDs โดยเฉพาะเบาหวานถึง 31% ผู้ป่วยเบาหวานอายุลดน้อยลงมากขึ้น ค่าใช้จ่ายการรักษาโรคอ้วนของประเทศสูงถึง 12,142 ล้านบาท จึงมีการทำเรื่องโภชนาการที่อ่านง่ายเพื่อเป้นทางเลือกในการเลือกซื้อ เดินหน้าภาษีความหวาน และขับเคลื่อนเครื่องดื่มหวานน้อยจำหน่ายออกสู่ตลาดให้มากขึ้นถึง 35%
3.พนันออนไลน์ จากการเข้าถึงเทคโนโลยี เจาะกลุ่มเด็กและเยาวชนเป็นผู้เล่นหน้าใหม่มากขึ้น โดยพบว่า โทรศัพท์มือถือเป็นช่องทางเล่นพนันมากที่สุด เกมสล็อตครองแชมป์ยอดนิยม โดย 42.1% เล่นพนันออนไลน์และออฟไลน์ อายุเพียง 15 ปีก็เข้าสู่การเล่นแล้ว ที่น่าห่วงคือนักเล่นพนันหน้าใหม่คิดว่าการพนันไม่อันตราย สสส. ผลักดันให้เกิดกลไกเครือข่ายเฝ้าระวังและสื่อสารสร้างความรู้เท่าทันการพนัน ลดผลกระทบจากการพนันระดับพื้นที่ทุกภูมิภาค
4.สุราท้องถิ่นนอกระบบ ความเสี่ยงจากสุราพื้นบ้าน สุราเถื่อน พบสารแปลกปลอมอ้างสรรพคุณด้านชูกำลัง หรือเสริมสมรรถนะทางเพศ ทั้งพิษจากสัตว์ สารเคมีกำจัดวัชพืชและแมลงส่งผลกระทบทางสุขภาพถึงขั้นเสียชีวิตทั้งผู้ผลิตและผู้บริโภค หรือมีการใช้เมทิลแอลกอฮอล์ที่ราคาถูกกว่า ความเสี่ยงอาจเกิดขึ้นได้ รวมถึงการดื่มก่อให้เกิดอุบัติเหตุ ความรุนแรงที่เกิดขึ้น เข้าถึงได้ไม่ยาก
5.ยาเสพติดมีความหลากหลายมากขึ้นและใกล้ตัวมาก อย่างกระท่อม กัญชา ก็ไม่ได้เป็นยาเสพติดแบบสมัยก่อน ประเด็นคือควบคุมเข้าถึงแค่ไหนถึงจะพอดี ซึ่งเยาวชนเข้าถึงง่าย ปัจจัยที่ทำให้วัยรุ่นใช้ยาเสพติด คือ อยากลอง ความรุนแรงในครอบครัว ปัญหาด้านสังคม สิ่งแวดล้อม ซึ่งการเสริมศักยภาพและสร้างกลไกป้องกันให้เยาวชนใช้เวลาเป็นประโยชน์จึงเป็นสิ่งสำคัญ
6.ลมหายใจในม่านฝุ่น โดยฝุ่น PM 2.5 มีต้นตอปัญหาที่แตกต่างหลากหลาย จำเป็นต้องเร่งสร้างความร่วมมือลดปัญหาจาก 3 แหล่งกำเนิด คือ ท่อไอเสียรถยนต์ โรงงานอุตสาหกรรมและการก่อสร้าง และการเผาในที่โล่ง โดยปี 2566 พบ 1,730,976 คนเป็นผู้ป่วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศ
และ 7.โลกเดือดสะเทือนไทย สภาพภูมิอากาศโลกเปลี่ยนไป มีโอกาส 50% ที่จะร้อนขึ้นอีก 1.5 องศาเซลเชียส ในอีก 5 ปี กระทบความมั่นคงทางอาหาร ซึ่งไทยเป็นประเทศที่มีการทำเกษตรกรรมเยอะ การสร้างระบบนิเวศอาหารสำคัญมาก ต้องมีกลไกการบริหารจัดการระบบอาหาร จัดสรรพื้นที่สาธารณะในชุมชนใช้ผลิตอาหารปลอดภัยเพื่อการบริโภคและสร้างรายได้ ช่วยสร้างความมั่นคงทางอาหารให้ชุมชนได้อย่างยั่งยืน
ด้าน นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า แหล่งกำเนิดฝุ่นแต่ละภาคแตกต่างกัน โดยภาคเหนือ เป็นไฟป่า เผาเศษวัสดุการเกษตร หมอกควันข้านแดน , ภาคอีสาน เผาเศษวัสดุการเกษตร ข้ามแดน เผาริมทาง , ภาคกลาง เผาเศษวัสดุการเกษตร ไฟป่า หมอกควันข้ามแดน ส่วน กทม. มาจากยานพาหนะ เผาที่โล่ง และโรงงานอุตสาหกรรมจากปริมณฑล ขณะที่ภาคใต้มาจากหมอกควันข้ามแดน สำหรับข้อมูลสุขภาพ จากข้อมูลพบว่าทั่วโลกทุกปีมีคน 7 ล้านคน ตายก่อนเวลาอันควรจากมลพิษอากาศ โดย 1 ใน 10 ของคนเสียชีวิตอายุต่ำกว่า 5 ปี ขณะที่ปี 2562 พบเด็กเสียชีวิตจากโรคติดเชื้อเฉียบพลัน 361,000 คน โดย 20% ของการเสียชีวิตเป็นทารกแรกเกิดมีสาเหตุจากมลพิษอากาศ ทั้งนี้ การสูด PM 2.5 ส่งผลระยะสั้น คือ ระคายเคืองตา ผิวหนัง คัดจมูก มีน้ำมูก หายใจลำบาก และเหนื่อยง่าย ส่วนระยะยาว มีทั้งโรคหัวใจและหลอดเลือด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง รวมถึงมะเร็งปอด
สำหรับประเทศไทยปี 2563 - 2566 แนวโน้มการป่วยด้วยโรคที่เกี่ยวข้องกับมลพิษทางอากาศเพิ่มสูงขึ้นทุกปี ทั้งกลุ่มโรคระบบทางเดินหายใจ กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด สมองอุดตันขาดเลือด กลุ่มโรคตาอักเสบ กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ และมะเร็งปอด ซึ่งเมื่อก่อนมะเร็งปอดมักมองว่าเกิดจากบุหรี่ แต่ปัจจุบันคนที่ไม่สูบบุหรี่ก็เกิดมะเร็งปอด โดยมีการคาดการณ์ว่าทั่วโลก มะเร็งปอดจะเพิ่มขึ้น 38% หรือถึง 2.89 ล้านคน ในปี 2030 ขณะที่จากการศึกษาในเทศมณฑลของจีน แสดงให้เห็นว่า การสัมผัส PM 2.5 เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัม/ลูกบาศก์เมตร (มคก./ลบ.ม.) จะส่งผลให้อุบัติการณ์ของมะเร็งปอดสูงขึ้น 4.2% ในผู้ชาย และ 2.48% ในผู้หญิง ส่วนการศึกษาที่ผ่านมาของยุโรปพบว่า การสัมผัส PM 2.5 เพิ่มขึ้นทุก 5 มคก./ลบ.ม. มีความสัมพันธ์กับการเพิ่มขึ้นของอุบัติการณ์ของมะเร็งปอด 1.8 เท่า ส่วนสหรัฐอเมริกา อุบัติการณ์ของ PM 2.5 เพิ่มขึ้น 10 มคก./ลบ.ม. ส่งผลต่อการเพิ่มขึ้นของมะเร็งปอด 1.19 เท่า
ด้านนายชัชวาลย์ ทองดีเลิศ ประธานสภาลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ทะลุเข้าสู่ปอดและเส้นเลือดได้ ที่ผ่านมา "เชียงใหม่" มีสถานการณ์หนักมาก เกิดขึ้นตั้งแต่ปี 2550 บางปีติดอันดับ 1 ของโลกที่คุณภาพอากาศแย่ที่สุด เรามีคณะกรรมการแก้ไขปัญหาหมอกควันภาคเหนือ ก่อนเปลี่ยนเป็นฝุ่นควัน และกำลังจะเปลี่ยนเป็นฝุ่นพิษเพื่อให้ชัดเจนขึ้น ว่ามันเป็นพิษ ทั้งนี้ การแก้ไขปัญหาภาครัฐจะดำเนินการฝ่ายเดียวไม่ได้ จึงมีการตั้ง "สภาลมหายใจเชียงใหม่" ที่ดึงทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ท้องถิ่น ภาคประชาสังคม วิชาการ อุตสาหกรรม เข้าร่วม เพื่อวิเคราะห์ปัญหาว่าทำไมถึงแก้ปัญหาไม่สำเร็จ ทำให้พบว่า 1.วิเคราะห์ปัญหาผิด ไม่มองรอบด้าน ทำให้แก้ปัญหาไม่ถูกจุด เช่น มองแค่เกิดจากชาวบ้านเผา ซึ่งจริงๆ ยังมีเรื่องของฝุ่นควันข้ามแดน การเผาป่า ไฟป่า โรงงานอุตสาหกรรมอีก 2.แก้ปัญหาแบบอีเวนต์หรือเฉพาะกิจ เช่น ตั้งคณะกรรมการแก้ปัญหาช่วง ธ.ค. จบ เม.ย. ก็ปล่อยไม่ได้หารือ แล้วมาตั้งคณะกรรมการใหม่ช่วงปลายปี
3.แก้ปัญหาแบบ Top Down จากกรุงเทพฯ ทำให้ไม่มีใครรับรู้เรื่องนี้อย่างจริงจัง แม้แต่สังคมโดยรวม ขาดความรู้เข้าใจ 4.ความรู้และกฎหมาย อย่างการกำหนดให้การเผาผิดกฎหมาย ใครเผาโดนจับ ทำให้เกิดการลักลอบจุด มีการแจ้งเป็นพันคดี แต่ไม่รู้ว่าใครจุด ทำให้การเผาผิดกฎหมาย และ และ 5.กฎหมายที่เราใช้คือ บรรเทาป้องกันสาธารณภัยจะดีเมื่อมีภัยมา จึงใช้งบ ใช้คน เครื่องจักรได้ เป็นการแก้ปัญหาเชิงรับ แต่ปัญหา PM 2.5 ต้องการแก้ปัญหาเชิงรุกและรอบด้าน
"เราชวนทุกฝ่ายมาคุยกันแก้ปัญหาลดฝุ่นควันให้ได้ โดยแปรความขัดแย้งเป็นพลังความร่วมมือของทุกภาคส่วน เพื่อฟื้นฟูระบบนิเวศ เปลี่ยนจากห้ามเผา Zero Burning มาเป็น Fire Management มีแอปลพิเคชัน FireD แอปฯ จัดการไฟป่าและฝุ่น PM 2.5 ของเชียงใหม่ ซึ่งภาคเหนือมักเกิดจากการเผาที่โล่งและไฟป่า แอปฯ นี้จะตรวจกระแสลม การระบายตัวของอากาศ อุณหภูมิ หากต้องจุดไฟเผาควรทำตอนไหน เวลาใด และมีระบบให้แจ้งลงทะเบียนเข้ามา ว่าหากจำเป็นต้องจุดเผาต้องแจ้งเข้ามา ทำให้เกิดประโยชน์ทั้งชาวบ้านที่ทำมาหากินได้ รัฐควบคุมได้ ประชาชนรับฝุ่นลดลง ซึ่งหากมีการจุดเผาโดยไม่แจ้ง หรือเผานอกช่วงเวลาที่แจ้งก็เอาผิดตามกฎหมาย" นายชัชวาลย์กล่าว
นายชัชวาลย์กล่าวว่า ความร่วมมือทุกฝ่ายเป็นพลังสำคัญ ซึ่งเรามีการขยายไปสู่สภาลมหายใจภาคเหนือ และจะมีการทำสภาลมหายใจกรุงเทพมหานคร ซึ่งจะช่วยให้แก้ปัญหาได้เร็วขึ้น เพราะคนกรุงเทพฯ เสียงดังกว่า รัฐบาลก็จะให้ความสำคัญ ส่วนอีสานก็กำลังจะตั้งสภาด้วย นอกจากนี้ มองว่าต้องขับเคลื่อนเรื่องการทำนโยบายให้เกิดความยั่งยืน เช่น พลังงานสะอาด เปลี่ยนพืชเชิงเดี่ยวเป็นพืชยั่งยืน การสร้างความมั่นคงทางอาหาร ระบบสวัสดิการสาธารณุขในการดูแลรักษาเยียวยา ขยายความรู้ สื่อสารเชิงรุก รับรู้ทุกอย่างเป็นจริง จะทำให้เกิดการแก้ปัญหาที่ยั่งยืนได้