xs
xsm
sm
md
lg

มติเอกฉันท์ ไม่ทบทวนปรับค่าจ้างใหม่ ค่าแรงขั้นต่ำตามเดิม 2-16 บาท ย้ำการเมืองอย่าแทรกแซง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปลัดกระทรวงแรงงาน เผยผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 10/2566 บอร์ดค่าจ้างยึดมติเดิมปรับค่าจ้างปี 67 ย้ำชัดการเมืองไม่ควรแทรกแซง ชี้ปรับใหม่ได้หากปัจจัยมีการเปลี่ยนแปลง

วันนี้ (20 ธ.ค.) นายไพโรจน์ โชติกเสถียร ปลัดกระทรวงแรงงาน เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 22 ครั้งที่ 10/2566 ที่มีการหารือถึงการทบทวนมติคณะกรรมการค่าจ้าง เมื่อวันที่ 8 ธันวาคมที่ผ่านมา หลัง นายพิพัฒน์ รัชกิจประการ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน ดึงกลับจากครม.ให้นำกลับมาทบทวนใหม่

โดยที่ประชุมใช้เวลาหารือกันเกือบ 2 ชั่วโมง มีข้อสรุปให้ยึดตามมติของคณะกรรมการค่าจ้างเมื่อวันที่ 8 ธันวาคม 67 ตามเดิม เนื่องจากสูตรการคำนวณค่าจ้างขั้นต่ำที่คณะกรรมการใช้ ในการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นสูตรที่คณะกรรมการ มีมติเห็นชอบให้อนุกรรมการจังหวัดทุกจังหวัด ใช้เป็นหลักเกณฑ์ ในการพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำซึ่งเป็นการพิจารณาด้วยเหตุผลและ ข้อมูลเศรษฐกิจปัจจุบัน

ส่วนข้อสังเกตของรัฐมนตรีว่าการกระทรวงแรงงาน คณะกรรมการจะได้นำไป ประกอบการพิจารณาปรับสูตรในการกำหนดค่าจ้างใหม่โดยเร็วที่สุด เมื่อสภาพเศรษฐกิจมีการเปลี่ยนแปลงหรือมีข้อเรียกร้องของ ลูกจ้าง หรือเป็นความต้องการของภาคอุตสาหกรรม

ปลัดกระทรวงแรงงาน ระบุด้วยว่า การพิจารณาสูตรคำนวณใหม่ จะเร่งพิจารณาให้สอดคล้องกับสภาพเศรษฐกิจในปัจจุบัน คาดว่าในวันที่ 17 มกราคม 67 จะมีการเสนอรายชื่อ อนุกรรมการเพื่อพิจารณาปรับสูตรคำนวณค่าจ้างใหม่ โดยตัวแทนนักวิชาการเศรษฐศาสตร์ นายจ้าง ลูกจ้าง ผู้ทรงคุณวุฒิเข้าร่วม

หลังจากนั้นจะเสนอบอร์ดชุดใหญ่ให้เร็วที่สุด ซึ่งอาจได้ข้อสรุปก่อนหรือหลังวันแรงงานปี 67 แต่จะต้องดูความพร้อมของทุกฝ่ายด้วย ซึ่งอาจพิจารณาปรับขึ้น ตามประเภทของกิจการ โดยการปรับสูตรการคำนวณค่าจ้างครั้งนี้ถือเป็นการปรับในรอบ 6 ปี และอาจปรับขึ้นไปได้ถึง 400 บาท

ด้าน นายวีรสุข แก้วบุญปัน กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายลูกจ้าง ระบุว่า คณะกรรมการไปภาคีเห็นชอบร่วมกันว่ามติที่ออกไปแล้วไม่ควรปรับใหม่ หากจะปรับควรจะเป็นครั้งต่อไปและใช้สูตรใหม่ที่จะมีการพิจารณาขึ้นมาให้เกิดความรอบคอบรัดกุมมากที่สุด และถือเป็นการสังคายนา สูตรการคำนวณค่าแรงใหม่ เพื่อไม่มีปัญหา เหมือนปีนี้

พร้อมย้ำว่า อำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการไตรภาคี ที่พิจารณาไปแล้วชอบด้วยกฎหมายแล้ว ถ้าปรับเปลี่ยนคงไม่เหมาะสม หากถามว่าลูกจ้างอยากได้ค่าจ้างเพิ่มหรือไม่ เชื่อว่าทุกคน อยากได้เพิ่ม แต่ต้องมองถึงสถานการณ์ความเป็นจริง หากเพิ่มไปแล้วจะมีผลกระทบหรือไม่ ส่วนถ้ามีการให้ปรับขึ้นค่าจ้างตามทักษะอาชีพ ลูกจ้างส่วนใหญ่เห็นด้วย เพราะจะทำให้ได้ ค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำแรกเข้า

ด้าน อรรถยุทธ ลียะวณิช กรรมการค่าจ้าง ฝ่ายนายจ้าง ระบุว่า การที่คณะกรรมการยึดตามมติเดิม เป็นสิ่งที่ชอบธรรม เพราะเป็นการขึ้นตามหลักเกณฑ์และกติกา ส่วนในอนาคต หากมี สถานการณ์ที่ไม่แน่นอน มีปัญหาเงินเฟ้อ หรือเศรษฐกิจไม่ดี ก็สามารถนำกลับมา เป็นเหตุผล ในการขอพิจารณาขึ้นค่าจ้าง ใหม่ได้

พร้อมฝากไปยังฝ่ายการเมืองว่า อย่ามาแทรกแซง และหากอยากทราบข้อมูล คณะกรรมการค่าจ้างพร้อมไปชี้แจง แต่การที่ฝ่ายการเมืองจะออกมาให้ความเห็นจะทำให้เกิดความเสียหายแบบครั้งนี้

ทั้งนี้ ในการแทรกแซงการทำงานของไตรภาคี ต้องย้อนหลังกลับไปเมื่อปี 2556 ที่ฝ่ายการเมืองแทรกปรับขึ้นค่าแรงจาก สูงสุด 251 บาท เป็น 300 บาท ทำให้นายจ้างล้มหายตายจากไปจำนวนมากโดยเฉพาะ SMEs ซึ่งจะไม่ยอมให้เกิดเหตุการณ์แบบนั้นขึ้นอีก ควรจะยุติการมาแทรกแซง ซึ่งจะเป็นผลดีกับประเทศ ในระยะยาวมากกว่า

อย่างไรก็ตาม ผลการประชุมในวันนี้ กระทรวงแรงงาน จะนำมติคณะกรรมการค่าจ้าง เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรีอีกครั้งในสัปดาห์หน้า เพื่อปรับขึ้นค่าแรงค่าจ้างขั้นต่ำในวันให้ทันวันที่ 1 มกราคม 2567

อย่างไรก็ตาม เมื่อวันที่ 8 ธ.ค. 2566 ที่ผ่านมา คณะกรรมการค่าจ้างมีมติสรุปในการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำขึ้นทั้ง จำนวน 77 จังหวัด ในอัตราเพิ่มขึ้น 2-16 บาท ได้แก่

1. จังหวัดภูเก็ต อัตราค่าจ้าง 370 บาท

2. กลุ่มจังหวัดภาคกลางและปริมณฑล (รวมกรุงเทพมหานคร) มี 6 จังหวัด อัตราค่าจ้าง 363 บาท ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร

3. จังหวัดชลบุรี และระยอง อัตราค่าจ้าง 361 บาท

4. จังหวัดนครราชสีมา อัตราค่าจ้าง 352 บาท

5. จังหวัดสมุทรสงคราม อัตราค่าจ้าง 351 บาท

6. จังหวัดพระนครศรีอยุธยา สระบุรี ฉะเชิงเทรา ปราจีนบุรี ขอนแก่น และเชียงใหม่ อัตราค่าจ้าง 350 บาท

7. จังหวัดลพบุรี อัตราค่าจ้าง 349 บาท

8. จังหวัดสุพรรณบุรี นครนายก และหนองคาย อัตราค่าจ้าง 348 บาท

9. จังหวัดกระบี่ และตราด อัตราค่าจ้าง 347 บาท

10. จังหวัดกาญจนบุรี ประจวบคีรีขันธ์ สุราษฎร์ธานี สงขลา พังงา จันทบุรี สระแก้ว นครพนม มุกดาหาร สกลนคร บุรีรัมย์ อุบลราชธานี เชียงราย ตาก พิษณุโลก อัตราค่าจ้าง 345 บาท

11. จังหวัดเพชรบุรี ชุมพร สุรินทร์ อัตราค่าจ้าง 344 บาท

12. จังหวัดยโสธร ลำพูน นครสวรรค์ อัตราค่าจ้าง 343 บาท

13. จังหวัดนครศรีธรรมราช บึงกาฬ กาฬสินธุ์ ร้อยเอ็ด และเพชรบูรณ์ อัตราค่าจ้าง 342 บาท

14. จังหวัดชัยนาท สิงห์บุรี พัทลุง ชัยภูมิ และอ่างทอง อัตราค่าจ้าง 341 บาท

15. จังหวัดระนอง สตูล เลย หนองบัวลำภู อุดรธานี มหาสารคาม ศรีสะเกษ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน ลำปาง สุโขทัย อุตรดิตถ์ กำแพงเพชร พิจิตร อุทัยธานี และราชบุรี อัตราค่าจ้าง 340 บาท

16. จังหวัดตรัง น่าน พะเยา แพร่ อัตราค่าจ้าง 338 บาท

17. จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา อัตราค่าจ้าง 330 บาท


กำลังโหลดความคิดเห็น