มูลนิธิเมาไม่ขับ ชี้มาตรการรองรับปิดผับตี 4 ทั้งวัดแอลกอฮอล์ครขับ จัดที่พักรอจนสร่างเมา แค่ขอความร่วมมือร้าน ไม่ได้ออกกฎหมายมาคุม เหมือนแค่ปลอบใจประชาชน ซัด คกก.ชาติไม่คัดค้านยังสนับสนุนเพิ่มการดื่ม
เมื่อวันที่ 11 ธ.ค. นพ.แท้จริง ศิริพานิช เลขาธิการมูลนิธิเมาไม่ขับ ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีคณะกรรมการนโยบายเครื่องดื่มแอลกอฮอล์แห่งชาติ เห็นชอบมาตรการรองรับปิดผับตี 4 โดยเน้นให้สถานบันเทิงปฏิบัติตตามกฎหมาย ไม่ขายให้คนอายุต่ำกว่า 20 ปี คนเมา ตรวจแอลกอฮอล์ผู้ขับขี่ทุกราย และจัดสถานที่พักคอยหรือรถรับส่งหากแอลกอฮอล์เกิน 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ว่า ตนมองว่าขณะนี้นโยบายเปิดสถานบริการถึงตี 4 มีความชัดเจนด้านนโยบายและเศรษฐกิจ แต่ไม่มีความชัดเจนเรื่องการควบคุม มาตรการที่เห็นชอบออกมา เช่น ตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์ก่อนออกจากร้าน ให้ร้านจัดที่พักคอยจนกว่าจะสร่างเมา เป็นเพียงแค่ขอความร่วมมือ แต่ไม่มีการออกกฎหมายใดๆ ออกมา เพราะถ้าเพียงขอความร่วมมือเช่นนี้ ไม่ต้องรอให้เปิดถึงตี 4 ก็ขอความร่วมมือได้
นพ.แท้จริงกล่าวว่า ตนเคยเรียกร้องถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ใน 3 ข้อ คือ 1.ออกกฎหมายให้มีการเอาผิดสถานบริการที่ปล่อยให้มีคนเมา ออกมาจากร้านแล้วเกิดอุบัติเหตุ เหมือนอุตสาหกรรมต้องมีระบบบำบัดน้ำเสียก่อนต้องกำจัดมลพิษ 2.เมื่อเกิดอุบัติเหตุบนท้องถนนมีผู้บาดเจ็บ เสียชีวิต ต้องมีการตรวจปริมาณแอลกอฮอล์ทุกกรณีไม่มีข้อยกเว้น ขณะนี้ยังเป็นการใช้ดุลยพินิจของเจ้าหน้าที่ และ 3.ทำให้เห็นถึงการใช้กฎหมายที่เข้มงวด เพื่อให้คนเห็นว่าเมื่อเมาแล้วขับ จะมีคุกรออยู่ข้างหน้า ไม่ใช่เพียงโทษจำคุก 10 ปี หากรับสารภาพโทษลดลงกึ่งหนึ่งแล้วสุดท้ายก็ลดเหลือเพียงรอลงอาญาเท่านั้น ทำให้คนรู้สึกไม่กลัวต่อการกระทำความผิดในเรื่องนี้
"มาตรการรองรับที่ออกมาเหมือนปลอบใจประชาชน แต่นโยบายเปิดผับตี 4 มีความชัดเจนมากว่าเราจะเปิดถึงตี 4 กำหนดพื้นที่ชัดเจน และที่สำคัญคือ คณะกรรมการควบคุมเครื่องดื่มแอลกอฮอล์ มีหน้าที่ควบคุม แต่กลับออกมาสนับสนุนให้มีการเพิ่มการดื่ม ปล่อยให้มีความไม่ปลอดภัยเพิ่มขึ้น ย้อนแย้งกันโดยสิ้นเชิง" นพ.แท้จริงกล่าว
เมื่อถามถึงบทบาทของคณะกรรมการฯ จะต้องค้านนโยบายเปิดผับตี 4 เท่านั้นหรือไม่ นพ.แท้จริงกล่าวว่า ตนมองว่าอาจจะไม่ค้านแต่ไม่ควรจะเชียร์ แล้วต้องหาทางควบคุมเครื่องดื่มที่มีแอลกอฮอล์ให้ได้ โดยเฉพาะการออกเป็นกฎหมายไม่ใช่เพียงขอความร่วมมือจากสถานบริการ ดังนั้น จะต้องมีกฎหมายให้เข้มข้น กรณีหากมีผู้ที่มึนเมาแล้วสร้างปัญหาให้กับสังคม จะต้องสืบย้อนกลับไปเอาผิดกับร้านนั้นๆ ตอนนี้อาจจะออกกฎหมายไม่ทัน แต่ก็สามารถเริ่มศึกษาเรื่องนี้ในการนำร่อง 4 จังหวัดนี้ได้ แล้วเอาผลการศึกษามาดูกันเลยว่าเมื่อขยายเวลาแล้วมีผลกระทบอย่างไรบ้าง
ถามต่อว่ามีการคาดการณ์หรือไม่ว่าหลังจากวันที่ 15 ธ.ค. จะมีจำนวนผู้ได้รับผลกระทบหรืออุบัติเหตุบนท้องถนนมาขึ้นอย่างไร นพ.แท้จริงกล่าวว่า ประเมินสถานการณ์ไม่ได้เลย เพราะยังไม่มีกฎหมายบังคับให้มีการตรวจวัดระดับแอลกอฮอล์เมื่อเกิดอุบัติเหตุ ดังนั้น จะไม่สามารถรู้ได้ว่าจำนวนผู้ที่ได้รับผลกระทบจะมีมากน้อยแค่ไหน เว้นแต่จะมีการตรวจทุกเคสที่เกิดอุบัติเหตุขึ้น ซึ่งตรงนี้จำเป็นต้องใช้กฎหมายออกมาบังคับใช้ ถ้าพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่ปฏิบัติตามก็ต้องมีความผิดตามมาตรา 157 ฐานละเว้นการปฏิบัติหน้าที่