xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เตรียมขยายคัดกรอง "มะเร็งตับ" ปีหน้าฟรีอีก 1 ล้านคน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช. เตรียมขยายคัดกรอง "มะเร็งตับ" ปีหน้าอีก 1 ล้านคน รองรับ "มะเร็งครบวงจร" พร้อมร่วมกับแพทย์เติมความรู้ ปชช. ดูแลตัวเอง ป้องกันโรค เชื่อช่วยทั้งระบบบริการสุขภาพ และลดภาระงานแพทย์

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. พญ.ลลิตยา กองคำ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงประเด็นสิทธิประโยชน์ที่เพิ่มขึ้นของประชาชนกลุ่มเสี่ยง ที่เป็นกลุ่มคนไข้มะเร็ง เบาหวาน และภูมิคุ้มกันบกพร่อง ในการแถลงข่าว เปิดตัวโครงการให้ความรู้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจที่สามารถติดต่อได้ ภายใต้แคมเปญ รู้ว่าเสี่ยง เลี่ยงเสียศูนย์ #KnowMyRisk ซึ่งจัดขึ้นโดยแพทยสมาคมแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์ ว่า สปสช. ได้เข้ามามีส่วนในการช่วยให้ประชาชนให้ได้รับบริการสุขภาพจากระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (บัตรทอง 30 บาท) และสอดรับกับนโยบายของรัฐบาล และกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) โดยเฉพาะนโยบายมะเร็งครบวงจร ที่ดูแลผู้ป่วยมะเร็งทุกชนิด แต่จะมุ่งเน้น 5 มะเร็งที่พบผู้ป่วยมากที่สุด คือ มะเร็งเต้านม, มะเร็งปากมดลูก, มะเร็งตับ, มะเร็งท่อน้ำดี และมะเร็งลำไส้ใหญ่และลำไส้ตรง

ทั้งนี้ ประชาชน รวมถึงผู้ป่วยจะได้รับบริการส่งเสริมป้องกัน ที่มีทั้งการให้ชุดตรวจคัดกรองด้วยตัวเอง การให้วัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกในกลุ่มเสี่ยง เพิ่มการคัดกรองมะเร็งมากขั้น ขณะที่การตรวจวินิจฉัย ก็เพิ่มการเข้าถึงเทคโนโลยีขั้นสูง รวมไปถึงการรักษา ที่ให้ยาเคมีบำบัด และบริการรังสีรักษาครอบคลุมทุกพื้นที่ และท้ายสุดยังมีการดูแลผู้ป่วยระยะท้ายที่มุ่งเน้นการเพิ่มคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยและญาติ เพื่อบรรเทาความเจ็บปวดทั้งทางร่างกาย และจิตใจ


พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า การคัดกรอง และป้องกันกลุ่มเสี่ยงก่อนป่วยมีความสำคัญอย่างมาก โดยเฉพาะกับโรคมะเร็งที่ต้องพบเจอโดยเร็วและเข้าสู่กระบวนการรักษาเพื่อโอกาสรอดชีวิต โดยที่ผ่านมา สปสช. ก็เข้าไปสนับสนุนให้มีบริการฉีดวัคซีน HPV ป้องกันมะเร็งปากมดลูกกลุ่มเป้าหมายเพศหญิง อายุ 11-20 ปี จำนวน 1 ล้านโดส รวมถึงมีบริการให้ชุดตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกด้วยตัวเอง พร้อมกับมีระบบส่งสิ่งตรวจยังคลินิกเทคนิคการแพทย์ที่เป็นหน่วยบริการร่วม ทำให้ประชาชนกลุ่มเสี่ยงสะดวกมากขึ้นในการเข้าถึงบริการ

นอกจากนี้ ยังมีสิทธิประโยชน์ตรวจคัดกรองในผู้ป่วยมะเร็งเต้านมที่มีความเสี่ยงสูง ให้ได้ตรวจยีน BRCA1/BRCA2 หากพบว่ามียีนกลายพันธุ์จะได้เข้าถึงการตรวจวินิจฉัยและเข้าสู่การรักษาที่รวดเร็วมากขึ้นกว่าเดิม

พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า ขณะเดียวกันในปี 2567 จะมีการขยายชุดสิทธิประโยชน์มะเร็งเพิ่มเติม โดยจะเพิ่มการคัดกรองปัจจัยเสี่ยงของมะเร็งตับและมะเร็งท่อน้ำดี โดยการคัดกรองไวรัสตับอักเสบบีโดยตั้งเป้าหมายคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่เกิดหลังปี พ.ศ. 2535 เป้าหมาย 3 ล้านคน และการตรวจคัดกรองไวรัสตับอักเสบซี ในกลุ่มเสี่ยง เป้าหมาย 1 ล้านคน และการนำร่องตรวจพยาธิใบใม้ตับพื้นที่ที่มีประชากรกลุ่มเสี่ยงต่อการเกิดมะเร็งท่อน้ำดี ซึ่งหากพบว่ามีกลุ่มเสี่ยงก็จะได้เข้ารับการรักษาที่รวดเร็ว และเพิ่มโอกาสการรักษา


“นโยบายมะเร็งครบวงจร สปสช. เข้ามาหนุนเสริมรัฐบาลและกระทรวงสาธารณสุขในการดูแลกลุ่มเสี่ยง และกลุ่มผู้ป่วยเพื่อให้ได้รับบริการรักษาตามอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งเทคโนโลยีการรักษาต่างๆ ที่ผ่านมารัฐบาลก็ได้มีการยกระดับให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น ทำให้มีระบบการคัดกรองกลุ่มเป้าหมายที่ได้ผลดี และเมื่อป่วยก็จะมีระบบเข้าถึงการรักษาที่เร็วขึ้น ทั้งการฉายแสง การให้เคมีบำบัด นอกจากนี้ สปสช. ยังพยายามผลักดันนำยาที่จำเป็นเข้ามาเพื่อให้ประชาชนที่เจ็บป่วยจากโรคมะเร็งให้ได้รับการรักษาอย่างเท่าเทียม” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าว

พญ.ลลิตยา กล่าวอีกว่า ที่ผ่านมามีการยกระดับระบบหลักประกันสุขภาพแห่งชาติและระบบบริการสุขภาพจากผู้กำหนดนโยบายมาตลอด และ สปสช.ก็ได้พิจารณาชุดสิทธิประโยชน์เพื่อให้สอดคล้องกับกลุ่มเป้าหมาย อย่างไรก็ตาม บทบาทของ สปสช. มีเป้าหมายเพื่อให้ประชาชนเข้าถึงสิทธิหลักประกันสุขภาพอย่างเท่าเทียมและมีประสิทธิภาพ พร้อมกับอำนวยความสะดวกให้ประชาชนได้รับบริการตามที่ตกลง ขณะเดียวกัน ก็ต้องทำงานอย่างใกล้ชิดกับกระทรวงสาธารณสุขและคณะบุคลากรทางการแพทย์ ที่ต้องเดินไปพร้อมกันในการร่วมดูแลประชาชน โดยเฉพาะการร่วมกันเป็นพันธมิตร เสริมสร้างองค์ความรู้ในด้านการดูแลสุขภาพกับประชาชน ซึ่งจะเป็นอีกเครื่องมือที่มีประสิทธิภาพในการยกระดับบริการสุขภาพ และลดภาระงานของแพทย์


กำลังโหลดความคิดเห็น