xs
xsm
sm
md
lg

ศัลยแพทย์ตกแต่ง ชี้สิทธิแปลงเพศ "บัตรทอง" LGBTQ+ ให้สิทธิคนใช้ชีวิต ย้ำก่อนผ่าต้องประเมินวางแผนกว่า 2 ปี

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งฯ ชี้สิทธิผ่าตัดแปลงเพศ "บัตรทอง" ให้สิทธิดูแลกลุ่มเพศหลากหลาย ไทยมีความก้าวหน้า ให้ตัดสินใจใช้ชีวิต หากกระทบจิตใจรัฐก็ควรดูแล ย้ำก่อนผ่าต้องประเมินโดยแพทย์สหสาขา ใช้ฮอร์โมน 2 ปี

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์ ช่วงสุวนิช นายกสมาคมศัลยแพทย์ตกแต่งแห่งประเทศไทย กล่าวถึงกรณีสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) เตรียมทำแพคเกจสำหรับกลุ่ม LGBTQ+ ทั้งส่งเสริมสุขภาพ รักษาฟื้นฟู ซึ่งรวมการผ่าตัดแปลงเพศด้วย ซึ่งที่ผ่านมามีสิทธิประโยชน์ในบัตรทองอยู่แล้ว แต่ต้องมีข้อบ่งชี้ทางการแพทย์ ว่า ส่วนตัวตนมองว่า นโยบายนี้เป็นการยอมรับว่า เราให้สิทธิในการตัดสินใจของแต่ละคนว่าอยากจะใช้ชีวิตอย่างไร ซึ่งหากเรื่องนี้กระทบต่อจิตใจของคนนั้นๆ จริง เรื่องนี้ก็สมควรเป็นเรื่องที่รัฐควรดูแล แต่ก็ต้องดูตามความเหมาะสมกันไป

ทั้งนี้ การผ่าตัดแปลงเพศในไทยมีระเบียบของแพทยสภา กำหนดว่า จะต้องมีการประเมินโดยแพทย์สหสาขา ทั้งจิตแพทย์ นักสังคมสงเคราะห์ แพทย์ผ่าตัด แพทย์ระบบทางเดินปัสสาวะ เพื่อดูว่ามีความพร้อมในการใช้ชีวิตด้วยเพศตรงข้ามได้หรือไม่ จากนั้นจะต้องเข้ารับการปรึกษาจากแพทย์ผู้ที่จะทำการผ่าตัด เพื่อกำหนดแผนการผ่าตัดและการใช้ฮอร์โมนเพศอย่างน้อย 2 ปี ดังนั้น ผู้ที่ใช้ฮอร์โมนด้วยตนเองมาก่อน โดยไม่ได้อยู่ในแผนการผ่าตัดจะต้องเข้ารับการใช้ฮอร์โมนจากแพทย์อีกครั้งเป็นเวลา 2 ปี จึงจะทำการผ่าตัดส่วนที่เป็นอวัยวะเพศได้ เรื่องนี้จะต้องมีการพิจารณาอย่างรอบคอบเพราะผ่าตัดไปแล้วจะไม่สามารถผ่าตัดกลับมาเป็นเช่นเดิมได้

"การผ่าตัดทุกอย่างมีโอกาสเกิดภาวะแทรกซ้อนได้ แต่ถ้าทำโดยแพทย์ผู้เชี่ยวชาญก็จะลดโอกาสเสี่ยงได้มาก ซึ่งการผ่าตัดจากหญิงเป็นชาย จะมีความซับซ้อนมากกว่าจากชายเป็นหญิง ที่จะต้องมีการตัดมดลูกและรังไข่ เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงของการผลิตฮอร์โมน ฉะนั้น การผ่าตัดแปลงเพศเป็นการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่และสำคัญจากจิตใจ อวัยวะ การใช้ชีวิต สิ่งแวดล้อม ครอบครัว จึงไม่ใช่เรื่องง่ายในการตัดสินใจผ่าตัดแปลงเพศ" ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์กล่าว

เมื่อถามว่า รพ.รัฐมีการผ่าตัดแปลงเพศหรือไม่ ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์กล่าวว่า มี เริ่มให้บริการมากว่า 20 ปีแล้ว แต่ระเบียบด้านการประเมินโดยจิตแพทย์เพิ่งจะเริ่มใช้เมื่อช่วง 10 ปีหลัง โดย รพ. ที่ให้บริการผ่าตัดแปลงเพศส่วนใหญ่จะเป็นโรงเรียนแพทย์ที่มีการฝึกอบรมสายงานด้านการศัลยกรรมตกแต่ง ด้านประสาทวิทยาศาสตร์ ด้านระบบทางเดินปัสสาวะ ผู้เชี่ยวชาญด้านการผ่าตัดอยู่แล้ว มีอยู่ประมาณ 10 แห่ง ได้แก่ รพ.ศิริราช รพ.จุฬาลงกรณ์ รพ.รามาธิบดี รพ.พระมงกุฎเกล้า รพ.มหาราชนครเชียงใหม่ รพ.สงขลานครินทร์ ส่วน รพ.ในสังกัดของกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ก็เริ่มมีบริการใน รพ.ศูนย์ใหญ่ๆ แต่ยังมีไม่มาก เช่น รพ.เลิดสิน

เมื่อถามถึงค่าใช้จ่ายในผ่าตัดแปลงเพศทั้ง รพ.รัฐ และเอกชน ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์กล่าวว่า ค่าใช้จ่ายเฉพาะการผ่าตัด หากจากชายเป็นหญิง รพ.เอกชนจะอยู่เริ่มต้นราวๆ 300,000 บาทขึ้นไป ส่วนหญิงเป็นชาย ค่าใช้จ่ายสูงกว่าเป็นเท่าตัวอาจจะถึงหลักล้านบาท ที่เราเห็นว่าหลายคนไปผ่าตัดแปลงเพศใน รพ.เอกชน เพราะว่าคิวของ รพ.รัฐ ค่อนข้างเยอะ ต้องใช้เวลานานมากกว่าจะถึงคิวการพบแพทย์ เพื่อวางแผนการผ่าตัด แต่ในเรื่องของค่าใช้จ่ายการผ่าตัดแปลงเพศใน รพ.รัฐ จะต่ำกว่า รพ.เอกชน ประมาณ 2 – 3 เท่าตัว ก็จะอยู่ราวๆ หลักแสนปลาย

ถามถึงข้อวิพากษ์วิจารณ์ว่าเป็นการใช้งบประมาณที่ไม่คุ้มค่า ควรนำงบฯ ไปใช้เพื่อการรักษาผู้ป่วยมากกว่า ศ.คลินิก นพ.อภิรักษ์กล่าวว่า อันนี้ก็เป็นอีกมุมมองหนึ่ง แต่การให้สิทธิในการดูแลประชาชนเรื่องความหลากหลายทางเพศ ไทยถือเป็นประเทศที่มีความก้าวหน้าที่สุดในกลุ่มประเทศเอเชีย เพราะส่วนใหญ่เรื่องนี้จะเป็นสิทธิพื้นฐานของประชาชนในกลุ่มประเทศสแกนดิเนเวีย


กำลังโหลดความคิดเห็น