xs
xsm
sm
md
lg

ชง 11 ข้อเสนอถึงรัฐแก้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 หนุนคนก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ เข้ม "เอกชน" ลดฝุ่นข้ามแดน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ปิดเวทีประชุมระดับชาติ มลพิษอากาศ ฝุ่น PM 2.5 ชง 11 มาตรการถึงรัฐบาล นำหลัก PPP คนก่อมลพิษต้องรับผิดชอบ เน้นใช้เทคโนโลยีแจ้งเตือนภัยเปลี่ยนเกษตรก่อมลพิษเป็นแบบยั่งยืน สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นที่สาธารณะ ตรวจสอบก่อฝุ่นภาคอุตสาหกรรม กำกับเอกชนข้ามพรมแดนลดปัยหาฝุ่น ด้าน ทส.รับข้อเสนอหนุนยกระดับสินค้าที่ไม่เผา

เมื่อวันที่ 4 ธ.ค. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติฯ นางชญานันท์ ภักดีจิตต์ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) ได้รับข้อเสนอเชิงนโยบายจากการประชุมระดับชาติเรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม” จัดโดยสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่


นางชญานันท์กล่าวว่า ประเทศไทยได้รับผลกระทบจากไฟป่าและฝุ่นละอองมาตลอด ส่งผลกระทบต่อสุขภาพ ซึ่งจากการเฝ้าระวังฝุ่น PM 2.5 ในช่วง 10 ปี มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นทุก 5 ปี การแก้ไขปัญหาต้องวิเคราะห์ปัญหาเชิงพื้นที่ เพื่อกำหนดแนวทางแก้ปัญหาที่เหมาะสม ที่สำคัญภาครัฐทำคนเดียวไม่ได้ ต้องการภาคเอกชน ภาควิชาการ และภาคประชาสังคมมาร่วมมือกันเป็นภาคีเครือข่ายช่วยเหลือกัน เชื่อว่าจะได้สิ่งแวดล้อมที่ดีกลับมา ในส่วนของ ทส.เราพยายามทำและผลักดันร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... ซึ่ง ครม.อนุมัติหลักการกฎหมายฉบับนี้ แม้อาจจะยังไม่สมบูรณ์พร้อมที่สุด แต่เป็นจุดเริ่มต้นที่ ครม.เห็นชอบลักการ อาจขอแก้ไขในชั้นกฤษฎีกาและในสภาเพื่อให้เข้มข้นขึ้น จากนี้ต้องทำงานบูรณาการร่วมกัน สื่อสารกับประชาชน ต้องเปิดเผยข้อมูล มีระบบเตือนภัย เพื่อทราบว่า วันนี้ควรสวมหน้ากากออกมาข้างนอกหรือไม่ หรือต้องอยู่ในพื้นที่ปิด

สำหรับปี 2567 มีการพูดถึงงบกลางอาจจะยังไม่ทัน แต่เราทำไว้แล้วในงบปีหน้า เพราะการทำงานต้องมีกลไกการเงินเข้ามาช่วย ซึ่ง ทส.ก็จะเริ่มต้นเป็นแม่งานเพื่อมีงบให้ทางท้องถิ่น กรมควบคุมมลพิษ กรมป่าไม้ กรมอุทยานฯ มาร่วมกัน โดยเราตั้งเป้าลดการเผาและไฟป่าใน 10 ป่าอนุรักษ์ลง 50% จูงใจเอกชนลดภาษีเงินได้ร้อยละ 200 จัดให้มีคาร์บอนเครดิต ยกระดับสินค้าที่ไม่เผา ยกระดับเจรจาระดับภูมิภาคให้เข้มข้น ทั้งอาเซียน ทวิภาคี และการใช้เงื่อนไขทางการค้า นอกจากนี้ ตั้งแต่วันที่ 1 มิ.ย. 2566 ประเทศไทยปรับค่ามาตรฐาน PM 2.5 เป็น 37.5 มคก./ลบ.ม. แล้ว ทั้งนี้ ทส.จะรับนโยบายข้อเสนอมาตรการที่ได้จากการประชุมนี้ เพื่อทำให้สังคมตระหนักรู้ปัญหาฝุ่น PM 2.5 ไปสู่การแก้ไขปัญหาที่ยั่งยืน


ด้าน ผศ.ดร.เขมกร ไชยประสิทธิ์ หัวหน้าโครงการประชุมระดับชาติฯ มูลนิธิลมหายใจเชียงใหม่ กล่าวว่า จากการประชุมมีการสรุปประเด็นเป็นข้อเสนอเชิงมาตรการ 11 ข้อ คือ 1.นำหลัก PPP (Polluter Pays Principle) มากำหนดความรับผิดชอบต่อผู้ก่อปัญหาและการเยียวยาผู้ที่ได้รับความเสียหาย 2.ส่งเสริมนวัตกรรมการวิจัยและพัฒนา R&D เทคโนโลยี ด้านการเตือนภัย 3.จัดทำฐานข้อมูลโดยการมีส่วนร่วมให้เป็นปัจจุบัน จำแนกให้เป็นไปตามประเภทของปัญหา และการเปิดเผย และเข้าถึงฐานข้อมูลอย่างทั่วถึง 4.ปรับเปลี่ยนการเกษตรที่ก่อมลพิษสู่การเกษตรที่ยั่งยืน 5.สร้างข้อตกลง กลไกกำกับร่วมในระดับอาเซียน 6.สร้างระบบธรรมาภิบาลกำกับการลงทุนของเอกชนข้ามพรมแดน

7.สร้างพื้นที่ปลอดฝุ่นในพื้นที่สาธารณะ เช่น โรงเรียน โรงพยาบาล 8.ติดตาม ตรวจสอบที่มา ความร้ายแรง และผลกระทบที่เกิดจากการปล่อยฝุ่นของภาคอุตสาหกรรม 9.กำหนดมาตรการที่ชุมชนมีสิทธิในการจัดการร่วมกับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นและรัฐในการจัดการ บำรุงรักษา และใช้ประโยชน์จากทรัพยากรธรรมชาติ (รัฐธรรมนูญมาตรา 43) 10.เน้นการจัดการเชิงพื้นที่อย่างบูรณาการด้วยหลักสหวิทยาการ และ 11.เร่งรัดออกกฎหมายอากาศสะอาด กฎหมายการปลดปล่อยและเคลื่อนย้ายมลพิษ (PRTR) และสิทธิจัดการทรัพยากรของชุมชน ซึ่งเราจะมีการส่งมอบข้อเสนอให้กับผู้เกี่ยวข้องต่อไป






กำลังโหลดความคิดเห็น