"หมอก้อย" แจงโครงการแก้หนี้ แค่ระยะสั้น ดึงคนเป็นหนี้เข้าระบบ ช่วยลดส่วนต่างดอกเบี้ย ไม่ห่วงกลับไปสร้างหนี้เพิ่ม มีคลินิกสุขภาพการเงินช่วยประเมิน วางแผนทางการเงิน ส่วนระยะยาว เน้นออกจาก ก.พ. เปลี่ยนกรอบอัตรากำลัง อัตราเงินเดือนใหม่
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษารัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวถึงการแก้ปัญหาหนี้สินบุคลากร สธ. ว่า เป็นเพียงส่วนหนึ่งที่ สธ.ต้องการสร้างขวัญกำลังใจบุคลากรทุกคน แต่ยังมีนโยบายอื่นๆ ไม่ว่าจะเป็นเงินเดือน ค่าตอบแทน ภาระงาน ทั้งหมดต้องทำควบคู่กัน สิ่งที่เราคาดหวังว่าจะเกิดขึ้นกับบุคลากรสาธารณสุข คือ สามารถแก้ปัญหาภาระหนี้สินของพวกเขาได้ แบ่งออกเป็นการแก้ปัญหาระยะสั้นและระยะยาว โดยระยะยาว คือ การนำบุคลากร สธ. ออกจากสำนักงานคณะกรรมการข้าราชการพลเรือน (ก.พ.) และเปลี่ยนกรอบอัตรากำลัง กรอบอัตราเงินเดือนใหม่ ซึ่งระยะเวลาการทำงานคาดว่า ประมาณปี 2567 - 2568 แต่ถ้าทำเรื่องนี้อย่างเดียวก็ช้าเกินไปในการช่วย เพราะคนที่เป็นหนี้ ไม่ได้มีความสบายใจ มีความทุกข์ จะทำอย่างไรให้บรรเทาได้บ้าง จึงเป็นที่มาของโครงการแก้ภาระหนี้สิน เป็นแผนระยะสั้นที่จะเข้ามาช่วยบุคลากร
พญ.นวลสกุล กล่าวว่า เราจะทราบกันว่าเมื่อเป็นหนี้ ในช่วงปี 1 - 3 จะคิดดอกเบี้ยในอัตราหนึ่ง แต่เมื่อขึ้นปีที่ 4 ขึ้นไปดอกเบี้ยดีดตัวสูงขึ้น เป็นไปตามเงื่อนไขของทุกธนาคาร กรณีนี้ยังไม่ได้รวมถึงหนี้นอกระบบ จึงคิดว่าจะทำอย่างไรให้ดอกเบี้ยปีที่ 4 ขึ้นไปหมุนกลับมาที่ปี 1-3 เอาเรทที่ต่ำสุด อย่างกรณีนี้ที่เราได้หารือกับธนาคารจะเห็นว่า ดอกเบี้ยเมื่อปีที่ 4 ขึ้นไปดอกเบี้ยจะอยู่ประมาณ 6% ขึ้นไป แต่จากโครงการนี้จะลดดอกเบี้ยลง และเอาเป็นตัวตั้งให้รีไฟแนนซ์ที่ 2.6% ก็จะเกิดส่วนต่างจากดอกเบี้ยเดิมที่เราต้องจ่ายเยอะๆ ซึ่งส่วนต่างที่เหลือก็นำเอาไปใช้อื่นๆ ในการดูแลครอบครัว หรือนำส่วนต่างไปทบจ่ายค่าบ้านในส่วนเงินต้น เพื่อให้ภาระหนี้สินหมดเร็ว
“หากถามว่าเราคาดหวังอะไรกับโครงการนี้ 1.ผู้บริหาร สธ.คาดหวังให้บุคลากรมีความสบายใจขึ้น เพราะส่วนต่างจากดอกเบี้ยสามารถนำมาใช้ประโยชน์อื่นๆ ได้ 2.หนี้นอกระบบ ถือเป็นวิกฤตมาก การที่เรามีสินเชื่อเอนกประสงค์ขึ้นมา ก็เพื่อลดปัญหาจ่ายดอกเบี้ยสูงๆ ซึ่งหากโยกคนเป็นหนี้นอกระบบ เข้าสู่ในระบบที่เราจัดโครงการให้ ก็จะลดปัญหาจ่ายดอกเบี้ยสูงดอกเบี้ยโหดได้ ต้องเข้าใจว่าคนเป็นหนี้นอกระบบไม่ได้มีความสบายใจ ต้องโดนตามโดนขู่ ทำให้อึดอัดต่อการดำรงชีวิต ต่อการทำงาน” พญ.นวลสกุล กล่าว
ถามกรณีคนเป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้การพนัน จะมั่นใจได้อย่างไรว่าจะไม่กลับไปสร้างหนี้อีก พญ.นวลสกุล กล่าวว่า ต้องมีคลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน เพื่อจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) ซึ่งคลินิกดังกล่าวจะมีเจ้าหน้าที่ บุคลากรใน รพ. ในหน่วยงานของ สธ. ตั้งเป็นทีมขึ้นมาและมีเจ้าหน้าที่จากธนาคารออมสินร่วมอยู่ด้วย โดยเมื่อเราจะเคลียร์หนี้ให้บุคลากร ก็จะจัดระบบโดยให้มาพูดคุยกับทีมของ Money Safety เพื่อ 1.จะได้ทราบว่าต้องเคลียร์หนี้อย่างไร 2.เมื่อเคลียร์หนี้แล้วต้องไม่เป็นหนี้อีก หมายความว่า เราต้องมี Money literacy คือ ความรอบรู้ทางการใช้เงินด้วย คลินิกดังกล่าวไม่ได้ประเมินการชำระหนี้อย่างเดียว ยังหมายรวมถึงการวางแผนการใช้เงินของบุคลากรที่อาจจะต้องมีการอบรม การรวมกลุ่มพูดคุยกัน เรียกว่าเราทำงานเป็นระบบ
เมื่อถามว่าบุคลากรที่เป็นหนี้นอกระบบหรือหนี้การพนัน ด้วยความทำงานในหน่วยราชการอาจไม่กล้าบอกหรือแสดงตนหรือไม่ พญ.นวลสกุล กล่าวว่า นี่เป็นอีกทางเลือก อีกทางออกของพวกเขาที่จะจ่ายดอกเบี้ยได้ต่ำกว่านอกระบบมากๆ ที่สำคัญไม่เสี่ยงโดนขู่โดนทวงตลอด ที่สำคัญคลินิกที่เราตั้งขึ้นให้คำปรึกษาก็เป็นบุคลากรด้วยกัน เป็นพี่ๆ น้องๆ จึงเชื่อว่า เขาน่าจะกล้าตัดสินใจมาร่วมโครงการที่ลดความเสี่ยงลงอย่างมากมาย บุคลากรสาธารณสุขที่สนใจสามารถสอบถามทางหน่วยงานหรือ รพ.ในสังกัดของตน หรือสอบถามยื่นเอกสารได้ที่ธนาคารออมสินทุกสาขาทั่วประเทศ เริ่มตั้งแต่วันที่ 8 ธ.ค.นี้เป็นต้นไป