"สันติ รมช.สธ."ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี หนุนยกระดับงานวิจัย พัฒนา อสม. ดูแลสุขอนามัยในท้องถิ่น เพิ่มคุณภาพชีวิตให้ประชาชน
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ลงพื้นที่ตรวจเยี่ยมศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี พร้อมเปิดโครงการถ่ายทอดองค์ความรู้วิทยาศาสตร์การแพทย์สู่ชุมชน เพื่อให้ผู้บริหารและนักวิชาการภาครัฐ ภาคเอกชนโดยเฉพาะอาสาสมัครสาธารณสุขประจำหมู่บ้าน (อสม.) วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ได้ร่วมแลกเปลี่ยนความรู้ทางวิทยาศาสตร์การแพทย์กับเครือข่ายในพื้นที่ โดยมี อสม.จำนวน 800 คน รวมพลังร้องเพลงมาร์ช อสม.ให้การต้อนรับ พร้อมเยี่ยมชมบูธจัดแสดงผลงานของกรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ และภาคีเครือข่ายในพื้นที่ อาทิ ศักยภาพการตรวจวิเคราะห์ทางห้องปฏิบัติการ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ OTOP/SME และการตรวจคัดกรองมะเร็งปากมดลูกโดยห้องปฏิบัติการศูนย์วิทยาศาสตร์การแพทย์ที่ 8 อุดรธานี
นายสันติ กล่าวว่า กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์เป็นหน่วยงานทางวิชาการ มีภารกิจสำคัญในการศึกษา การวิเคราะห์ วิจัย และพัฒนาองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์และสาธารณสุข และการพัฒนาองค์ความรู้และเทคโนโลยี เพื่อสนับสนุนการแก้ไขปัญหาสาธารณสุขของประเทศ สร้างเสริมสุขภาพที่ดีแก่ประชาชนในพื้นที่ครอบคลุมทุกเขตสุขภาพ ที่ผ่านมากรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ได้ถ่ายทอดองค์ความรู้ด้านวิทยาศาสตร์การแพทย์ให้กับพี่น้องประชาชนในชุมชน เพื่อให้สามารถนำไปใช้ในการตรวจสอบและป้องกันปัญหาสุขภาพได้ด้วยตนเอง โดยเฉพาะการพัฒนา อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ชุมชน ที่ช่วยขับเคลื่อนการคัดกรองผลิตภัณฑ์สุขภาพกลุ่มเสี่ยง และสื่อสารแจ้งเตือนภัยสุขภาพ เกิดนวัตกรรมใหม่ที่มุ่งเน้นการสร้างเสริมศักยภาพการบริหารจัดการงานคุ้มครองผู้บริโภค และงานป้องกันโรค ให้กับประชาชนในชุมชนให้มีความเข้มแข็ง
ตลอดระยะเวลากว่า 3 เดือน ที่เข้ามารับผิดชอบงานของกระทรวงสาธารณสุข วันนี้มีความรู้สึกอบอุ่นที่ได้มา จ.อุดรธานีอีกครั้งและเน้นย้ำความสำคัญกับ อสม.วิทยาศาสตร์การแพทย์ ผู้ที่มีจิตอาสามาทำงานช่วยเหลือพี่น้องประชาชน ทำให้โรคอุบัติภัย และโรคระบาดต่างๆ ในชุมชนท้องถิ่นได้รับการแก้ไขอย่างรวดเร็ว โดย อสม.มีส่วนสำคัญที่สุดในการเชื่อมโยงกับบุคลากรทางการแพทย์ และพยาบาลของกระทรวงสาธารณสุข ไปยังพี่น้องประชาชนในหมู่บ้าน และตำบลได้อย่างทั่วถึง โดยเฉพาะการรักษาพยาบาลพี่น้องประชาชนเบื้องต้น ยกตัวอย่าง โรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบล (รพ.สต.) ที่ยังไม่มีแพทย์มาประจำแต่ยังมี อสม.เข้ามาช่วยงานแพทย์ ซึ่งประเทศไทยมี รพ.สต.กว่า 10,000 แห่ง ควรมีแพทย์อย่างต่ำ 3 คน จะเรื่องนี้จะขอให้มหาวิทยาลัยและกระทรวงสาธารณสุขร่วมกันผลิตแพทย์ ประมาณ 30,000 คน ซึ่งถ้าเริ่มผลิตแพทย์วันนี้จะต้องใช้เวลา 6 ปี จะได้แพทย์คนแรกไปอยู่รพ.สต. และหากจะได้แพทย์ที่ครบทั้ง 30,000 คน คาดว่าจะต้องใช้เวลาถึง 12 ปี
"ผมเป็นผู้แทนมาเกือบ 30 ปีได้เห็นเรื่องสาธารณสุขในแต่ละท้องถิ่นที่มีความสำคัญต่อพี่น้องประชาชน ซึ่งปัจจุบันระบบการแพทย์ของไทยถือว่าดีมากติดอันดับต้นๆของโลก ดังนั้นการมีแพทย์ที่ รพ.สต. จึงมีความจำเป็นและมีความสำคัญในการลดต้นทุนไปหาหมอที่โรงพยาบาลได้มาก โดยพี่น้องประชาชนมี 67 ล้านคน หากไปโรงพยาบาลที่อำเภอ 1 ครั้งต่อปี รวมค่าเดินทั้งประเทศประมาณ แสนกว่าล้านบาทต่อปี และถ้าเฉลี่ยไปโรงพยาบาล 2 ครั้งต่อปีก็ใช้เงินถึงเกือบ 3 แสนล้านบาทต่อปี แต่การผลิตแพทย์ 1 คนใช้เงินเฉลี่ย 5 ล้านบาท ในเวลา 6 ปีถ้าผลิตแพทย์ 30,000 คน ใช้เงิน 150,000 ล้านบาท ซึ่งต้นทุนตรงนี้จะช่วยเหลือพี่น้องในชนบทได้" นายสันติ กล่าว
การแพทย์แผนปัจจุบันมีความสำคัญตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 ถึงปัจจุบันเป็นเวลากว่า 150 ปี จนต่างประเทศให้ความมั่นใจบุคลากรทางการแพทย์ของไทย ซึ่งทราบว่า ต่างประเทศอยากได้บุคลากรทางการแพทย์ หากในประเทศมีบุคลากรทางการแพมย์ที่เพียงพอแล้ว แพทย์ก็จะสามารถไปทำงานต่างประเทศได้
ทั้งนี้ในช่วงบ่าย นายสันติ พร้อมพัฒน์ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงสาธารณสุข ได้ลงพื้นร่วมกับนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และคณะเพื่อตรวจราชการในการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) อย่างเป็นทางการนอกสถานที่ ครั้งที่ 1/2566 โดยจุดแรก ลงพื้นที่บ้านภูดินทอง หมู่ 13 ต.กุดดินจี่ อ.นากลาง เพื่อพบปะ อสม.และผู้นำชุมชนและรับฟังผลการดำเนินงานป้องกันและแก้ไขปัญหายาเสพติดการบำบัดฟื้นฟูผู้ใช้ยาเสพติดโดยชุมชนเป็นฐาน (Community Based Treatment: CBITX) จากนั้นจะเดินทางโรงพยาบาลสุวรรณคูหา อ.สุวรรณคูหา ชมการดำเนินงาน มะเร็งครบวงจร และการตรวจคัดกรองมะเร็งท่อน้ำดี (OV CCA และตรวจเยี่ยมมินิธัญญารักษ์ โรงพยาบาลสุวรรณคูหา)