xs
xsm
sm
md
lg

"วีระศักดิ์" ชี้ไทยแก้ฝุ่นด้วยความรู้สึก หนุนใช้ข้อมูล พบตัวการใหญ่เผาป่า-นาข้าว "จักรพล" หนุนร่าง กม.รีดภาษีคนก่อมลพิษ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"วีระศักดิ์" ชี้ไทยแก้ปัญหาฝุ่นด้วยความรู้สึก แถมต่างคนต่างทำ แนะใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ พบตัวการใหญ่เป็น "เผาป่า-นาข้าว" ไม่ใช่ "ข้าวโพด-อ้อย" ด้าน "จักรพล" เผยร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาด หนุนเก็บภาษีคนก่อมลพิษ รบ.ตั้งบอร์ดฝุ่นชาติช่วยขับเคลื่อน มช.ชี้ต้องใช้ความรู้ช่วยชาวไร่มีรายได้ไม่สร้างมลพิษ สสส.ห่วงปีนี้เจอป่วยจากฝุ่นแล้ว 9.2 ล้านคน สานพลังจัดประชุมระดับชาติหามาตรการทันเหตุการณ์


เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. ที่ศูนย์ประชุมและแสดงสินค้านานาชาติเฉลิมพระเกียรติ 7 รอบพระชนมพรรษา จ.เชียงใหม่ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมวิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (สกสว.), มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ (มช.), ศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษอากาศ (ศวอ.) และมูลนิธิเพื่อลมหายใจเชียงใหม่ จัดการประชุมระดับชาติ เรื่อง มลพิษทางอากาศ PM2.5 ครั้งที่ 1 (Thailand National PM2.5 Forum) หัวข้อ “อากาศสะอาด : ความรับผิดชอบร่วมของรัฐ เอกชน และประชาสังคม”


นายจักรพล ตั้งสุทธิธรรม รองเลขาธิการนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า การประชุมครั้งนี้เป็นจุดสตาร์ทในการต่อสู้กับ PM 2.5 อย่างยั่งยืนและครบถ้วน ซึ่งรัฐบาลเองให้ความสำคัญในการวางแผนรับมือ ป้องกัน และแก้ไขวิกฤตด้านสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะเรื่องฝุ่น PM2.5 ที่สถานการณ์รุนแรงขึ้นทุกปี ในส่วนของฝ่ายบริหาร ครม.มีมติอนุมัติหลักการร่าง พ.ร.บ. บริหารจัดการเพื่ออากาศสะอาด พ.ศ. ... และรับทราบแผนในการจัดทำกฎหมายลำดับรอง กรอบระยะเวลา และกรอบสาระสำคัญของกฎหมายลำดับรอง มีสาระสำคัญกำหนดกลไกบริหารจัดการและควบคุมกิจกรรมต่าง ๆ ที่ส่งผลให้เกิดมลพิษทางอากาศในทุกมิติ นอกจากนี้ ยังมีการแต่งตั้งคณะกรรมการจัดการปัญหามลพิษทางอากาศเพื่อความยั่งยืน หรือ บอร์ดฝุ่นชาติ ในการทำงานควบคู่ไปด้วย ระหว่างรอกฎหมายที่จะผ่านขั้นตอนต่างๆ ก็ต้องไตรมาส 4 ปีหน้า

ส่วนฝ่ายนิติบัญญัติ มีการบรรจุร่าง พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน ฉบับพรรคเพื่อไทย ที่มีความแหลมคมมากขึ้น โดยมีการเพิ่มโทษมาตรการทางภาษีภายใต้กรอบมาตรการ PPP (Polluters Pay Principle) ผู้ก่อมลพิษเป็นผู้จ่าย มีการระบุเรื่องคาร์บอนเครดิต คาร์บอนฟุตปรินต์ให้ครบถ้วนมากขึ้น ซึ่งมองแล้วการขับเคลื่อนทั้งสองฝ่ายไม่น่าจะมีปัญหาในการนำ 2 พ.ร.บ.นี้ เพื่อเป้าหมายเดียวกัน บรรจุผ่านเป้น พ.ร.บ.อากาศสะอาดเพื่อประเทศไทย การทำงานทุกภาคส่วนทั้ง สสส. สภาลมหายใจ มช. ได้รวมพลังเอาประชาชนเป็นที่ตั้งในการแก้ไขปัญหา PM 2.5 อย่างยั่งยืน พรรคร่วมทั้งหมดเห็นตรงกันในการประชุม ครม.ทุกครั้ง ทุกท่านเข้าใจอยากจะแก้ปัญหานี้ร่วมกัน อยากให้เป็นปีที่สุดท้ายในการทนปัญหานี้ และทวงคืนอากาศบริสุทธิ์ ที่เป็นสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงได้มาตั้งแต่แรกคลอด เพื่อเติบโตทั้งสุขภาพและเศรษฐกิจ


ถามถึงมาตรการทางภาษีของเอกชนที่ก่อมลพิษจะเป็นลักษณะอย่างไร นายจักรพลกล่าวว่า อยู่ภายใต้กรอบแนวคิด PPP ใครสร้างมลพิษมากโดนค่าปรับมาก เอามาสร้าง เช่น ห้องปลอดฝุ่นให้กลุ่มเปราะบาง ซื้ออุปกรณ์ให้ดับเพลิงที่มีอันตรายจากการเข้าไปเสี่ยงดับไฟ การพัฒนาต่อยอดทำประกันให้เหล่าอาสา ค่าปรับจะคิกแบ็กมาเป็นการทำงานระหว่างทางให้การทำงานลุล่วง ซึ่งนายกฯ ได้เชิญ รมช.คลัง มาหารือตรงนี้และ รมว.พาณิชย์ เพื่อนำทั้งพาณิชย์และคลังมาเพิ่มเพดานการเก็บภาษีด่านนำเข้า เช่น แม่สาย แม่สอด ที่นำเข้าข้าวโพดเลี้ยงสัตว์สูง ที่ผ่านมาไม่มีการเก็บภาษี ก็ต้องมาศึกษาจะแก้ไขปัญหาตรงนี้ที่ระยะยาวยังไม่เกิด จะเป็นกลไกที่จะมาถึงปลายทาง

ถามถึงกรณีการแก้ไขปัญหาฝุ่นภาครัฐยังต่างคนต่างทำ ใช้ความรู้สึกมากกว่าใช้ข้อมูลวิทยาศาสตร์ นายจักรพลกล่าวว่า เราประกาศวาระแห่งชาติมาหลายปี เชียงใหม่ก็เผชิญปัญหามาเป็นสิบปี ที่ผ่านมาจะไม่พูดถึง แต่จากวันนี้ไปการประชุมครั้งนี้ทุกภาคส่วนมาร่วม เราเห็นความครบถ้วน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลเราใส่สุดประเด็นนี้ เราเอาประชาชนนำจริงๆ ไม่ได้มองบริบทพรรคการเมือง เรามาในส่วนของพรรคร่วมทั้งหมด การเดินทางตรงนี้ไม่ใช่การพิสูจน์ผลงานรัฐบาลนี้ แต่เป็นสิ่งที่รัฐบาลพึงทำให้ประชาชน


ดร.สุปรีดา อดุลยานนท์ ผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ข้อมูลจากระบบคลังข้อมูลด้านการแพทย์และสุขภาพ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2566 พบว่า ทั้ง 13 เขตสุขภาพ มีการป่วยด้วยโรคจากมลพิษทางอากาศรวมกว่า 9.2 ล้านคน สะท้อนความรุนแรงของปัญหาฝุ่น PM 2.5 ต่อสุขภาพประชาชน โดยเฉพาะกลุ่มเปราะบาง ทั้งเด็ก ผู้ป่วย ผู้สูงอายุ ผู้ที่ทำงานกลางแจ้ง มีความเสี่ยงโรคทางเดินหายใจ หอบหืด หลอดลมอักเสบ ฯลฯ ถือเป็นปัญหาใหญ่ที่มีสาเหตุหลากหลาย มีทางแก้หลากหลาย เกี่ยวข้องกับหน่วยงานต่างๆ ต้องใช้หลาย พ.ร.บ. รวมถึงวิทยาการความรู้ สสส.เป็นกลไกหนึ่งสร้างเสริมสุขภาพตั้งแต่ต้นน้ำ ซึ่งปัญหาไม่ใช่มิติการแพทย์อย่างเดียว มีสังคม สิ่งแวดล้อม ฯลฯ เราตั้งใจมาร่วมขับเคลื่อนในฐานะน้ำมันหล่อลื่น เชื่อมภาคส่วนต่างๆ ให้ทำงานยากๆ นี้ได้ สสส.ยกระดับเรื่องมลพิษทางสิ่งแวดล้อมเป็น 1 ใน 7 ยุทธศาสตร์ 10 ปี ที่ผ่านมามีการจัดตั้งศูนย์วิชาการเพื่อขับเคลื่อนการป้องกันและแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ (ศวอ.) หนุนเสริมเครือข่ายสภาลมหายใจภาคเหนือ จากเชียงใหม่ ขยายเป็น 9 จังหวัด และจะขยยเพิ่มในอนาคต แก้ไขปัญหาพื้นที่แบบองค์รวม การจัดทำห้องเรียนสู้ฝุ่นมากกว่า 600 แห่ง ผลักดันมาตรการท้องถิ่นถึงระดับประเทศ

สำหรับร่าง พ.ร.บ.ที่ผ่าน ครม. จะมีอำนาจเขาไปเกี่ยวข้องกับกฎหมายอื่นที่เกี่ยวข้องได้ อย่างการห้ามรถเข้าพื้นที่ไหน ทะเบียนคู่-คี่ ภาษีที่เกี่ยวข้องคนสร้างมลภาวะ กรรมการก็มีทั้งระดับชาติ ด้านวิชาการ กรรมการพื้นที่ ที่มีปัญหาแตกต่างกัน โครงสร้างนี้ทุกพลังถูกจัดวางทางยุทธศาสตร์ โดย สสส.เป็นน้ำประสานทองและหล่อลื่น อย่างการประชุมนี้ ซึ่งจะไม่จบแค่ครั้งแรก ซึ่งจะได้ข้อเสนอที่ทันเหตุการณ์ ส่วนกรณีปัญหาฝุ่นหมอกควันข้ามแดน ที่มีการพูดกันคือใช้มาตรการห้ามนำเข้า ซึ่งต้องมีรายชื่อบริษัทที่ไปลงทุนหรือนำเข้า มีการเชิญมาหารือหากนำเข้าจากแหล่งปลูกจากประเทศเพื่อนบ้านก็จะมีการเตือนหรือไม่ให้นำเข้ามา ซึ่งสามารถใช้เทคโนโลยีดาวเทียมในการดูจุดที่เกิดความร้อนหรือมีการเผาได้


ด้าน ศ.นพ.พงษ์รักษ์ ศรีบัณฑิตมงคล อธิการบดี มช. กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศเกิดจากหลากหลายปัจจัย มีทั้งที่อาจควบคุมได้และควบคุมไม่ได้ ทั้งปัจจัยภายในและภายนอกประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับการดำรงชีวิต การแก้ปัญหาจึงมีความซับซ้อน ต้องใช้องค์ความรู้ งานวิจัยภาควิชาการนำไปสู่ประชาชน ซึ่งต้องมีการหาว่า ทำอย่างไรให้พื้นที่ประชาชนมีอาชีพที่ดีขึ้น ไม่สร้างมลพิษ เพิ่มผลผลิตให้มีรายได้ สำคัญสุด คือ องค์รู้การเกษตร/เกษตรสมัยใหม่ การใช้เทคโนโลยีช่วย เป็นสิ่งที่ต้องเข้าไปเสริม การเข้าไปปรับเปลี่ยนทัศนคติ วัฒนธรรม สังคมชุมชนนั้น ซึ่งต้องการความรู้เข้าสู่ประชาชนในอีกมิติ ทำให้เชื่อว่าสิ่งที่ทำอยู่นั้นไม่จำเป็น เช่น ไม่จำเป็นต้องเผาเพื่อให้ได้สารสำคัญในดินดีขึ้น ก็เอาความรู้เข้าไป การแก้ปัญหาฝุ่นควันไม่ใช่แค่เอาความรู้เข้าไปบางสาขาแต่ต้ององค์รวมบูรณาการ ใช้พลังด้านวิชาการ ส่วนราชการ เอกชน และประชาสังคม ร่วมกับคนในพื้นที่ ซึ่งแต่ละพื้นที่ปัญหาแตกต่างกัน อาจใช้ทั้งรูปแบบกรรมการจังหวัดหรือรูปแบบอื่นๆ ตามความเหมาะสมและความพร้อม


ขณะที่ นายวีระศักดิ์ โควสุรัตน์ สมาชิกวุฒิสภา กรรมาธิการทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กล่าวว่า การแก้ปัญหาฝุ่นที่ต้องการสร้างการมีส่วนร่วมอย่างมาก ต้องเน้นเรื่องการสื่อสารให้ชัด อย่างข้อความในภาษาราชการมักเรียกว่า "ปัญหาหมอกควัน" ทำให้น้ำหนักที่กระตุ้นความเอาจริงเอาจังหายไปครึ่งหนึ่ง เพราะคนก็มองว่าหมอกก็เป็นของที่ดี อยากขึ้นเขาไปหาหมอกสวยๆ ขณะที่ควันไม่ได้เป็นปัญหา เพราะ PM 2.5 ไม่ได้มองเห็นจนเป็นควัน จึงอยากให้เรียกปัญหา "ฝุ่น" ตรงๆ ไปเลย ไม่ต้องตีความมาก ส่วนจะฝุ่นเบอร์อะไรไม่ใช่สาระสำคัญ เพราะหากสูดเข้าไป เบอร์ใหญ่ก็อยู่ในปอด เบอร์เล็กก็เข้าทางเดินโลหิต ไปอักเสบที่อวัยวะต่างๆ ก่อปัญหาสารพันที่เราไม่อยากให้เกิดขึ้น ขณะที่การประชุมใน กมธ.ทรัพยากรธรรมชาติฯ พบว่า ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้องพยายามทำแก้ปัญหาฝุ่น แต่กลับไม่คล้ายกันเลย ต่างคนต่างทำ ไม่ได้ทำร่วมกัน และไม่รู้ว่าอีกหน่วยทำอะไรอยู่ เป็นปัญหาปกติในระบบราชการไทย ที่ทำอะไรไม่ได้บอกกล่าวกัน

นายวีระศักดิ์กล่าวว่า ที่ผ่านมาเราใช้ความรู้สึกจัดการกับปัญหา "ฝุ่น" มานาน เอาพัดลมน้ำมาตั้งพ่นละอองฝอย ตั้งฉีดละอองฝอยน้ำบนยอดอาคาร ถ้าเรามีการจุดไฟเผามากขนาดนี้ การเอาพัดลมมาตั้งก็ให้แค่เรื่องจิตวิทยาอย่างเดียว ซึ่งไม่ได้บอกให้หยุดทำ แต่ต้องวิเคราะห์ข้อมูลเหล่านี้ การแก้ไขปัญหาต้องใช้ข้อมูลที่เป็นวิทยาศาสตร์ชัดเจน อย่างข้อมูลดาวเทียมจะทำให้เห็นปัญหาของแต่ละพื้นที่ แต่ละช่วงเวลา อย่างปลาตัวใหญ่ที่เป็นปัญหาของบ้านเราไม่ใช่การเกษตร ปลาตัวใหญ่ที่สุดของเราคือการเผาป่า รองลงมาคือ การเผาข้าว อย่างภาคเหนือเผามากที่สุด 68% เมื่อแยกออกมาภาคเหนือตอนบน 44% ส่วนใหญ่เป็นเผาป่า แต่ภาคเหนือตอนล่าง 24% ส่วนใหญ่เป้นเผานาข้าว เผาตอซัง เพื่อเร่งเพาะปลูกฤดูนาปรัง ตามด้วยภาคอีสาน 21% ซึ่งเป็นการเผาข้าวบวกอ้อย ภาคกลางเป็นเผานาข้าว ภาคตะวันตก ตะวันออก เป็นเผาป่าพอสมควร ดังนั้น การมุ่งไปที่การจัดการแค่ข้าวโพด อ้อย จึงไม่ใช่ปลาตัวใหญ่ เราต้องสื่อสารให้ชัด จัดการกับอะไรก่อนถึงเห็นผลการเปลี่ยนแปลง ไม่ใช่ทำอะไรที่เป็นสเกลเล็กๆ ที่ไม่สร้างการเปลี่ยนแปลง

"การแก้ปัญหาเรื่องนำ เราดูตามร่องน้ำได้ เพราะน้ำไหลจากที่สูงไปที่ต่ำไปออกทะเล แต่อากาศกระจายไปได้ทุกที่ แต่อย่างแคนาดามีการศึกษาเจอร่องอากาศท้องถิ่น ว่ามันพัดไปตามนั้น เราก็ต้องศึกษาว่าลมมันมาจากไหนในรอบสัปดาห์นี้ สัปดาห์หน้าลมเปลี่ยนทิศอย่างไร จะได้รู้ใครอยู่ต้นลมปลายลม เก็บสถิติไปเรื่อยๆ เพื่อสร้างความร่วมมือคนต้นลมท้ายลมที่อาจมีได้มากขึ้น" นายวีระศักดิ์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น