xs
xsm
sm
md
lg

กรมสุขภาพจิต - สช. พัฒนาระบบ นร.เอกชน คัดกรองกลุ่มเสี่ยงเข้าถึงช่วยเหลือ ลดซึมเศร้า-ฆ่าตัวตาย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมสุขภาพจิต จับมือ สช. พัฒนาส่งเสริมดูแลสุขภาพจิต นร.ร.ร.เอกชน รุกคัดกรองเด็กที่มีภวะเสี่ยง เข้าถึงบริการและช่วยเหลือ ลดภาวะซึมเศร้า ฆ่าตัวตาย พร้อมพัฒนาศักยภาพครูที่ปรึกษา-ครูแนะแนว ช่วยพบปัญหาได้เร็ว

เมื่อวันที่ 1 ธ.ค. นายนพ ชีวานันท์ เลขานุการรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ (ศธ.) เป็นประธานพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือการพัฒนาและส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนขยายผลต่อเนื่องสู่นักเรียนในโรงเรียนเอกชน ระหว่าง กรมสุขภาพจิต โดย นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต และสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน (สช.) โดย นายมณฑล ภาคสุวรรณ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชน


นายนพ กล่าวว่า การพัฒนานักเรียนให้เป็นบุคคลที่มีคุณภาพและมีความมั่นคงในชีวิต โดยผ่านกระบวนการทางการศึกษา นอกจากจะดำเนินการในลักษณะการจัดการเรียนการสอนแล้ว การดูแลช่วยเหลือการให้คำปรึกษา และการป้องกันปัญหาต่างๆ ที่เกิดขึ้นกับนักเรียนก็เป็นสิ่งสำคัญ ซึ่ง พล.ต.อ.เพิ่มพูน ชิดชอบ รมว.ศธ.ได้แต่งตั้งคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของ ศธ. เพื่อจัดทำแผนงานการส่งเสริมด้านสุขภาพจิตในโรงเรียนและเน้นย้ำว่าจะต้องครอบคลุมในทุกภาคส่วน ซึ่งในโอกาสนี้ได้มีการต่อยอดมาสู่ภาคเอกชน เพื่อให้การดูแลเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพ โดยเฉพาะการพัฒนาศักยภาพครูที่ปรึกษาและครูแนะแนว ซึ่งถือว่าเป็นเรื่องเร่งด่วน เพราะบุคลากรเหล่านั้นเป็นบุคคลที่ใกล้ชิดนักเรียนที่สุด ที่จะค้นพบปัญหาและให้การช่วยเหลือนักเรียนเมื่อมีปัญหาทางสุขภาพจิตได้ตั้งแต่เริ่มต้น รวมทั้งส่งเสริมสุขภาวะทางใจเพื่อช่วยสร้างภูมิคุ้มกันให้นักเรียนได้พัฒนาตนเองให้เติบโต เป็นบุคคลที่มีคุณค่าของสังคมต่อไป


นพ.พงศ์เกษมกล่าวว่า การส่งเสริมสุขภาวะทางใจและป้องกันปัญหาสุขภาพจิตในเด็กวัยเรียน นอกจากจะสามารถป้องกันการเกิดปัญหาสุขภาพจิต ยังช่วยลดอุบัติการณ์การเกิดโรค ซึ่งหากปล่อยให้เด็กเกิดปัญหาทางสุขภาพจิต จะส่งผลกระทบต่อความสามารถในการคิด อารมณ์ สังคม การเรียน และการทำหน้าที่ในชีวิตประจำวัน รวมทั้งปัญหาสุขภาพจิต เช่น ภาวะซึมเศร้า วิตกกังวล เป็นต้น สำหรับเด็กที่ไม่ได้รับการช่วยเหลือเมื่อมีปัญหาทางสุขภาพจิตตั้งแต่เริ่มต้นก็อาจทำให้อาการมีความรุนแรงมากขึ้นจนต้องเข้ารับการรักษาใน รพ. หรืออาจนำไปสู่การจบชีวิตด้วยการฆ่าตัวตายได้ ดังนั้นระบบการดูแลช่วยเหลือหรือแนวทางการจัดกิจกรรมที่สามารถช่วยลดปัญหาหรือแก้ไขปัญหาได้ทันท่วงทีจากความร่วมมือของภาคการศึกษาในครั้งนี้ จึงเป็นอีกโอกาสที่จะทำให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีภาวะเสี่ยง และสร้างความรอบรู้ในการดูแลสุขภาพจิตให้กับนักเรียน อีกทั้งเป็นการลดหรือแก้ปัญหาที่อาจเกิดขึ้นได้ โดยกรมสุขภาพจิตยินดีที่จะเป็นเพื่อนที่ดีดูแลใจ และสนับสนุนข้อมูลทางวิชาการในการจัดทำแนวทางหรือมาตรการเกี่ยวกับการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนในโรงเรียน รวมทั้งสนับสนุนการเชื่อมโยงข้อมูล และการส่งต่อช่วยเหลือนักเรียนที่มีปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพจิต เพื่อให้นักเรียนในโรงเรียนเอกชนดำรงชีวิตควบคู่กับการเรียนได้อย่างมีความสุขต่อไป


นายมณฑล กล่าวว่า ความร่วมมือระหว่างสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการศึกษาเอกชนและกรมสุขภาพจิต ถือว่าเป็นการขับเคลื่อนนโยบายด้านสุขภาพจิตของกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการกระตุ้นให้โรงเรียนได้ตระหนักถึงความสำคัญที่จะต้องมีระบบดูแลช่วยเหลือนักเรียน มีการประสานความร่วมมือของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งในและนอกสถานศึกษา ที่จะได้ร่วมกันดูแลช่วยเหลือและส่งเสริมสุขภาวะทางใจของนักเรียนอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพราะการเรียน การสอน จำเป็นต้องเริ่มจากความสุขของผู้เรียน ซึ่งเป็นไปตามแนวทางการขับเคลื่อนนโยบาย “เรียนดี มีความสุข” ดำเนินงานพัฒนาและส่งเสริมการดูแลสุขภาพจิตนักเรียนโรงเรียนเอกชน โดยการพัฒนาหลักสูตรอบรมผู้บริหาร ครูและบุคลากรทางการศึกษาให้สามารถคัดกรองนักเรียนที่มีปัญหาด้านสุขภาพจิต เพื่อการดูแลให้คำปรึกษาและส่งต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ซึ่งกระทรวงศึกษาธิการและกระทรวงสาธารณสุข พร้อมให้การสนับสนุนบุคลากรของโรงเรียนเอกชน ให้มีความรอบรู้เรื่องการดูแลสุขภาพจิตในโรงเรียน และมีความพร้อมสำหรับการดูแลช่วยเหลือนักเรียนในโรงเรียนเอกชน ให้เป็นผู้เรียนที่มีความสุข และเป็นกำลังสาคัญของประเทศในอนาคตเพื่อเตรียมความพร้อมในการเป็นประชากรที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศเข้าสู่สตวรรษที่ 21




กำลังโหลดความคิดเห็น