ปัจจุบันนักท่องเที่ยวจากทั่วโลกมากมายไหลเวียนเข้ามาท่องเที่ยวต่าง ๆ ของประเทศไทย ย่านกรุงเทพมหานครอย่างตรอกข้าวสารเป็นอีกแหล่งที่ผู้คนหลั่งไหลเข้ามาทุกวัน นอกจากแสงสีเสียงแล้วสิ่งที่ทั้งนักท่องเที่ยวทั้งไทยและต่างชาติต่างตื่นเต้นไม่แพ้กันเมื่อมาเห็นคือแผงขายแมลงทอดที่เสิร์ฟเมนู เช่น ตั๊กแตนทอด รถด่วนคั่ว หรือ แมงปอเสียบไม้ นักท่องเที่ยวหลายคนอาจจะทำท่าขยะแขยงแล้วรีบเดินผ่านไปอย่างรวดเร็ว นักท่องเที่ยวส่วนที่เหลือที่อยากลองอะไรใหม่ ๆ ก็อาจจะหยุดซื้อตั๊กแตนทอดรับประทานและพูดขึ้นว่า “ตั๊กแตนรสชาติเหมือนไก่เลย” แต่แมลงทอดอาจจะไม่ใช่แค่อาหารแปลกที่หาได้ตามตรอกข้าวสารเท่านั้น
ถ้าเรามองย้อนกลับไปกว่า 6,000 ปีที่แล้ว มนุษย์เริ่มตั้งถิ่นฐานเป็นหลักแหล่ง แมลงเป็นหนึ่งในอาหารหลักของหลายๆอารยธรรม และในพื้นที่ประเทศไทยเองนั้น เมื่อย้อนกลับไปไม่กี่พันปีที่แล้วผู้คนก็รับประทานแมลงเป็นประจำเช่นเดียวกัน ตัวอย่างของอาหารขึ้นชื่อทางแถบอีสานในสมัยนั้นก็คือ ก้อย ซึ่งมีส่วนผสมสำคัญที่ขาดไม่ได้ก็คือ จิ้งหรีด แมงเม่า และแมลงอีกหลายชนิด แต่เมื่อจำนวนคนในโลกเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ ผู้คนก็หันมาทำปศุสัตว์ เช่น หมู ไก่ วัว และปลา นอกจากที่สัตว์พวกนี้จะเป็นอาหารของมนุษย์แล้ว พวกมันยังผลิตผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ที่แมลงไม่สามารถมีให้ได้ เช่น ไข่ นม และขนสัตว์ นอกจากนี้ในประเทศที่มีฤดูหนาวที่หนาวเย็นมาก แมลงก็จะตายหายไปในช่วงฤดูกาลนี้ อีกทั้ง เมื่อมีการปลูกพืชผักและผลไม้ แมลงกลับกลายเป็นศัตรูตัวฉกาจของชาวไร่ชาวนามากกว่าที่จะเป็นอาหาร ถึงแม้ว่าการรับประทานแมลงอาจจะยังพบเห็นได้ในชุมชนท้องถิ่นบางแห่ง แต่แมลงไม่ใช่แหล่งโปรตีนหลักของมนุษย์อีกต่อไป
หลังการปฏิวัติอุตสาหกรรม จำนวนมนุษย์เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด ปัญหาหลาย ๆ อย่างจากการปศุสัตว์กลายเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ โดยเฉพาะปัญหาของก๊าซเรือนกระจกที่เป็นต้นเหตุของสภาวะโลกร้อนและอากาศที่เปลี่ยนแปลง ปัญหาเศษขยะของเหลือและการปล่อยน้ำเสียจากการเลี้ยงสัตว์ลงสู่ธรรมชาติ องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) คาดการณ์ว่าจะมีประชากรโลก 9.7 พันล้านคนภายในปี 2593 เมื่อมีจำนวนมนุษย์ที่มากเกินไปแล้วนั้น การทำปศุสัตว์จะสร้างปัญหาที่กล่าวมาเพิ่มขึ้นอย่างทวีคูณ แต่ในทางกลับกันการทำปศุสัตว์อย่างเดียวก็อาจจะไม่สามารถผลิตอาหารให้กับคนทั้งโลกนี้ได้
อาจารย์ ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี อาจารย์คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ให้ข้อมูลว่า อุณหภูมิโลกที่เพิ่มขึ้นเป็นผลมาจากการตัดไม้ทำลายป่าและการปล่อยก๊าซเรือนกระจกที่เพิ่มขึ้น สิ่งนี้ทำให้เกิดภาวะโลกร้อน หรือโลกเดือด ก่อให้เกิดปัญหามากมาย เช่น ธารน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น สภาพภูมิอากาศแบบสุดขั้วที่ทำลายบ้านเรือนและทำให้เกิดผู้ผลัดถิ่น การลดน้อยลงของผลผลิตภาคเกษตรกรรม การแพร่กระจายของสัตว์และพืชชนิดพันธุ์รุกรานต่างถิ่น และการขยายพันธุ์และกลายพันธุ์ของเชื้อโรค ในปริมาณก๊าซเรือนกระจกทั้งหมดที่ถูกปล่อยออกมาโดยกิจกรรมของมนุษย์ ประมาณ 18% ถูกปล่อยออกมาจากการเลี้ยงปศุสัตว์ การหันมาเลี้ยงแมลงเพื่ออาหารแทนการปศุสัตว์นั้นจะทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกลดน้อยลงเป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นเมื่อเทียบการเลี้ยงแมลงกับวัว การปล่อยก๊าซเรือนกระจกจำพวกคาร์บอนไดออกไซด์ มีเทน และไนตรัสออกไซด์ที่เกิดจากการเลี้ยงแมลงจะลดน้อยกว่าการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเลี้ยงวัวถึง 100 เท่า ของน้ำหนักต่อกิโลกรัมของสัตว์
นอกจากนี้ แมลงต้องการอาหารน้อยกว่าในการเจริญเติบโต จึงทำให้การปล่อยก๊าซเรือนกระจกในกระบวนการผลิตอาหารสัตว์นั้นลดลงได้เป็นอย่างมาก ยกตัวอย่างเช่นการเจริญเติบโตของจิ้งหรีดให้มีน้ำหนักเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม ต้องใช้อาหารประมาณ 2 กิโลกรัม แต่ปริมาณอาหารโดยเฉลี่ยที่ต้องใช้ในการทำให้น้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น 1 กิโลกรัม คือ 2.5 กิโลกรัมสำหรับไก่ 5 กิโลกรัมสำหรับหมู และประมาณ 10 กิโลกรัม สำหรับวัวมูลสัตว์และเศษอาหารเช่น ก้างปลา กระดูกไก่ กระดูกวัว เป็นขยะของแข็งที่ต้องได้รับการกำจัดทิ้ง และในกระบวนการกำจัดขยะพวกนี้ก็ทำให้เกิดก๊าซเรือนกระจกได้เช่นกัน แมลงผลิตมูลออกมาน้อย และเมื่อนำได้มาทำเป็นอาหารแล้ว แมลงจะถูกรับประทานทั้งตัว เพราะฉนั้นขยะที่เกิดขึ้นจากแมลงจะมีน้อยกว่าขยะที่เกิดขึ้นจาก ปลา ไก่ หมู และวัว นอกจากการผลิตขยะที่น้อยลงแล้ว การเลี้ยงแมลงเป็นอาหารยังช่วยกำจัดขยะได้อีกด้วย เพราะว่าขยะที่เกิดขึ้นจากการเกษตรกสามารถนำมาใช้เลี้ยงแมลงให้เติบโตได้
การตัดไม้ทำลายป่าเป็นการทำลายต้นไม้ที่สามารถช่วยดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ แต่นี่ก็เป็นสิ่งที่จำเป็นสำหรับการการเลี้ยง ไก่ หมู วัว หรือปศุสัตว์อื่น ๆ เพราะสัตว์พวกนี้ต้องการพื้นที่ฟาร์มขนาดใหญ่ แต่การหันมาทำฟาร์มเพื่อเลี้ยงแมลงนั้น จะทำให้มีการตัดไม้ทำลายป่าสำหรับเลี้ยงสัตว์น้อยลงเพราะแมลงต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงดูน้อยกว่าสัตว์ของฟาร์มปศุสัตว์เนื่องจากแมลงมีขนาดตัวที่เล็กกว่า และการที่แมลงสามารถเติบโตและขยายพันธุ์ได้ในเวลาที่สั้นทำให้ถูกนำไปประกอบอาหารได้อย่างรวดเร็วและไม่ต้องการพื้นที่ในการเลี้ยงที่ใหญ่จนเกินไป
นอกจากนี้อาจารย์ ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี ได้กล่าวเพิ่มเติมถึงข้อดีส่วนอื่นของการรับประทานแมลงว่า การนำแมลงมาเป็นอาหารนั้นทำให้เกิดผลกระทบเชิงบวกกับสิ่งแวดล้อมหลายประการเทียบเท่ากับการนำเนื้อสัตว์จากพืชหรือจากห้องปฏิบัติการมาเป็นอาหารหลัก ถึงแม้ว่าเนื้อสัตว์ที่ทำในห้องปฏิบัติการได้รับการยกย่อง ในเรื่องปริมาณการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ที่ต่ำมากเมื่อเทียบกับปศุสัตว์แบบดั้งเดิม แต่การทำเนื้อในห้องปฏิบัติการต้องเสียค่าใช้จ่ายด้านเครื่องมือและการดำเนินงานค่อนข้างมาก การทำฟาร์มแมลงอาจจะเป็นสิ่งที่ง่ายและมีค่าใช้จ่ายที่น้อยกว่าสำหรับผู้ผลิตในท้องถิ่น จึงทำให้การเริ่มต้นทำฟาร์มแมลง่ายกว่าการเริ่มต้นจัดตั้งห้องปฏิบัติการสำหรับเนื้อเทียม แมลงที่กินได้นั้นยังอุดมไปด้วยพลังงานและสารอาหารสำคัญสำหรับมนุษย์เช่นโปรตีน วิตามิน และแร่ธาตุต่าง ๆ ตัวอย่างเช่น จิ้งหรีดมีปริมาณธาตุเหล็ก สังกะสีและแคลเซียมที่สูงมาก อีกทั้งแมลงที่กินได้หลายชนิดมีจำนวนไขมันที่ต่ำและเป็นอาหารที่ตอบโจทย์เรื่องการดูสุขภาพของมนุษย์
สูตรเมนูแมลงอร่อย ๆ เช่น แกงไข่มดแดง แมลงเม่าคั่วเกลือ หรือดักแด้ทอด อาจจะหาได้ทั่วไปตามเว็บไซต์ต่าง ๆ แต่ขณะนี้ยังคงมีความท้าทายอีกมากในการทำให้แมลงเป็นอาหารหลักสำหรับมนุษย์เพื่อช่วยลดโลกร้อน คำถามที่สำคัญก็คือจะทำอย่างไรให้คนจำนวนมากที่ไม่ชอบแมลงหันมาลองรับประทานแมลงและจะทำอย่างไรให้เมนูแมลงไม่กลายเป็นแค่เมนูเสริมของอาหารเนื้อสัตว์ที่ได้มาจากปศุสัตว์ อาจจะต้องมีการริเริ่มการให้ความรู้และพิจารณาการออกกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับการนำแมลงมาเป็นอาหาร อย่างไรก็ตามการกินแมลงนั้นถือเป็นหนึ่งในหลาย ๆ วิธีที่จะช่วยลดวิกฤตโลกร้อนได้อย่างแน่นอน