xs
xsm
sm
md
lg

กางแผน-ไทม์ไลน์เข้าตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" พร้อมเงิน พ.ต.ส.-เงินประจำตำแหน่ง สรุปขั้นตอนโอนย้าย-ถ่ายโอน รพ.สต.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



อ.ก.พ.สธ.เห็นชอบขั้นตอนโอนย้ายบุคลากร 5 หน่วยงาน 222 คน และถ่ายโอน 766 คน ไป รพ.สต.ถ่ายโอนแล้ว เผยแผนและไทม์ไลน์เข้าสู่ตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" พร้อมเงิน พ.ต.ส.และเงินประจำตำแหน่ง

เมื่อวันที่ 30 พ.ย. นายสรรเสริญ นามพรหม ผอ.กองบริหารทรัพยากรบุคคล สำนักงานปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สป.สธ.) เปิดเผยว่า การประชุม อ.ก.พ.กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) เมื่อวันที่ 27 พ.ย.ที่ผ่านมา ได้รับทราบมติที่ประชุมคณะกรรมการการกระจายอำนาจให้แก่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น (ก.ก.ถ.) เมื่อวันที่ 1 พ.ย. 2566 ที่ให้บุคลากร สธ.ใน 5 หน่วยงาน ได้แก่ สำนักงานสาธารณสุขจังหวัด (สสจ.) สาธารณสุขอำเภอ (สสอ.) รพ.ศูนย์ รพ.ทั่วไป และ รพ.ชุมชน จำนวน 222 คน ในลักษณะของขั้นตอนการโอนปกติไปสังกัด อบจ. รวมถึงให้บุคลากรถ่ายโอนกลุ่มที่อยู่ใน รพ.สต. ที่ยังไม่ถ่ายโอน แต่ประสงค์ถ่ายโอนไปยัง รพ.สต.ที่ถ่ายโอนไปเมื่อปีงบฯ 2566 จำนวน 766 คน ให้เข้าลักษณะการถ่ายโอนได้ และพิจารณาเห็นชอบแนวทาง อนุมัติหลักการดำเนินการ เมื่อ ก.ก.ถ.ได้มีการรับรองรายงานการประชุมจากที่ประชุม ก.ก.ถ.ครั้งต่อไป ดังนี้

1. บุคลากรที่ไม่ได้ไปปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิ เห็นควรให้โอนตามกฏ ก.พ. โดย อบจ.ต้องแจ้งเลขที่ตำแหน่งที่ประสงค์จะรับโอนบุคลากรให้ เพื่อแจ้งต้นสังกัดพิจารณาการให้โอน และดำเนินการตามขั้นตอนที่กฎหมายกำหนด และให้มีผล ณ วันที่กระบวนการเสร็จสิ้น สำหรับบุคลากรที่ไปรายงานตัวแล้วและปัจจุบันปฏิบัติงานอยู่ที่ อบจ. จะมีคำสั่งให้ช่วยราชการ โดยให้มีผล ณ วันที่ 2 ต.ค.2566 กรณีนอกเหนือจากนี้ ให้เป็นไปตามขั้นตอนการโอนปกติ

2. บุคลากรที่ปฏิบัติภารกิจด้านปฐมภูมิ (ปฏิบัติงาน สอน./รพ.สต.) สำนักงานปลัด สธ.จะมีคำสั่งถ่ายโอนบุคลากรไปสังกัด อบจ. โดยให้มีผล ณ วันที่ 2 ต.ค.2566 ต่อไป

ทั้งนี้ จำนวนบุคลากรทั้ง 2 กลุ่ม จะมีการตรวจสอบรายชื่อที่ อบจ.ได้มีคำสั่งแจ้งมายังสำนักงานปลัด สธ.กับบัญชีรายชื่อที่กรมส่งสริมการปกครองส่วนท้องถิ่นเสนอ และสำนักงานปลัด สธ.จะมีหนังสือแจ้งการดำเนินการไปยังหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต่อไป

นายสรรเสริญ กล่าวว่า ที่ประชุม อ.ก.พ.สธ. ยังมีมติเห็นชอบข้อเสนอจาก อ.ก.พ.สป.สธ. ให้ปรับปรุงเพิ่มสายงานตำแหน่ง "นักสาธารณสุข" ตามบทบาทภารกิจในโครงสร้างภารกิจและอัตรากำลังในหน่วยงานสังกัด สป.สธ. และในส่วนของกรมต่างๆ ให้พิจารณาเพิ่มนักสาธารณสุขได้ตามภารกิจ และนำมาเสนอ อ.ก.พ.สธ. พิจารณาต่อไป หลังจากนี้จะมีการแจ้งแนวทางการย้ายเปลี่ยนสายงานผู้ที่มีคุณสมบัติ และจะเสนอ อ.ก.พ.สธ. เปลี่ยนสายงานตามรอบ คาดว่ามีการพิจารณาเปลี่ยนสายงานรอบแรกใน ธ.ค.นี้

สำหรับ แผนการดำเนินการเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข จะประกอบไปด้วย 1. วันที่ 1 - 24 พ.ย. 2566 สป. สำรวจผู้มีวุฒิและใบประกอบวิชาชีพ ตำแหน่งนักวิชาการสาธารณสุข

2. วันที่ 27 พ.ย.2566 อ.ก.พ.สธ. เห็นชอบเพิ่มสายงานในโครงสร้างหน่วยงานสังกัด สป.และให้กรมต่าง ๆ พิจารณาเพิ่มสายงานให้สอดคล้องกับภารกิจ

3. วันที่ 1-8 ธ.ค.2566 สป.ตรวจสอบข้อมูลผู้มีวุฒิและใบประกอบวิชาชีพ เพื่อเสนอ อ.ก.พ.กธ. เปลี่ยนสายงาน

4. วันที่ 20-28 ธ.ค.2566 เสนอ อ.ก.พ.สธ. เปลี่ยนสายงานผู้มีคุณสมบัติเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข

5. ประมาณ ม.ค.2567 แจ้งแนวทางการย้ายเปลี่ยนสายงานนักสาธารณสุขให้หน่วยงานในสังกัดดำเนินการ
เมื่อถามถึงความคืบหน้าการพิจารณาเรื่องเงินเพิ่มเติมสำหรับตำแหน่งที่มีเหตุพิเศษ (พ.ต.ส.) และเงินประจำตำแหน่งนักสาธารณสุข นายสรรเสริญ กล่าวว่า เงิน พ.ต.ส. ต้องพิจารณาตามหลักเกณฑ์การปฎิบัติหน้าที่การให้บริการทางการแพทย์ ส่วนเงินประจำตำแหน่งนักสาธารณสุข อยู่ระหว่างจัดทำข้อมูลเพื่อเสนอ อ.ก.พ.สธ. พิจารณาตามขั้นตอนต่อไป โดยขั้นตอนการกำหนดเงินประจำตำแหน่ง ประกอบด้วย 1. อ.ก.พ.สธ. พิจารณาเห็นชอบให้ส่งคำขอไปยังสำนักงาน ก.พ. 2. สำนักงาน ก.พ. ปรับปรุงบัญชีแนบท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งฯ

3. อ.ก.พ.ฯ ระบบเปิด และ ก.พ. พิจารณาร่างบัญชีแนบท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งฯ 4. สำนักงาน ก.พ. เสนอ อ.ก.พ.ฯ กฎหมายฯ พิจารณาร่างบัญชีแนบท้ายกฎ ก.พ. ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งฯ 5. คณะรัฐมนตรีพิจารณาร่างบัญชีกฎ ก.พ. ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งฯ 6. สำนักเลขาธิการนายกรัฐมนตรี เสนอรองนายกรัฐมนตรีลงนามในกฎ ก.พ. ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่งฯ และ 7. สำนักเลขาธิการ คณะรัฐมนตรี ประกาศในราชกิจจานุเบกษา


กำลังโหลดความคิดเห็น