xs
xsm
sm
md
lg

รพ.สวนปรุงเปิดระบบดูแลผู้ป่วยใน "จิตเวช-ยาเสพติด" ผ่านเทเลฯ แห่งแรก สธ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต เปิดหอผู้ป่วยสารเสพติด รพ.สวนปรุง จำนวน 30 เตียง ดูแลผู้ป่วย 4 กลุ่มตามความรุนแรงเสพติด เผยเปิดบริการ Psychiatric Home Ward แห่งแรกใน สธ. ดูแลผู้ป่วยจิตเวช-ยาเสพติดที่บ้าน ผ่านระบบเทเลฯ ดูแลแล้ว 30 ราย

เมื่อวันที่ 29 พ.ย. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต กล่าวภายหลังเปิดป้ายหอผู้ป่วยสารเสพติด (Observe Ward) รพ.สวนปรุง พร้อมเยี่ยมชม Psychiatric Home Ward การบริการผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดที่บ้าน ว่า รพ.สวนปรุงได้เปิดหอผู้ป่วยยาเสพติด ซึ่งรัฐบาลมีนโยบายมุ่งเน้นการแก้ไขปัญหายาเสพติด โดยประกาศให้เป็นวาระแห่งชาติ ยึดหลัก “เปลี่ยนผู้เสพเป็นผู้ป่วย” ให้ผู้เสพได้เข้ารับการบำบัดรักษาอย่างมีประสิทธิภาพและทั่วถึง โดยกรมสุขภาพจิตดำเนินการบูรณาการรับส่งต่อผู้ป่วยยาเสพติดในกลุ่มที่ยุ่งยากซับซ้อน มีภาวะแทรกซ้อนทางกายและทางจิตที่ไม่รุนแรงแบบไร้รอยต่อ เป็นพี่เลี้ยงและสนับสนุนเครือข่ายเขตสุขภาพ พร้อมผลักดันให้มีบริการผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดที่บ้าน Psychiatric Home Ward


ทั้งนี้ รพ.สวนปรุงเป็นหน่วยบริการแรกในกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ที่เปิดให้บริการในกลุ่มผู้ป่วยที่สมัครใจเข้ารับการบำบัดรักษาโดยไม่ต้องนอน รพ. ครอบครัวมีส่วนร่วมในการดูแล ช่วยให้ญาติประหยัดค่าใช้จ่ายในการเดินทาง มีการบำบัดรักษาผ่านระบบ Tele psychiatry และเป็นVirtual Psychiatry ซึ่งเป็นการยกระดับการดูแลสุขภาพของประชาชนให้ครอบคลุมทุกมิติ

ด้าน นพ.กิตต์กวี โพธิ์โน ผอ.รพ.สวนปรุง กล่าวว่า หอผู้ป่วยสารเสพติด หรือ Observe Ward รพ.สวนปรุง จัดตั้งขึ้นเพื่อเป็นหอสังเกตอาการผู้ป่วยสารเสพติด จำนวน 30 เตียง โดยแบ่งระดับการสังเกตอาการออกเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ สีแดง คือ ผู้ที่มีอาการทางจิตอันเนื่องมาจากการใช้ยาเสพติดที่ก่อเหตุรุนแรงแล้ว สีส้ม คือ ผู้ที่ใช้ยาเสพติดที่มีอาการทางจิตตาม 5 สัญญาณ เตือนอาการทางจิต (SMI-V SCAN) ได้แก่ “ไม่หลับไม่นอน เดินไปเดินมา พูดจาคนเดียว หงุดหงิดฉุนเฉียว เที่ยวหวาดระแวง” สีเหลือง คือ ผู้ที่ใช้ยาเสพติดและมีประวัติเคยมีอาการทางจิต แต่ปัจจุบันไม่พบ 5 สัญญาณเตือนอาการทางจิต

และสีเขียว คือ ผู้ที่ใช้ยาเสพติดแต่ไม่มีอาการทางจิต โดยผู้ป่วยกลุ่มสีแดง สีส้ม และสีเหลือง รพ.รับเข้ารักษาต่อที่หอผู้ป่วยจิตเวชและสารเสพติด ซึ่ง รพ.สวนปรุงได้เปิดบริการอยู่แล้วจำนวน 80 เตียง ส่วนผู้ป่วยกลุ่มสีเขียวผู้ที่ใช้ยาเสพติดแต่ที่ไม่มีอาการทางจิต รพ.จะได้ประสานส่งต่อ รพ.ธัญญรักษ์ หรือมินิธัญญรักษ์ในพื้นที่ต่อไป


นอกจากนี้ เมื่อผู้ป่วยอาการดีขึ้นหรือผู้ป่วยไม่สะดวกมารับยาได้อย่างต่อเนื่องที่ รพ. ผู้ป่วยสามารถเข้ารับบริการผู้ป่วยในจิตเวชและยาเสพติดที่บ้าน Psychiatric Home Ward โดยไม่ต้องนอน รพ. โดยมีทีมสหวิชาชีพ ประกอบด้วย จิตแพทย์ พยาบาลจิตเวช นักจิตวิทยา นักสังคมสงเคราะห์ เภสัชกร ให้บริการ ตั้งแต่คัดกรองผู้ป่วยเข้าสู่ระบบ ประสานนัดหมาย ตรวจสอบสิทธิ์ ชี้แจงวิธีการตรวจรักษาผ่านระบบ Tele psychiatry การรับยาทางไปรษณีย์ ทั้งนี้ Psychiatric Home Ward เปิดให้บริการตั้งแต่วันที่ 4 ต.ค. 2566 ปัจจุบันมีผู้รับบริการ จำนวน 30 ราย เป็นผู้ป่วยสุราและยาเสพติด จำนวน 6 ราย โดยผู้ป่วยและญาติมีความพึงพอใจในการให้บริการระดับดีมาก รพ.สวนปรุงพร้อมขยายการบริการเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มการเข้าถึงและการเข้ารับบริการของประชาชนต่อไป








กำลังโหลดความคิดเห็น