xs
xsm
sm
md
lg

รพ.มหาวชิราลงกรณฯ ใช้หุ่นยนต์เตรียมยาคีโมคู่เภสัชฯ ดูแลผู้ป่วยมะเร็ง เพิ่มความปลอดภัย

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



รพ.มหาวชิราลงกรณฯ ใช้หุ่นยนต์เตรียมยาเคมีบำบัดชนิดฉีด ให้ผู้ป่วยโรคมะเร็ง ควบคู่เตรียมยาเคมีบำบัดแบบเดิมโดยเภสัชกร ประกันความถูกต้องปลอดภัย ยกระดับการรักษาสู่มาตรฐานสากล

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. พญ.อัมพร เบญจพลพิทักษ์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า กรมการแพทย์ มีการขับเคลื่อนนโยบายกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ในด้านมะเร็งครบวงจร ผลักดันการให้บริการทางการแพทย์และสาธารณสุขสู่ยุคดิจิทัล ทำให้การรักษาและเครื่องมือทางการแพทย์ได้รับการพัฒนาผ่านกระบวนการ Digital transformation อย่างต่อเนื่อง และด้วยโรคมะเร็งเป็นโรคเรื้อรังที่เป็นปัญหาสำคัญทางการแพทย์และสาธารณสุขในระดับโลก ซึ่งวิธีการรักษาหลักๆของโรคมะเร็งประกอบด้วย การผ่าตัด รังสีรักษา และเคมีบำบัด โดยในแต่ละปีสถานการณ์ผู้ป่วยมะเร็งที่จำเป็นต้องได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัดมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นทุกปี จึงทำให้ปริมาณงานด้านการเตรียมยาเคมีบัดในแต่ละวันมีปริมาณมากอาจเกิดความเสี่ยงหรือเกิดความคลาดเคลื่อนจากการเตรียมยาได้ รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี จึงพัฒนาคุณภาพการรักษาด้านยาเคมีบำบัดโดยการนำเทคโนโลยีทางการแพทย์ที่ทันสมัยมาใช้เพิ่มประสิทธิภาพการเตรียมยา ได้แก่เทคโนโลยีหุ่นยนต์เตรียมยาเคมีบำบัดชนิดฉีด (Robotic Cytotoxic IV Preparation)


นพ.อดิศัย ภัตตาตั้ง ผอ.รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี กล่าวว่า รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี เป็น รพ.เฉพาะทางด้านโรคมะเร็งระดับตติยภูมิ สังกัดกรมการแพทย์ รับผิดชอบดูแลผู้ป่วยโรคมะเร็งในเขตสุขภาพที่ 4 หุ่นยนต์เตรียมยาเคมีบำบัด รพ.มหาวชิราลงกรณธัญบุรี (AYA Cytotoxic IV Preparation) เป็นระบบแขนกลอัตโนมัติ 2 แขน สามารถเคลื่อนไหวหรือผสมยาได้หลายรูปแบบหลายทิศทาง มีการควบคุมการทำงานด้วยระบบคอมพิวเตอร์ซอฟต์แวร์ที่เชื่อมต่อข้อมูลกับระบบ HIS โรงพยาบาล สามารถใช้กับขวดยาเคมีบำบัด กระบอกฉีดยา และสารน้ำได้ทั้งชนิดและขนาด เช่นเดียวกับที่ใช้อยู่ใน รพ.ได้ ระบบเตรียมยามีความถูกต้องแม่นยำสูง (ไม่เกิน ± 5%) เตรียมยาภายใต้สภาวะปลอดเชื้อที่ความสะอาดอากาศระดับ ISO Class 5 สามารถเตรียมยาเคมีบำบัดเป็นชุด (batch) และเตรียมยาเฉพาะบุคคล (Patient-specific) รวมถึงยาที่มีความซับซ้อนได้อย่างถูกต้องแม่นยำ

จุดเด่นคือเป็นหุ่นยนต์ที่ผลิตภายในประเทศโดยคนไทยจึงประหยัดต้นทุนค่าบำรุงรักษา อีกทั้งยังไม่กระทบกับ ยา สารน้ำ รวมถึงวัสดุสิ้นเปลืองต่างๆเพราะสามารถใช้เช่นเดียวกับการเตรียมยาแบบเดิม ผลลัพธ์การดำเนินการในระยะเริ่มแรกเตรียมยาให้ผู้ป่วยได้ 30 - 50 ตำรับต่อวัน โดยในปี 2567หน่วยงานได้ดำเนินการศึกษาต้นทุนต่อหน่วย และจุดคุ้มทุนของการเตรียมยาเคมีบำบัดชนิดฉีดโดยใช้เทคโนโลยีหุ่นยนต์เทียบกับการเตรียมยาเคมีบำบัดแบบดั้งเดิมโดยเภสัชกรเพื่อเป็นข้อมูลอ้างอิงทางวิชาการระดับประเทศในอนาคต




กำลังโหลดความคิดเห็น