xs
xsm
sm
md
lg

สปสช.เร่งแจง 4 จว.นำร่องบัตร ปชช.รักษาทุกที่ ย้ำเบิกจ่ายเอกชนใน 3 วัน แพทยสภาชวนเข้าร่วมลดภาระงาน รพ.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



สปสช. เร่งประชุมชี้แจง 4 จังหวัดนำร่อง บัตรประชาชนรักษาทุกที่ ทุกสังกัด ย้ำใช้ AI เพิ่มประสิทธิภาพเบิกจ่ายให้หน่วยบริการเอกชน ภายใน 3 วัน เตรียมพร้อมเริ่ม 8 ม.ค.นี้ นายกแพทยสภา ชวนคลินิกเวชกรรมเข้าร่วม ชี้ประชาชนได้ประโยชน์ แบ่งเบาภาระงานแพทย์ใน รพ.

เมื่อวันที่ 28 พ.ย. ทพ.อรรถพร ลิ้มปัญญาเลิศ รองเลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวว่า บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ จะเริ่มนำร่อง 4 จังหวัด วันที่ 8 ม.ค. 2567 ระหว่างนี้จึงเป็นเรื่องของการเตรียมความพร้อมด้านต่างๆ ดังนั้น สปสช.ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) และสภาวิชาชีพ ทั้งแพทยสภา สภาการพยาบาล ทันตแพทยสภา สภาเภสัชกรรม สภากายภาพบำบัด สภาเทคนิคการแพทย์ และสภาการแพทย์แผนไทย จัดประชุมชี้แจงเพื่อขับเคลื่อนนโยบายบัตรประชาชนใบเดียว รักษาได้ทุกที่ ที่ จ.เพชรบุรี ซึ่งเป็น 1 ใน 4 จังหวัดนำร่อง มีผู้เข้าร่วมประชุมจากหน่วยบริการสาขาวิชาชีพต่างๆ ในพื้นที่เข้าร่วมเกือบ 200 คน โดยได้ชี้แจงนโยบาย หลักเกณฑ์การขึ้นทะเบียนและขั้นตอนต่างๆ ของการสมัครเข้าร่วมโครงการ และเปิดรับสมัครหน่วยบริการที่สนใจเข้าร่วม โดยย้ำว่าได้ปรับเพิ่มประสิทธิภาพการจ่ายให้รวดเร็วขึ้น โดยนำระบบ AI มาใช้ในการตรวจสอบข้อมูลที่มีความแม่นยำ ถูกต้องและรวดเร็ว ทำให้หน่วยบริการเอกชนที่สมัครเข้าร่วมจะได้รับการจ่ายเชยค่าบริการภายใน 3 วัน เป็นการเพิ่มความมั่นใจให้กับหน่วยบริการ

"เหตุผลที่เพชรบุรีเป็นหนึ่งในจังหวัดนำร่อง เพราะด้วยความพร้อมของระบบและการทำงานร่วมกันของทุกองค์กรวิชาชีพ ความเข้มแข็งของบุคลากรด้านสาธารณสุข ซึ่งจะเป็นต้นแบบการดำเนินการโครงการฯ และขยายต่อยอดในเฟส 2 อีก 8 จังหวัดที่จะเริ่มใน เม.ย.ต่อไป” รองเลขาธิการ สปสช. กล่าวและว่า การจัดประชุมชี้แจงดำเนินการทั้ง 4 จังหวัด จัดที่แพร่ไปเมื่อวันที่ 24 พ.ย. ที่ผ่านมา และจะจัดประชุมที่ร้อยเอ็ดและนราธิวาส วันที่ 28 พ.ย. และ 30 พ.ย. ต่อไป


นพ.เพชรฤกษ์ แทนสวัสดิ์ นายแพทย์สาธารณสุขจังหวัด (นพ.สสจ.) เพชรบุรี กล่าวว่า เพชรบุรีเป็นจังหวัดนำร่องบัตรประชาชนใบเดียวรักษาได้ทุกที่ ทุกสังกัด ปัจจุบันด้วยหน่วยบริการที่รับการส่งต่อเฉพาะด้านมีจำนวนจำกัดและยังไม่ครอบคลุมพื้นที่ต่างๆ โดยเพชรบุรีมีร้านยา 102 ร้าน คลินิกกายภาพบำบัด 2 แห่ง คลินิกการพยาบาลและผดุงครรภ์ 47 แห่ง คลินิกเทคนิคการแพทย์ 7 แห่ง คลินิกเวชกรรม 93 แห่ง คลินิกทันตกรรม 34 แห่ง และสหคลินิก 4 แห่ง เพื่อให้โครงการฯ บรรลุสำเร็จ การมีส่วนร่วมของภาคีเครือข่ายในพื้นที่จะเป็นส่วนสำคัญทำให้ประชาชนเข้าถึงบริการได้โดยง่ายและสะดวก จึงจำเป็นต้องจัดให้มีหน่วยบริการนวัตกรรมเพิ่มมากขึ้น ที่นำมาสู่การประชุมครั้งนี้เพื่อทำความเข้าใจ นโยบาย แนวทางการดำเนินการและสร้างความมั่นใจให้กับสถานพยาบาลทุกวิชาชีพในการเข้าร่วมโครงการฯ

พญ.สมศรี เผ่าสวัสดิ์ นายกแพทยสภา กล่าวว่า จากข้อมูลที่ได้รับมองว่าเป็นนี่โครงการที่ดี ประชาชนได้ประโยชน์ ขณะเดียวกันยังช่วยแบ่งเบาภาระงานแพทย์ใน รพ.ได้ แต่ที่ผ่านมาการร่วมเป็นหน่วยบริการกับ สปสช. จะมีปัญหาการเบิกจ่ายที่ล่าช้า อัตราการจ่ายต่ำ ซึ่งเลขาธิการ สปสช. ชี้แจงว่าภายใต้โครงการฯ ได้มีการปรับประสิทธิภาพแล้วและจะดูแลหน่วยบริการที่เข้าร่วมเป็นอย่างดี ดังนั้นในฐานะองค์กรวิชาชีพแพทย์จึงอยากเชิญชวนคลินิกเวชกรรมอยู่ในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่อง ให้มาร่วมโครงการ หากมีปัญหาอะไร ให้แจ้งมาที่แพทย์สภา ซึ่งจะช่วยประสานไปยัง สปสช. เพื่อแก้ปัญหาต่อไป


กำลังโหลดความคิดเห็น