สวรส.วิจัยพัฒนาปรับวิธีรักษา “โรคพิธิโอซิส” เป็นการผ่าตัดร่วมใช้ยาฆ่าแบคทีเรียและยาฆ่าเชื้อรา ลดเสี่ยงเสียชีวิตเกษตรกรไทย พร้อมถ่ายทอดองค์ความรู้ใหม่สู่โรงเรียนแพทย์ - รพ.สังกัด สธ.
เมื่อวันที่ 27 พ.ย. ทพ.จเร วิชาไทย ผู้จัดการงานวิจัยสถาบันวิจัยระบบสาธารณสุข (สวรส.) กล่าวว่า สวรส.สนับสนุนทุนวิจัยให้แก่คณะแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ดำเนินการวิจัยการรักษาโรคพิธิโอซิสแบบผสมผสานโดยมีการผ่าตัด การให้ยาต้านเชื้อราและยาฆ่าเชื้อแบคทีเรีย ซึ่งได้นำเสนอผลงานในงานประชุมวิชาการและจัดแสดงนิทรรศการผลงานวิจัยและนวัตกรรมด้านการเกษตร “เปลี่ยนวิถีเกษตรไทยด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม” จัดโดยสำนักงานพัฒนาการวิจัยการเกษตร (องค์การมหาชน) หรือ สวก. เมื่อวันที่ 20 - 21 พ.ย.ที่ผ่านมา ณ ฮอลล์ 5 ศูนย์ประชุมแห่งชาติสิริกิติ์
ทพ.จเร กล่าวว่า ทีมวิจัยมีแผนที่จะจัดทำข้อเสนอเพื่อปรับเปลี่ยนวิธีการรักษาโรคพิธิโอซิส ซึ่งเกิดจากการติดเชื้อพิเธียม อินซิดิโอซุ่ม ที่พบได้มากคือ เกษตรกร โดยเฉพาะที่ต้องเดินลุยน้ำหรืออยู่ในที่ที่มีน้ำขัง ซึ่งมักเกิดแผลจากการทำกิจกรรมทางเกษตร ทำให้มีโอกาสเสี่ยงต่อการติดเชื้อดังกล่าว โดยปรับจากการใช้ยาต้านเชื้อราร่วมกับการผ่าตัด เป็นการใช้การผ่าตัดร่วมกับยาฆ่าเชื้อแบคทีเรียและยาฆ่าเชื้อรา นอกจากนี้ ทีมวิจัยมีแผนที่จะทำการติดตามผู้ป่วยเก่าและผู้ป่วยที่ได้รับการวินิจฉัยใหม่อย่างต่อเนื่องโดยการสร้าง Natural History of Vascular Pythiosis Cohort เพื่อประโยชน์ในการดูแลผู้ป่วย การเข้าใจในการดำเนินของโรคและภาวะการติดเชื้อพิธิโอซิสในหลอดเลือดเรื้อรัง ตลอดจนภาวะแทรกซ้อนทั้งในระยะสั้นและระยะยาวที่ยังไม่เคยมีการศึกษามาก่อน เพื่อโอกาสในการพัฒนาวิธีการรักษาที่มีประสิทธิภาพมากขึ้น และการเข้าถึงการรักษาแบบใหม่ในอนาคต
นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะทำความร่วมมือในการรักษาผู้ป่วยโรคพิธิโอซิสและถ่ายทอดองค์ความรู้ระหว่างโรงเรียนแพทย์และ รพ.สังกัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) ตลอดจนการสร้างฐานข้อมูลขนาดใหญ่สำหรับโรคพิธิโอซิสในหลอดเลือด ซึ่งเป็นข้อมูลสำคัญที่จะสามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อยอดในงานวิจัยที่เกี่ยวข้อง และการพัฒนาระบบสุขภาพในอนาคตต่อไป