xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยชี้ "ลอยกระทง" ใช้วัสดุธรรมชาติก็เป็นขยะ ปี 65 มีถึง 5.7 แสนใบ หนุน "ลอยออนไลน์" เป็นมิตรสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย ชี้ "ลอยกระทง" แม้ใช้วัสดุธรรมชาติ ก็กลายเป็นขยะ ปี 65 เก็บได้ 5.7 แสนใบ ต้องเสียงบประมาณกำจัด ส่วนกระทงขนมปัง หากมากเกินไปทำน้ำเน่าเสีย ยิ่งใช้โฟมยิ่งย่อยสลายยาก ทำท่ออุดตัน แนะ 5 วิธี ลดขยะลอยกระทง ชู "ลอยออนไลน์" เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวว่า หลังผ่านคืนลอยกระทงทุกปี สิ่งที่ตามมาคือ ซากกระทงจำนวนมากในแม่น้ำลำคลอง จากสถิติของสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. พบว่า ปริมาณกระทงที่เก็บได้ปี 2565 เฉพาะ กทม. รวม 572,602 ใบ แบ่งเป็น กระทงจากวัสดุธรรมชาติ เช่น ต้นกล้วย ใบตอง 548,086 ใบ หรือร้อยละ 95.7 และกระทงโฟม 27,516 ใบ หรือร้อยละ 4.3 แม้ปริมาณกระทงจะเพิ่มขึ้นจากปี 2564 จำนวน 169,399 หรือร้อยละ 42 แต่สัดส่วนกระทงโฟมลดลง เนื่องจากมีการรณรงค์ให้ใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลอยกระทงจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น ซึ่งกระทงที่นำมาลอยตามจุดต่างๆ สุดท้ายจะถูกเก็บขนขึ้นมาเพื่อนำไปกำจัดต่อไป โดย กทม.มีการคัดแยกกระทงที่ผลิตจากวัสดุธรรมชาติเข้าโรงงานผลิตปุ๋ยอินทรีย์ ซึ่งเป็นการนำกระทงกลับมาใช้ประโยชน์ และลดภาระค่าใช้จ่ายในการนำกระทงไปฝังกลบ

ทั้งนี้ จากผลสำรวจอนามัยโพลของกรมอนามัย วันที่ 24-27 พ.ย. 2566 พบว่า ร้อยละ 87 วางแผนไปเที่ยวงานลอยกระทงค่ำคืนนี้ ร้อยละ 43.5 เลือกใช้กระทงที่ทำจากวัสดุย่อยสลายได้ เช่น ใบตอง กาบกล้วย ร้อยละ 36.41 เลือกลอยกระทงออนไลน์ และร้อยละ 18.44 ลอยกระทง 1 ใบต่อ 1 ครอบครัว

นพ.อรรถพลกล่าวว่า วันลอยกระทงนี้ ขอความร่วมมือทุกคน ร่วมใจกันลอยกระทงอย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม สืบสานประเพณีที่ดีงาม ใช้หลัก 5 วิธีลดขยะ คือ 1.เลือกใช้วัสดุธรรมชาติ ไม่มีสารก่อมลพิษต่อแหล่งน้ำ เช่น ทำจากต้นกล้วย หยวกกล้วย ใบตอง 2.เลือกใช้วัสดุย่อยสลายได้ไว มีความสร้างสรรค์ เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น กระทงน้ำแข็ง กระทงโคนไอศกรีม 3.เลือกกระทงขนาดเล็ก ใช้วัสดุน้อย ช่วยลดปริมาณขยะ 4.ลอยกระทงร่วมกันเป็นครอบครัว หรือกลุ่มเพื่อน หรือคู่รัก รวม 1 ใบ เป็นการสานสัมพันธ์ที่ดี ลดขยะและประหยัดเงิน และ 5.เลือกลอยกระทงออนไลน์ สำหรับผู้ที่ไม่ได้ไปลอยนอกสถานที่ หรือไปเดินเที่ยวงานลอยกระทง ทั้งสะดวกปลอดภัย ลดปริมาณขยะแบบแท้จริง

"แม้ปัจจุบันจะมีการใช้วัสดุธรรมชาติมากขึ้น แต่กระทงทั้งหมดก็กลายเป็นขยะที่ต้องถูกนำไปกำจัดเสียงบประมาณจำนวนมากเพื่อการจัดการ รวมถึงกระทงที่ทำจากขนมปังที่คนให้ความสนใจนำมาลอยมากขึ้น เพื่อให้เป็นอาหารปลา หากมีจำนวนมากเกินไปจะทำให้น้ำเน่าเสียได้ ส่วนกระทงที่ทำจากโฟม เป็นวัสดุที่ย่อยสลายยากในธรรมชาตินานถึง 500 ปี หลายคนเชื่อว่าสะดวกดี ลอยน้ำได้ง่าย แต่อาจไปอุดตันตามท่อ กีดขวางทางน้ำ เป็นขยะที่มีสารพิษและมีส่วนทำให้โลกร้อน" นพ.อรรถพลกล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น