xs
xsm
sm
md
lg

เปิด 2 โครงการ "แก้หนี้" ชาว สธ. "บ้าน-สินเชื่อ" เปิดช่อง "หนี้นอกระบบ" ไม่เกิน 2 แสน ดอก 0.7% ต่อเดือน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"ชลน่าน" จัด 2 โครงการแก้หนี้บุคลากร สธ. ลดดอกเบี้ยหนี้บ้าน-สินเชื่อ ดึงกลุ่มหนี้นอกระบบไม่เกิน 2 แสนบาท ได้ดอกเบี้ย 0.7-0.75% คาดช่วยมีเงินเหลือเก็บเพิ่มเฉลี่ย 5,751 บาท/เดือน แจงเป็น Quick Win สร้างขวัญกำลังใจ เริ่มต้น 8 ธ.ค.นี้

เมื่อวันที่ 27 พ.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) แถลงข่าวภายหลังมอบนโยบาย “แก้หนี้ เสริมกำลังใจ ให้คนสาธารณสุข” ในการประชุมชี้แจงแผนงานความมั่นคงปลอดภัยทางการเงิน (Money Safety MOPH+) ต่อบุคลากรทางการแพทย์และสาธารณสุขทั่วประเทศ ว่า วันที่ 27 พ.ย. เป็นวันสถาปนา สธ. ครบ 81 ปี ปัจจุบันมีบุคลากรทั้งหมดกว่า 5 แสนคน เราผ่านวิกฤตกันมาหลายครั้ง อีกสิ่งที่เป็นปัญหาของบุคลากรคือ เรื่องภาระหนี้สิน สธ.มีนโยบายสร้างขวัญกำลังใจเพิ่มคุณภาพชีวิตตามนโยบายรัฐบาล ที่ผ่านมาได้มอบหมาย พญ.นวลสกุล บำรุงพงษ์ คณะที่ปรึกษา รมว.สธ.ดูแล จากการตั้งคณะทำงานเจรจาหาทางออกระหว่าง สธ.และธนาคารออมสิน ทำให้ได้ทางออกในการแก้ไขปัญหาหนี้สินของบุคลากร ช่วยแบ่งเบาความทุกข์ในกลุ่มที่มีหนี้สิน ด้วยการพัฒนาระบบสร้างเสริมสุขภาพทางการเงินบุคลากร เพิ่มการสร้างวินัยทางการเงิน โดยจัดให้มี “คลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน” และจัดทำแผนความมั่นคงปลอดภัยด้านการเงิน (Money Safety MOPH+) 2 โครงการ คือ


1.โครงการสร้างความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ดำเนินการใน 4 กลุ่ม คือ รีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ ปลูกสร้าง และต่อเติมซ่อมแซม จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคน 4,167 บาทต่อเดือน ลดค่าใช้จ่ายภาพรวมบุคลากร สธ. 3 พันล้านบาทต่อปี ซึ่งการรีไฟแนนซ์ไม่มีกำหนดว่าต้องมีเงินต้นคงเหลือเท่าไร


และ 2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ 4 รูปแบบ คือ สินเชื่อสวัสดิการ : อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น, สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ เหมือนโครงการกรุงไทยธนวัฏเดิม, สินเชื่อสวัสดิการโดยใช้บำเหน็จตกทอด สำหรับข้าราชการบำนาญ และสินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ ซึ่งจะช่วยในกลุ่มหนี้นอกระบบด้วย จะช่วยลดค่าใช้จ่ายต่อคนได้ 1,584 บาทต่อเดือน และลดค่าใช้จ่ายภาพรวมบุคลากร สธ. 3,042 ล้านบาทต่อปี โดยทั้ง 2 โครงการ คาดว่าจะช่วยทำให้บุคลากรมีเงินเหลือเก็บ 5,751 บาทต่อเดือน และประหยัดรวม 6,042 ล้านบาทต่อปี

"การช่วยเหลือบุคลากร สธ.ในเรื่องหนี้นั้น นิยามของบุคลากร สธ. ก็คือ ทุกคนที่ทำงานอยู่ในสังกัด สธ.ทั้งหมด โดยการเดินหน้าตรงนี้ถือเป็น Quick Win ตามนโยบาย ซึ่งโครงการนี้จะเริ่มในวันที่ 8 ธ.ค.นี้ และในอนาคตจะมีอีกหลายโครงการที่ให้ความช่วยเหลือต่อไป" นพ.ชลน่านกล่าว

พญ.นวลสกุลกล่าวว่า สธ.ทราบถึงปัญหาภาระหนี้สินที่เป็นหนึ่งในปัญหาสำคัญที่ส่งผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตและขวัญกำลังใจในการทำงาน โดยเฉพาะกลุ่มลูกหนี้วิกฤตที่ต้องได้รับความช่วยเหลือเร่งด่วน จึงตั้งคณะทำงานเจรจาหารือกับสถาบันการเงิน ทั้งธนาคารออมสิน ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารอาคารสงเคราะห์ ธนาคารกรุงไทย และธนาคารทหารไทยธนชาต ตั้งแต่ ก.ย.เป็นต้นมา รวมกว่า 2 เดือน เพื่อให้ได้ข้อเสนอสวัสดิการทางการเงินที่ดีที่สุด ด้วยการลดอัตราดอกเบี้ย สร้างสภาพคล่องทางการเงิน เสริมกำลังใจ สร้างความมั่นคงให้ชาว สธ. ตอบแทนบุคลากรทุกคนที่ทำหน้าที่ด้วยความมุ่งมั่น ทุ่มเทเสียสละ ดูแลสุขภาพประชาชนคนไทยทั้งประเทศจนมีผลงานเป็นที่ประจักษ์


ถามถึงโครงการแก้หนี้นอกระบบ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นโครงการหนึ่งโดยเป็นสินเชื่อสวัสดิการให้แก่รายย่อย วงเงินไม่เกินรายละ 200,000 บาท ระยะเวลาสูงสุดไม่เกิน 8 ปี ดอกเบี้ยอยู่ที่ 0.70-0.75% ต่อเดือน

เมื่อถามว่าเรื่องนี้บรรจุอยู่ในแพคเกจของนายกรัฐมนตรีที่จะมีการแถลงข่าวด้วยหรือไม่ นพ.ชลน่าน กล่าวว่า ไม่ได้รวม เนื่องจากโครงการนี้เป็นของกระทรวงสาธารณสุขที่หารือกับทางธนาคารออมสิน

ถามถึงคลินิกสุขภาพทางการเงินเป็นอย่างไร พญ.นวลสกุลกล่าวว่า เราอยากให้บุคลากรในองค์กรช่วยกันเอง เพราะบางคนมีปัญหาหนักอก มีหนี้นอกระบบ ถ้าในองค์กรมีการตั้งตรงนี้ขึ้นมาเป็นกลุ่มและมีออมสินเข้ามาประกบด้วย จะทำให้เราคลี่หนี้ตรงนี้ออกไปได้ชัดเจนขึ้น หลังจากนั้นก็วางแผนการใช้เงินต่อ ซึ่งวันนี้จะมีการประชุมเพื่อตั้งหน่วยงานนี้ขึ้นมาเพื่อรองรับ โดยจะพยายามให้มีในทุกองค์กร


สำหรับรายละเอียด 2 โครงการ Money Safety MOPH+ มีดังนี้

1.โครงการความมั่นคงด้านที่อยู่อาศัย ทั้งรีไฟแนนซ์ ซื้อบ้านหลังใหม่ ปลูกสร้าง และต่อเติมซ่อมแซม วงเงินกู้ ตามราคาซื้อขายหรือราคาประเมิน/ระยะเวลา สูงสุดไม่เกิน 40 ปี กรณีย้ายบัญชีเงินเดือนและเงินบำรุงมาเป็นธนาคารออมสิน มี 2 ทางเลือก คือ 1.ทำประกันชีวิต ปีที่ 1-3 MMR -4.395 = 2.6% ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR -1.75 = 5.245% 2.ไม่ทำประกันชีวิต ปีที่ 1-3 MMR -4.045 = 2.95% ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR -1.75 = 5.245%

2.โครงการสินเชื่อสวัสดิการและอื่นๆ มี 4 รูปแบบ คือ

1) อุปโภคบริโภค/ชำระหนี้สินเชื่อรายย่อยประเภทอื่น กรณีบุคคลค้ำประกัน/ไม่ใช้บุคคลค้ำประกัน จะได้วงเงิน 40 เท่าของเงินเดือน ไม่เกินรายละ 3 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 15 ปี ส่วนกรณีใช้หลักทรัพย์ค้ำประกัน ไม่เกินรายละ 5 ล้านบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 20 ปี อัตราดอกเบี้ยต่อปี กรณีเงินเดือนผ่านธนาคารออมสิน บุคคลค้ำประกัน 6.245% ไม่ใช่บุคคลค้ำประกัน 6.495% และหลักทรัพย์ค้ำประกัน 4.745%

ส่วนเงินเดือนผ่านธนาคารออมสินและหน่วยงานเปิดบัญชีเงินฝากกับออมสิน ดอกเบี้ยจะอยู่ที่ 5.245% 5.495% และ 3.745% ตามลำดับ

กรณีเงินเดือนไม่ผ่านออมสิน ทำประกันชีวิต เดือนที่ 1-6 ดอกเบี้ย 1.99% เดือนที่ 7-12 MRR -3.685% = 3.31% ปีที่ 2-3 MRR -2.92 = 4.075% ปีที่ 4 เป็นต้นไป MRR -1.75 = 5.245% (เฉลี่ย 3 ปี 3.6%)

2) สินเชื่อ Salary เปย์ เพื่อบุคลากรภาครัฐ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายอเนกประสงค์และเสริมสภาพคล่องในยามฉุกเฉิน วงเงินกู้ไม่เกิน 15 เท่าของเงินเดือน ไม่เกินรายละ 1 ล้านบาท ให้กู้ไม่เกิน 1 ปี ทบทวนวงเงินทุกปี อัตราดอกเบี้ย มีเงินเดือนผ่านบัญชีธนาคารออมสิน 9.995% ต่อปี

3) ข้าราชการบำนาญ ลูกจ้างประจำ โดยใช้บำเหน็จตกทอดค้ำประกัน เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ เป็นเงินทุน เงินทุนประกอบอาชีพ ชำระหนี้สินอื่นๆ จำนวนเงินให้กู้สูงสุด 100% ของจำนวนเงินบำเหน็จตกทอดที่กรมบัญชีกลาง/สำนักงานคลังจังหวัดรับรองสิทธิ ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 30 ปี อัตราดอกเบี้ยต่อปี MRR -2.805 = 4.19%

4) สินเชื่อรายได้ประจำสุขใจ เพื่อเป็นค่าใช้จ่ายที่จำเป็นต่อการดำรงชีพ ชำระหนี้สินอื่นๆ ไม่เกินรายละ 2 แสนบาท ให้กู้สูงสุดไม่เกิน 8 ปีไม่ต้องใช้หลักประกัน อัตราดอกเบี้ยร้อยละ 0.7-0.75 ต่อเดือน


นายวุฒิพงษ์ ภิรมยาภรณ์ รอง ผอ.ธนาคารออมสิน กล่าวว่า บุคลากร สธ.ที่อาจมีการกู้เงินมาเป็นค่าใช้จ่ายประมาณ 3-4 หมื่นบาท หรือเป็นหนี้ไฟแนนซ์อย่างมอเตอร์ไซค์ที่มีดอกเบี้ยสูงๆ ก็สามารถมาดำเนินการกู้เงินกับโครงการนี้ได้ในวงเงินไม่เกิน 2 แสนบาท ตรงนี้จะช่วยคนมีหนี้นอกระบบ หรือกู้เงินมาแต่ต้องใช้คืนดอกเบี้ยสูงๆ แต่โครงการนี้จะมีดอกเบี้ยน้อยมากประมาณ 0.7% ต่อเดือน หรือรวมๆประมาณ 8% ต่อปี ซึ่งถูกกว่าไฟแนนซ์ประมาณ 15% และหนี้นอกระบบประมาณ 5% โดยให้สิทธิบุคลากร สธ.ที่มีประมาณ 4-5 แสนคนจะได้สิทธิตรงนี้ ส่วนรายละเอียดก็สามารถติดต่อกับทางคลินิกรักษาสุขภาพความมั่นคงทางการเงิน ซึ่ง สธ.จะจัดขึ้นในองค์กรของตน เป็นที่ปรึกษาให้สอบถามรายละเอียดได้

“ตรงนี้ไม่มีอะไรค้ำประกันเลย โดยใครร่วมโครงการก็จะหักจากเงินเดือนได้ แต่วัตถุประสงค์หลักๆ คือ ไม่ต้องจ่ายค่าดอกเบี้ยสูงๆ ส่วนคนที่เป็นหนี้นอกระบบก็จะมีที่ปรึกษาในการสร้างวินัยการเงิน ยิ่งบางคนหนี้หนี้พนันออนไลน์ หรือการพนันอื่นๆ ก็ต้องมาปรึกษาว่า จะเลิกแน่ๆ สิ่งเหล่านี้ทางธนาคารออมสินได้ร่วมกับกระทรวงสาธารณสุข ไม่เพียงแต่แบ่งเบาเรื่องดอกเบี้ย แบ่งเบาภาระหนี้สิน แต่ยังสร้างวินัยทางการเงิน การบริหารใช้จ่ายอย่างเหมาะสมด้วย” นายวุฒิพงษ์ กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น