xs
xsm
sm
md
lg

โรคเอดส์ การติดต่อ และการป้องกันที่ทุกคนควรรู้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. นายแพทย์สัณฑ์ ม่วงน้อยเจริญ
รองผู้อำนวยการ โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อน คณะเวชศาสตร์เขตร้อน มหาวิทยาลัยมหิดล


เอดส์ (Acquired Immune Deficiency Syndrome – AIDS) เป็นกลุ่มอาการเจ็บป่วยที่เกิดจากภูมิคุ้มกันบกพร่อง ที่เกิดจากร่างกายได้รับเชื้อไวรัสเอชไอวี (HIV) ไวรัสนี้ทำลายภูมิคุ้มกันของร่างกายและก่อให้เกิดอาการต่างๆ
เชื้อ HIV อยู่ในเลือดหรือสารคัดหลั่งของผู้ที่ติดเชื้อ สาเหตุที่พบมากที่สุด คือ การติดต่อทางเพศสัมพันธ์ นอกจากนี้ ยังเกิดได้จากสาเหตุอื่นๆ เช่น การใช้เข็มฉีดยาร่วมกัน การถ่ายทอดจากแม่สู่ลูก ซึ่งพบได้น้อยลงมากในปัจจุบัน

เมื่อเชื้อ HIV เข้าสู่ร่างกาย จะใช้เวลาในการฟักตัว แพร่และขยายพันธุ์เข้าไปทำลายการทำงานเม็ดเลือดขาว ซึ่งเป็นแหล่งสร้างและควบคุมระบบภูมิคุ้มกันโรคที่คอยควบคุมและต่อสู้กับเชื้อโรคต่าง ๆ ที่เข้าสู่ร่างกาย ส่วนผู้ที่ติดเชื้อ HIV เมื่อติดเชื้อจนการทำงานของเม็ดเลือดขาว และระบบภูมิคุ้มกันต่ำลงจะทำให้เริ่มติดเชื้อต่าง ๆ ง่ายขึ้น หากไม่รับการรักษา ระดับภูมิคุ้มกันลดต่ำลงเรื่อย ๆ จะทำให้ป่วยเป็นโรคเอดส์และเริ่มมีอาการจากการติดเชื้อฉวยโอกาส (Opportunistic infection)

โรคเอดส์ นั้นยังไม่มียารักษาให้หายขาด หรือวัคซีนที่สามารถป้องกันการติดเชื้อได้อย่างดี การป้องกันไม่ให้ติดเชื้อจึงยังเป็นหนทางที่ดีที่สุดในการควบคุมโรคนี้ ควรหลีกเลี่ยงพฤติกรรมเสี่ยง เช่น การมีเพศสัมพันธ์หลากหลายคู่นอน การมีเพศสัมพันธ์โดยที่ไม่ได้ป้องกัน ไม่ใส่ถุงยางอนามัย หลีกเลี่ยงการสัมผัสกับสารคัดหลั่ง เลือดน้ำเหลืองหรือสัมผัสสารคัดหลั่งโดยตรงจากผู้ป่วย หรือผู้ที่สงสัยว่าจะเป็นโรคเอดส์ หากอยู่ในกลุ่มเสี่ยงมีพฤติกรรมเสี่ยงดังกล่าว แนะนำให้ไปพบแพทย์ที่โรงพยาบาลเพื่อปรึกษาแนวทางการตรวจวินิจฉัยและการป้องกันอย่างเร็วที่สุด จะได้มีการประเมินความเสี่ยงและหากเสี่ยงมากอาจจะมีการเจาะเลือดตรวจทางห้องปฏิบัติการเพื่อดูว่ามีการติดเชื้อหรือไม่ ถ้าพบว่ามีการติดเชื้อให้เข้าสู่กระบวนการรักษาทางการแพทย์ต่อไป
วิธีการป้องกันในเบื้องต้นอย่างเหมาะสม คือ การใช้ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ สามารถป้องกันการติดเชื้อ HIV และยังสามารถป้องกันโรคอื่น ๆ ที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์ได้อีกด้วย เช่น ซิฟิลิส โรคหนองใน ไวรัสตับอักเสบบี ซี
และการตั้งครรภ์โดยไม่พึงประสงค์

ปัจจุบัน “ยาต้านเอชไอวี” มีหลายชนิดและมีการค้นคว้าวิจัยพัฒนามาอย่างต่อเนื่อง มีประสิทธิภาพที่ดียับยั้งเชื้อได้ดีและผลข้างเคียงน้อยเมื่อเทียบกับยารุ่นแรก ในส่วนของยาเพร็บ PrEP (Pre-Exposure Prophylaxis) คือ ยาที่ใช้ในการป้องกันเชื้อ HIV เป็นยากิน ยาต้านไวรัส ชนิดและขนาดใกล้เคียงหรือเหมือนกับยาที่ใช้รักษา โดยกินก่อนที่จะมีเพศสัมพันธ์ คาดหวังว่ากินเข้าไปแล้ว ทำให้เรามีระดับยาต้านไวรัสในเลือด เมื่อมีการรับเชื้อเข้ากระแสเลือด เชื้อก็จะถูกยาที่อยู่ในกระแสเลือดนั้นกำจัดยับยั้งถือว่าเป็นการป้องกันได้ในระดับนึง แต่มีข้อแม้ว่าต้องกินอย่างต่อเนื่อง สม่ำเสมอตามคำสั่งแพทย์และยังแนะนำว่าควรใช้ร่วมกับการใส่ถุงยางอนามัยเมื่อมีเพศสัมพันธ์ก็จะปลอดภัยมากขึ้น

ส่วนการรักษานั้นในกรณีได้รับการตรวจและวินิจฉัยว่าเป็นผู้ติดเชื้อ HIV แล้ว ผู้ป่วยจะเข้าสู่กระบวนการรักษา เริ่มจากตรวจสภาพร่างกาย ตรวจหาการติดเชื้ออื่นแทรกซ้อน ตรวจประเมินระดับภูมิคุ้มกัน เมื่อประเมินเสร็จเรียบร้อย แพทย์ก็จะรักษาตามขั้นตอน โดยมีการให้ยาต้านไวรัสซึ่งในปัจจุบันมีความก้าวหน้าทางการแพทย์เป็นอย่างมากโดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในส่วนของการเข้าถึงการรักษาการในประเทศไทยนั้นมีแพทย์และคลินิกเฉพาะทางที่รักษาโรคนี้ นอกจากนี้ คนไทยทุกคนมีสิทธิ์เข้าถึงระบบการวินิจฉัยและรักษาด้วยยาต้านไวรัสได้ตามสิทธิที่โรงพยาบาลทุกแห่งภายใต้ระบบหลักประกันสุขภาพ หากรู้ว่าตนเป็นกลุ่มเสี่ยง หรือตรวจแล้วพบการติดเชื้อแนะนำให้ไปพบแพทย์เพื่อวางแผนการรักษาจะดีที่สุด เมื่อตรวจพบการติดเชื้อ HIV ได้เร็วเท่าไหร่ โอกาสในการได้รับการรักษาด้วยยาต้านไวรัสเร็วขึ้น การเกิดโรคจากภาวะภูมิคุ้มกันต่ำ ติดเชื้อแทรกซ้อนก็ยิ่งต่ำลง ลดการแพร่กระจายเชื้อไปสู่ผู้อื่นได้ อีกด้วย เมื่อเข้าสู่กระบวนการรักษาแล้วผู้ป่วยต้องกินยาอย่างสม่ำเสมอ กินเป็นประจำ ห้ามหยุดยาเองเด็ดขาด หยุดการมีเพศสัมพันธ์โดยไม่ได้ป้องกัน เพื่อหยุดการรับเชื้อเพิ่มและแพร่เชื้อใหม่ หากกินยาไม่สม่ำเสมอไม่ตรงตามกำหนดเวลา หรือมีพฤติกรรมเสี่ยงรับเชื้อเพิ่มมาอาจเกิดอาการดื้อยา ซึ่งจะเป็นปัญหาต่อไปในอนาคต

โรคเอดส์ ยังคงเป็นสาเหตุของการเจ็บป่วยและเสียชีวิตของประชาชนทุกภูมิภาคทั่วโลก และเป็นปัญหาทางสาธารณสุขของไทยและของโลก ยังมีผู้ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ข้อมูลจากองค์การอนามัยโลกประมาณการณ์ว่า มีผู้ป่วยทั่วโลกที่ป่วยติดเชื้อรายใหม่ปีละประมาณ 1 ล้านคน และมีจำนวนมากขึ้นในกลุ่มผู้อายุที่น้อย ทั้งนี้ส่วนหนึ่งขาดความรู้ความตระหนักในการป้องกัน การสร้างความเข้าใจที่ถูกต้อง ควรส่งเสริมให้เด็กเรียนรู้เรื่องเพศศึกษาสุขศึกษาให้เข้าใจถึงโรคการติดต่อและการป้องกัน โดยมีแนวทางที่ถูกต้องจะช่วยป้องกันการติดเชื้อ HIV และการติดเชื้อที่ติดต่อทางเพศสัมพันธ์อื่น ๆ รวมถึงการตั้งครรภ์ไม่พึงประสงค์อีกด้วย

ผู้ติดเชื้อ HIV สามารถใช้ชีวิตอยู่ในสังคมร่วมกับครอบครัว และผู้คนรอบข้างได้อย่างปกติ เมื่อได้รับการวินิจฉัย การรักษาอย่างถูกต้องต่อเนื่องและมีการป้องกันตัวแและคนรอบข้างอย่างถูกต้องถูกวิธี สิ่งสำคัญ คือ ครอบครัว คนรอบข้างต้องมีความเข้าใจในโรคและการติดต่อ การปฏิบัติตัว คอยดูแลและให้ไปพบแพทย์เพื่อเข้ารับการรักษา กินยาตามแพทย์สั่ง ตรวจติดตามการรักษาและรับยาต่อเนื่อง เมื่อรักษาถึงจุดหนึ่ง ภูมิคุ้มกันก็จะปกติ สามารถทำงาน เล่นกีฬา อยู่ร่วมกัน ทำงานร่วมกันได้ สามารถใช้ชีวิตเหมือนคนปกติทั่วไป


กำลังโหลดความคิดเห็น