xs
xsm
sm
md
lg

โรคผิวหนังจากการทำงาน-ประสาทหูเสื่อม-ฝุ่น PM 2.5 แนวโน้มเพิ่มขึ้น

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



บอร์ดโรคประกอบอาชีพ-สิ่งแวดล้อม ชี้แนวโน้มโรคจากฝุ่น PM 2.5 เพิ่มขึ้น หลังค่าฝุ่นสูงจากเข้าสู่ฤดูหนาว ส่วนโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช โรคจากฝุ่นซิลิกา โรคจากแอสเบสตอสแนวโน้มลดลงลง โรคผิวหนังจาการทำงาน ประสาทหูเสื่อมเพิ่มขึ้น

เมื่อวันที่ 24 พ.ย. นพ.โอภาส การย์กวินพงศ์ ปลัดกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กล่าวภายหลังประชุมคณะกรรมการควบคุมโรคจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม ครั้งที่ 3/2566 ว่า ที่ประชุมทบทวนและพิจารณาเห็นชอบกฎกระทรวงและประกาศกระทรวง 8 ฉบับ ได้แก่ 1.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการอาชีวเวชกรรม 2.การกำหนดมาตรฐานการให้บริการของหน่วยบริการเวชกรรมสิ่งแวดล้อม 3.การขึ้นทะเบียนของหน่วยบริการ 4.การตรวจสุขภาพของแรงงานนอกระบบ 5.การแจ้งข้อมูลที่จำเป็นเกี่ยวกับการเฝ้าระวัง การป้องกัน หรือการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อมจากประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ 6.คุณสมบัติหน่วยงานอื่นใดของรัฐที่จะดำเนินการขึ้นทะเบียน 7.การแจ้งและการรายงานข้อมูลการตรวจสุขภาพของลูกจ้างและแรงงานนอกระบบ หรือการเฝ้าระวังสุขภาพของประชาชนที่ได้รับหรืออาจได้รับมลพิษ และ 8.การเข้าไปในสถานประกอบกิจการของนายจ้าง แหล่งกำเนิดมลพิษ ยานพาหนะ หรือสถานที่ใดๆ ของพนักงานเจ้าหน้าที่ และมีมติเห็นชอบเพิ่มเติม 2 เรื่อง ได้แก่ 1. ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากการประกอบอาชีพ พ.ศ. ... และ 2.ร่างประกาศกระทรวงสาธารณสุข เรื่อง ชื่อหรืออาการสำคัญของโรคจากสิ่งแวดล้อม พ.ศ. ....

ด้าน นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร รักษาราชการแทนอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ที่ประชุมได้รับทราบสถานการณ์โรคและภัยสุขภาพจากการประกอบอาชีพและโรคจากสิ่งแวดล้อม พบว่า อัตราการป่วยด้วยโรคจากสารกำจัดศัตรูพืช โรคซิลิโคสิสจากฝุ่นซิลิกา โรคจากแอสเบสตอส โรคจากตะกั่ว ที่เกิดจากการประกอบอาชีพและสิ่งแวดล้อมมีแนวโน้มลดลง ส่วนโรคผิวหนังจากการทำงานและโรคประสาทหูเสื่อม พบผู้ป่วยมากกว่าปีก่อนหน้าเล็กน้อย ส่วนสถานการณ์ฝุ่น PM 2.5 เนื่องจากเริ่มเข้าสู่ฤดูหนาวจึงส่งผลให้แนวโน้มเพิ่มสูงขึ้น รวมทั้งในปี 2567 กรมอุตุนิยมวิทยาคาดการณ์ว่าปรากฏการณ์เอลนีโญจะส่งผลกระทบให้เกิดปัญหาหมอกควันมากขึ้น สธ.จึงดำเนินการเฝ้าระวังป้องกันโรคให้กับประชาชนอย่างต่อเนื่องโดยมอบหมายคณะอนุกรรมการด้านวิชาการ จัดทำระบบและแนวทางปฏิบัติในการเฝ้าระวัง การป้องกัน และการควบคุมโรคจากสิ่งแวดล้อม

นพ.อภิชาต วชิรพันธ์ รองอธิบดีกรมควบคุมโรค กล่าวว่า ปัญหามลพิษทางอากาศจากฝุ่น PM2.5 สามารถส่งผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนโดยเฉพาะประชาชนกลุ่มเปราะบาง ได้แก่ เด็กเล็ก ผู้สูงอายุ หญิงตั้งครรภ์ และผู้มีโรคประจำตัว 4 กลุ่มโรค ได้แก่ 1) กลุ่มโรคทางเดินหายใจ ได้แก่ โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง และโรคหืด 2) กลุ่มโรคหัวใจและหลอดเลือด ได้แก่ โรคหัวใจขาดเลือดเฉียบพลัน 3) กลุ่มโรคตาอักเสบ และ 4) กลุ่มโรคผิวหนังอักเสบ ได้แก่ โรคผื่นลมพิษ และโรคผื่นผิวหนังอักเสบ หากผู้ป่วยกลุ่มโรคดังกล่าวมีอาการรุนแรงมากขึ้นในช่วงฝุ่น PM2.5 มีค่ามากกว่า 37.5 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร ควรรีบไปพบแพทย์โดยเร็ว


กำลังโหลดความคิดเห็น