xs
xsm
sm
md
lg

จิตแพทย์จี้ปรับระบบดูแล "นศ.อาชีวะ" ใหม่ สังเกตเด็กเสี่ยง ติดตามดูแล สร้าง Self Esteem ลดปัญหาก่อเหตุรุนแรง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



จิตแพทย์ชี้ "เด็กอาชีวะ" ก่อเหตุรุนแรง ต้องยกเครื่องระบบดูแลเด็กใหม่ ย้ำเป็นเรื่องเฉพาะบุคคล อย่าเหวี่ยงแหทั้งโรงเรียน แนะครูสังเกตเด็กกลุ่มเสี่ยง เข้าไปดูแล สร้าง Self Esteem ทางบวก เรียนแบบทวิภาคี เรียนด้วยทำงานด้วย ช่วยป้องกันได้ หนุน ตร.จัดการแก๊งรุ่นพี่สกัดองค์กรครอบงำ

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. นพ.ยงยุทธ วงศ์ภิรมย์ศานติ์ ที่ปรึกษากรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีการก่อเหตุความรุนแรงของกลุ่มอาชีวะ ซึ่งตำรวจมองมีการรวมกลุ่มเป็นอาชญากรรมกลุ่มเล็ก ไม่ใช่นักศึกษา และมีการช่วยเหลือทางคดี ว่า การก่อเหตุความรุนแรงของกลุ่มนักเรียนอาชีวะ ไม่ใช่แค่เรื่องการรักสถาบันตนเองที่เป็นสาเหตุ แต่พื้นฐานคือต้องเป็นคนที่มีแนวโน้มก่อความรุนแรงอยู่แล้ว เป็นเรื่องเฉพาะบุคคล และมีจำนวนน้อย ไม่ใช่ทั้งโรงเรียนหรือจะเหมาว่าทั้งโรงเรียนไม่ได้ ปัจจัยก่อเหตุความรุนแรงคือ 1.เรื่องของบุคลิกภาพ โดยคนที่มีแนวโน้มการก่อความรุนแรงได้ คือ พื้นฐานการเลี้ยงดู ถูกใช้ความรุนแรงหรือเห็นความรุนแรงมาเยอะ 2.ปัจจัยส่งเสริมหรือกระตุ้นให้เกิดความรุนแรง เช่น การมีรุ่นพี่เป็นกลุ่มแก๊งใช้รุ่นน้องเป็นเครื่องมือ ในการตอบสนองปัญหาของตนเอง ซึ่งคนพวกนี้มีปัญหาของตนเองและทำให้ปัญหาตนเองบรรเทาลงด้วยการสร้างให้รู้สึกว่าตัวเองมีตัวตน

"คนเรามี Self Esteem หรือการเห็นคุณค่าของตนเองเป็นพื้นฐานของมนุษย์ ถ้าคนเราสร้าง Self Esteem ทางบวกไม่ได้ก็จะใช้ทางลบ คือ ทำให้ตัวเองรู้สึกมีคุณค่าด้วยการที่ตัวเองเด่นดัง เพราะสามารถทำความรุนแรง จัดการกับอีกฝ่ายหนึ่งได้ หรือพอกระทำเสร็จแล้วก็ไปทำพวกสัญลักษณ์โลโก้ต่างๆ โดยคนเหล่านี้ก็ใช้รุ่นน้องที่มีปัจจัยข้อแรก จึงถือเป็นปัจจัยเสริม และ 3.ปัจจัยสิ่งแวดล้อมอื่นๆ เช่น พกพาอาวุธง่าย หาอาวุธง่าย ก็นำไปสู่เหตุที่ประกอบกันเป็นความรุนแรง" นพ.ยงยุทธกล่าว


นพ.ยงยุทธ กล่าวว่า วิธีการแก้ปัญหาก็ต้องแก้จากเหตุปัจจัยเหล่านี้ โดยสถาบันอาชีวศึกษาทั้งหมดต้องปรับปรุงระบบการดูแลนักศึกษาอาชีวะใหม่ ที่สำคัญสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษา (สอศ.) ก็ต้องให้ความสำคัญในการสร้างระบบดูแลด้วย ซึ่งต้องรู้ให้ได้ว่าเด็กคนไหนที่มีความเสี่ยง และต้องรู้ตั้งแต่ต้นเทอม ซึ่งเชื่อว่าครูสามารถรู้ได้ผ่านการใช้แบบคัดกรอง เช่น มีปัญหาความเครียด มีปัญหาภาวะทางจิตใจไหม , ประเมินสังเกตพฤติกรรมเด็ก ซึ่งไม่ยาก เช่น เด็กจะไม่ค่อยใส่ใจการเรียน หนีเรียน กลุ่มนี้เป็นกลุ่มเสี่ยงหมด ซึ่งอาจารย์น่าจะทราบว่าเด็กแต่ละคนเป็นอย่างไร ก็อาจจะต้องเรียกเด็กมาคุย เชิญพ่อแม่มาคุย ไปเยี่ยมบ้าน พอเด็กรู้ว่ามีคนใส่ใจดูแลปัญหาเขาจะน้อยลงหรือปัญหาจะไม่เกิด ส่วนปัจจัยภายนอกอย่างแก๊งรุ่นพี่ ตำรวจก็ต้องดูแลไม่ให้เกิดกลุ่มแก๊งภายนอกเข้ามาสนับสนุน รวมถึงยังต้องดูแลสิ่งแวดล้อมให้ดี การพกพาอาวุธไม่ให้ทำโดยง่าย รวมถึงการทำหลักสูตรอาชีวศึกษาแบบทวิภาคี (Dual System) คือ เด็กเรียนและไปทำงานด้วย จะทำให้เด็กมีคุณค่าในตนเองจาการทำงาน อยู่ภายใต้การดูแลของผู้ใหญ่ที่มีวุฒิภาวะ พออยู่ในทวิภาคีเด็กจะก่อความรุนแรงน้อยลงไปเยอะ

"เราต้องไปอุดช่องโหว่เหล่านี้ การพยายามแก้ปัญหาเด็กทั้งโรงเรียนนั้น จริงๆ ต้องแก้ปัญหาเด็กแบบเจาะจง ต้องรู้ว่าใครเสี่ยงก่อความรุนแรง เพราะไม่ใช่เด็กทุกคนหรือส่วนใหญ่ที่ก่อความรุนแรง ถาเราไปหว่านทั้งหมดก็ไม่ได้ผล พยายามลงไปในเด็กเฉพาะรายและตัดปัจจัยส่งเสริมให้ได้ สร้างสิ่งแวดล้อมให้เด็กมี Self Esteem ทางบวก อย่างเรียนแบบทวิภาคี เรียนแล้วมีรายได้ เป็นต้น อย่างในเยอรมันก็เป็นอาชีวะแบบทวิภาคีทั้งหมด" นพ.ยงยุทธกล่าว

นพ.ยงยุทธกล่าวว่า ส่วนสองสถาบันที่มักเป็นปัญหาบ่อยๆ ตรงนี้ก็เป็นปัจจัยเสริม เพราะถ้าเด็กไม่มีความรุนแรงแบบนี้ก็ไปมีความรุนแรงแบบอื่นๆ เช่น แกล้งกันเอง การรับน้อง เป็นต้น เพียงแต่ตรงนี้เป็นความรุนแรงระหว่างสถาบันซึ่งเป็นปัจจัยเสริมมาช่วย ไม่ได้แปลว่าโรงเรียนอื่นไม่ได้มีความรุนแรง ส่วนที่ตั้งข้อสังเกตว่าจะเป็นองค์กรสนับสนุนนั้น ทางข้อกฎหมายก็ต้องดูแล ซึ่งเกิดจากการเป็นระบบปิด พยายามสร้าง Self Esteem ตัวเองในทางลบ มีการสื่อสาร หารายได้ หาอาวุธปืน ทางตำรวจกดำเนินการได้ ส่วนจะตีความว่าเป็นองค์กรอาชญากรรมระดับไหนก็ต้องว่าไปตามเนื้อผ้า สำหรับการกระทำความรุนแรงตามได้นั้น ต้องมีปัจจัยเสี่ยง เพราะคนที่มีสามัญสำนึกเขาไม่ทำตาม และปัจจัยเสี่ยงจะรุนแรงมากขึ้นถ้าข่าวไปสร้างภาพให้เห็น ซึ่งคนพวกนี้ Self Esteem บกพร่อง หิว Self Esteem ถ้าสื่อข่าวออกไปลักษณะให้ความสำคัญมากหรือลงรายละเอียดแบบดรามาให้ดูน่าสนใจมาก ก็จะไปกระตุ้นให้คนเปราะบางอยู่แล้วสนใจและอยากทำตาม ต้องไม่เสนอข่าวให้เขารู้สึกว่าเด่น


กำลังโหลดความคิดเห็น