กรมสุขภาพจิต ยันชายไล่ฟันครู-นร. ป่วยจิตเวชจริง แต่ไม่ให้ความร่วมมือกินยารักษา สงสัยอาจเสพยาบ้า ส่งตัวรักษา รพ.ภูเขียวแล้ว ชงซูเปอร์บอร์ดสุขภาพดันยาฉีดเข้าสิทธิรักษา เคสไม่ร่วมมือกินยา
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นพ.พงศ์เกษม ไข่มุกด์ รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิต ให้สัมภาษณ์ถึงกรณีมีการเผยแพร่คลิปชายควงมีดไล่ฟันครูนักเรียนวิ่งหนีกันชุลมุนกว่า 100 ชีวิต คาดว่าชายคนดังกล่าวมีอาการทางจิตเวช ว่า จริงๆมีระบบการดูแลรักษาผู้ป่วยจิตเวชอยู่แล้ว โดยภายในจังหวัดมีการดำเนินการตามระบบรวมถึงการส่งต่อที่ดีอยู่แล้ว เพียงแต่เคสนี้ได้รับข้อมูลว่า ป่วยจิตเวชจริง แต่โดยหลักคนไข้จิตเวชทุกรายจะต้องได้รับยาอย่างสม่ำเสมอ ไม่ขาดยา หากได้รับยาอย่างต่อเนื่องจะคุมอาการและรักษาได้ ซึ่งตรงนี้จะมีญาติคอยดูแล และคนไข้เองเมื่อรับประทานยาแล้วรู้สึกว่าดีขึ้นก็จะทานต่อเนื่อง แต่มีบางเคสจริงๆ ที่ไม่ยอมกินยา ทำให้เกิดผลกระทบเป็นข่าวที่พบเห็นมาตลอด
“สำหรับเคสนี้ตามรายงานข่าวเบื้องต้น คือ ผู้ป่วยอาจไม่ให้ความร่วมมือในการกินยาอย่างต่อเนื่อง และ ยังไม่แน่ใจว่า มีพฤติกรรมสงสัยอาจมีการเสพยาบ้าหรือไม่ ซึ่งขณะนี้นำตัวส่งไปรักษาที่ รพ.ภูเขียวแล้ว และประสานข้อมูลร่วมกับรพ.คอนสาร ที่ดูแลผู้ป่วยรักษาจิตเวชรายนี้ด้วยเช่นกัน” นพ.พงศ์เกษมกล่าว
นพ.พงศ์เกษม กล่าวอีกว่า สำหรับคนไข้ที่ไม่กินยาอย่างต่อเนื่อง เรามีความพยายามในการใช้ยาที่เรียกว่า Long Acting เป็นยาฉีดคุณภาพสูงในบางราย ซึ่งต้องเป็นเคสจำเป็นจริงๆ แต่ที่ผ่านมาราคายังสูง และไม่เข้าอยู่ในชุดสิทธิประโยชน์ของสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ(สปสช.) ล่าสุดได้เสนอต่อคณะกรรมการพัฒนาระบบสุขภาพแห่งชาติ หรือซูเปอร์บอร์ดสุขภาพที่ท่านนายกรัฐมนตรีเป็นประธาน เพื่อให้ครอบคลุมทั้งหมด เนื่องจากทุกวันนี้เราพบปัญหาผู้ป่วยไม่กินยาต่อเนื่อง ทำให้อาการกำเริบ อย่างญาติบางรายก็น่าเห็นใจ เป็นผู้สูงอายุ ไม่สามารถควบคุมการกินยาของคนไข้ได้ ดังนั้น ยาฉีดคุณภาพสูงจะเป็นคำตอบที่กำลังมีการผลักดันเรื่องนี้และควรให้ผู้ป่วยทั้ง 3 สิทธิ ทั้งบัตรทอง ข้าราชการและประกันสังคม
“เรื่องพวกนี้น่าเห็นใจญาติบางคนที่ตั้งใจดูแลอย่างดี แต่คนไข้ไม่ยอมกินยาอย่างเดียว ยิ่งพ่อแม่สูงวัยยิ่งคุมลูกไม่ได้เลย เรื่องนี้ กรมสุขภาพจิต กำลังทำรายละเอียดข้อมูลเพื่อ จะนำเรียนท่านชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีรว่าการกระทรวงสาธารณสุข ในการผลักดันให้สปสช.ให้สิทธิดังกล่าว อย่างไรก็ตาม ไม่ใช่ว่าคนไข้ทุกคนจะฉีดยาคุณภาพสูง เรายังให้กินยาที่ดีเป็นหลัก ยกเว้นบางเคสจำเป็นจริงๆ ที่ไม่ร่วมมือในการทานยา ซึ่งยาฉีดจะคุมอาการได้ประมาณ 1 เดือนขึ้นไป แต่จะเสนอต้องมีแพทย์อนุมัติอย่างน้อย 2 คน ก็จะมีระบบสมดุลไม่ให้แพทย์ใช้ยาแพงเกินไป เรื่องนี้ต้องมีระบบตรวจสอบด้วย” รักษาราชการแทนอธิบดีกรมสุขภาพจิตกล่าว
เมื่อถามว่าปัจจุบันเราเจอปัญหาผู้ป่วยจิตเวชวิ่งไล่ทำร้ายคนเพิ่มขึ้น ประชาชนทั่วไปจะป้องกันตนเองหรือสังเกตอย่างไร นพ.พงศ์เกษม กล่าวว่า หากเป็นกลุ่มโรคจิตอยู่แล้วและขาดยา จะมีอาการนอนไม่หลับ มีลักษณะตาขวาง พฤติกรรมผิดปกติไปจากเดิม ไม่ดูแลตัวเอง มีอาการหูแว่ว พูดคนเดียว หากสังเกตเห็นต้องหลีกเลี่ยง และหากเริ่มรู้สึกจะเริ่มใช้ความรุนแรงให้เลี่ยงเผชิญหน้าและแจ้งเจ้าหน้าที่ตำรวจได้ตามมาตรา 22 ของ พ.ร.บ.สุขภาพจิต พ.ศ.2551 และที่แก้ไขเพิ่มเติม(ฉบับที่2) พ.ศ.2562 ซึ่งมีข้อวงเล็บ 1 และ 2 โดย (1) มีภาวะอันตราย ทำให้เกิดความเดือดร้อนต่อสังคมได้ ตั้งแต่เล็กน้อยจนถึงรุนแรง และ(2) มีความจำเป็นต้องได้รับการบำบัดรักษา เพื่อคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของผู้ป่วยเอง