สปสช. ชวน รพ.-คลินิก-ร้านยา 4 จังหวัดนำร่องบัตร ปชช.รักษาทุกที่ ขึ้นทะเบียนบัตรทอง หลังพบยังเข้าร่วมน้อย แพร่-เพชรบุรี มีคลินิกร่วมจังหวัดละ 1 แห่ง นราธิวาส 2 แห่ง ร้อยเอ็ดยังไม่มีเข้าร่วม ร้านยาเข้าร่วมจังหวัดละ 20-50 แห่ง แจงปรับระบบอำนวยความสะดวกแล้วทั้งขึ้นทะเบียน เบิกจ่ายเงินรองรับ
เมื่อวันที่ 22 พ.ย. นพ.จเด็จ ธรรมธัชอารี เลขาธิการสำนักงานหลักประกันสุขภาพแห่งชาติ (สปสช.) กล่าวถึงกรณีใช้บัตรประชาชนใบเดียวรักษาทุกที่ นำร่อง 4 จังหวัด คือ แพร่ เพชรบุรี ร้อยเอ็ด และนราธิวาส เข้าได้สถานพยาบาลทุกเครือข่ายทั้งภาครัฐและเอกชน ในวันที่ 8 ม.ค. 2567 ว่า สปสช. ในฐานะหน่วยงานกำกับดูแลสิทธิบัตรทอง ขอเชิญชวนสถานพยาบาลเอกชนประเภทต่างๆ ทั้ง รพ.เอกชน คลินิกเวชกรรม คลินิกการพยาบาล คลินิกทันตกรรม คลินิกกายภาพบำบัด คลินิกเทคนิคการแพทย์ คลินิกแพทย์แผนไทยและร้านยา ในพื้นที่ 4 จังหวัด เข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทองเพื่อดูแลประชาชนไปด้วยกัน มีหน่วยบริการครอบคลุมทุกพื้นที่ จะทำให้ประชาชนสามารถเข้ารับบริการใกล้บ้านได้อย่างสะดวก
นพ.จเด็จ กล่าวว่า สปสช. ยังได้ปรับปรุงระบบ back office อื่นๆ เช่น ระบบการรับสมัครและขึ้นทะเบียนหน่วยบริการในระบบบัตรทอง ปรับให้เป็นแบบ One Stop Service ลดความยุ่งยากเรื่องเอกสาร ลดระยะเวลาในการตรวจประเมินและประกาศขึ้นทะเบียนหน่วยบริการ สร้างความสะดวกรวดเร็วแก่สถานพยาบาลและร้านยาที่มาสมัครขึ้นทะเบียนมากขึ้น โดยหน่วยบริการสามารถสมัครได้ที่ https://ossregister.nhso.go.th สมัครได้แล้วตั้งแต่วันนี้เป็นต้นไป สอบถามเพิ่มเติม สายด่วน สปสช. 1330 กด 5 (provider center)
สำหรับขั้นตอนแบบ One Stop Service จะอยู่ในรูปแบบอิเล็กทรอนิกส์ทั้งหมด จากเดิมที่หน่วยบริการต้องสแกนเอกสาร ทั้งแบบฟอร์มสมัคร ใบรับรองจากกรมพัฒนาการค้า ใบอนุญาตประกอบสถานพยาบาล ใบอนุญาตดำเนินการสถานพยาบาล ใบประกอบวิชาชีพ ก็เปลี่ยนเป็นการแจ้งความประสงค์ผ่านระบบ ThaID แล้ว สปสช. จะเชื่อมโยงข้อมูลไปยังหน่วยงานรับรองโดยตรง หรือการตรวจเอกสารที่ทำโดยเจ้าหน้าที่ก็จะเปลี่ยนเป็นการตรวจโดยโปรแกรม ทำให้ระยะเวลาการสมัครจนถึงขั้นประกาศขึ้นทะเบียนลดลงจาก 30 วัน เป็นไม่เกิน 3 วัน
ขั้นต่อไป สปสช. ยังจะพัฒนาระบบนิติกรรมสัญญา โดยเชื่อมโยงกับธนาคารเพื่อตรวจสอบความถูกต้องบัญชี และหลักประกันสัญญา และมีการจัดทำและลงนามสัญญาในระบบ การพัฒนาระบบฐานข้อมูลการขึ้นทะเบียน โดยปรับปรุงระบบฐานข้อมูลหน่วยบริการในระบบหลักประกันสุขภาพแบบอัตโนมัติ และการพัฒนาระบบข้อมูลพื้นฐานหน่วยบริการให้รองรับการนําไปใช้เพื่อการบริหารจัดการกองทุน รวมทั้งเปิดให้หน่วยบริการตรวจสอบและปรับปรุงข้อมูลของตนเองและ export ไปใช้งานได้อีกด้วย
“ในฝั่งการให้บริการ กระทรวงสาธารณสุข (สธ.) กำลังพัฒนาระบบเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลให้ประชาชนสามารถไปรับบริการได้ทุกที่ ในฝั่งของการสนับสนุน สปสช. พยายามอำนวยความสะดวกหน่วยบริการมากที่สุด ทั้งระบบการขึ้นทะเบียนที่สะดวกรวดเร็ว อนาคตก็จะยังพัฒนาระบบ new-eClaim อำนวยความสะดวกในการเบิกเงิน ลดเวลาการจ่ายเงินให้สั้นที่สุดเพื่อให้หน่วยบริการมีกระแสเงินสดหมุนเวียนอย่างต่อเนื่อง จึงขอเชิญชวนหน่วยบริการต่างๆในพื้นที่ 4 จังหวัดนำร่องเข้ามาร่วมเป็นหน่วยบริการในระบบบัตรทอง”นพ.จเด็จ กล่าว
ทั้งนี้ ใน 4 จังหวัดนำร่อง นอกจากหน่วยบริการในสังกัด สธ.แล้ว ยังมีหน่วยบริการอื่นๆ ที่ไม่ได้เข้าร่วมให้บริการสิทธิบัตรทองอีกจำนวนมาก อาทิ จ.แพร่ มีคลินิกเวชกรรม 100 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 1 แห่ง ร้านยา 114 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 21 แห่ง จ.เพชรบุรี มีคลินิกเวชกรรม 101 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 1 แห่ง ร้านยา 103 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 22 แห่ง จ.ร้อยเอ็ด มีคลินิกเวชกรรม 204 แห่ง แต่ไม่มีคลินิกใดสมัครขึ้นทะเบียนกับ สปสช. เลย ส่วนร้านยามี 182 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 50 แห่ง และ จ.นราธิวาส มีคลินิกเวชกรรม 74 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 2 แห่ง ร้านยา 91 แห่ง ขึ้นทะเบียนกับ สปสช. 24 แห่ง